แนะนำ TinkerCAD โปรแกรมออกแบบ 3D ที่เหมาะกับมือใหม่ เพราะใช้ง่าย แถมใช้ฟรี

ทักษะการเขียนโมเดล 3 มิติ หรือ 3D นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการมาของ ?Metaverse หรือ เทคโนโลยี 3D Printing ที่เริ่มขยับเข้าใกล้ตัวเรา ซึ่งคงไม่มีวันที่จะหนีมันพ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเราก็ควรที่จะต้องเริ่มปรับตัว และเริ่มเรียนรู้สิ่งเหล่านี้
หลายคนอยากเริ่มต้นเขียนโมเดล 3D แต่หนึ่งในกำแพงที่กั้นเราไว้ก็คือโปรแกรมที่ดูเหมือนใช้งานยาก เปิดโปรแกรมมา มีเครื่องมือให้เลือกใช้เต็มไปหมด เลือกใช้ไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี วันนี้ผมจีงอยากแนะนำโปรแกรมหนึ่งที่ทั้งฟรี และใช้งานง่าย ซึ่งเหมาะมากกับผู้เริ่มต้น รวมไปถึงเด็กๆก็สามารถใช้ได้ นั่นก็คือ “TinkerCAD” นั่นเอง!

ทำไมต้อง TinkerCad ?
มีโปรแกรมที่ใช้เขียนโมเดล 3 มิติเป็นร้อยๆโปรแกรมในตลาด แต่ไม่มีโปรแกรมไหนดีที่สุด แต่ละโปรแกรมต่างมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของงานนั้นๆ อย่างเช่น ถ้าคุณต้องการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ โปแกรมที่เหมาะสมอาจจะเป็น fusion360, Solidwork, Rhino แต่ถ้าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมจำพวกตึกรามบ้านช่อง โปรแกรมที่เหมาะก็คือ Autocad Revit หรือ Sketchup แต่ถ้าต้องการออกแบบคาแรกเตอร์การ์ตูน, โมเดลสัตว์ประหลาด หรือตัวละคร อาจจะต้องใช้เป็นโปรแกรมจำพวก Zbrush, Blender หรือ Maya
ซึ่งแต่ละโปรแกรมที่กล่าวไป ก็จะมีหลักการในการขึ้นรูปโมเดล 3D ที่แตกต่างกัน อย่างโปรแกรมพวกแนววิศวกรรม ออกแบบข้าวของ เครื่องมือ เครื่องจักร ก็จะใช้การขึ้นรูปแบบสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม มาใส่ แล้วบอกขนาดตัวเลขลงไป ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นโปรแกรมที่ออกแบบพวกงานตัวละคร หรืองานศิลปะ โมเดลจำพวกนี้ จะไม่ได้เน้นการวัด หรือต้องการขนาดที่แม่นยำเท่าไหร่นัก แต่จะเน้นเรื่องของอารมณ์ ความพริ้ว ความเหมือนจริง ซึ่งการขึ้นโมเดลแบบนี้ ก็จะใช้กับกด การดึง การเค้น คล้ายๆกับการปั้นดินน้ำมัน

แต่สิ่งหนึ่งที่แต่ละโปรแกรมเขียนโมเดล 3 มิติ มีเหมือนๆกันคือจัดหนักจัดเต็มฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ซึ่งจะมีเมนูให้เลือกใช้งานเยอะแยะเต็มไปหมด เหมือนจับคนเพิ่งหัดขับรถไปขับเครื่องบินที่มีปุ่มคำสั่งเต็มแผงควบคุม อาจทำให้มือใหม่กลัว คิดว่ามันต้องยากแน่ๆ
ด้วยเหตุนี้ มือใหม่จึงควรจะเริ่มต้นจากโปรแกรมอะไรที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำแปปเดียวออกมาเป็นชิ้นงานที่เราต้องการได้ ซึ่ง TinkerCAD ก็เป็นโปรแกรมสำหรับเริ่มต้นที่ดีตัวหนึ่งเลย จุดเด่นๆหลักๆที่ผมชอบก็คือ
เป็นมิตรต่อมือใหม่ หรือผู้เริ่มต้น

TinkerCAD เป็นโปรแกรมในเครือ Autodesk ที่มีผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ออกแบบงาน 3D หลากหลายโปรแกรมเพื่อตอบโจทย์งานแต่ละประเภท ซึ่ง TinkerCAD เป็นโปรแกรมที่เจาะกลุ่มโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ เค้าจึงออกแบบมาให้ใช้งานง่ายที่สุด คอนเซ็ปต์การขึ้น 3D ง่ายๆ แค่ดึงก้อน A รวมก้อน B ตัดออกด้วยก้อน C ต่อๆกันไปเรื่อยๆจนออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือ คาร์แรกเตอร์ง่ายๆก็ได้ (เดี๋ยวผมจะสาธิตการใช้งานโปรแกรมคร่าวๆให้ดูในหัวข้อถัดไป)
TinkerCAD คือโปรแกรมใช้ฟรี

อีกอันที่ชอบมากก็คือ เป็นโปรแกรม ฟรี แค่เพียงลงทะเบียนหรือกด sign in ด้วยบัญชี Google, Apple, Microsoft หรือ Facebook คุณก็จะได้ Account ที่สามารถเข้าไปใช้งานเขียนโปรแกรม 3D ได้ฟรีๆ และที่สำคัญ คุณไม่ต้อง Download ซอฟต์แวร์มาติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณก็สามารถเขียนโมเดลบน Web Browser จำพวก Chrome, Safari หรือ Microsoft Edge ได้เลยทันที และไฟล์ก็ถูกเซฟโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกลัวหาย ซึ่งข้อดีของการเขียนบน Web ก็คือ คุณสามารถใช้ Tablet หรือ iPad ในการเขียนก็ได้
สังคมแห่งการแบ่งปัน

TinkerCAD มีในส่วนของหน้า Gallery of Things ซึ่งเป็นแหล่งรวมโมเดล 3D ที่ออกแบบด้วยโปรแกรม TinkerCAD ซึ่งผู้ออกแบบสามารถที่จะแบ่งบัน แชร์ผลงาน 3D ให้คนอื่น สามารถเข้าไปศึกษา ย้อนดูวิธีการเขียนได้ นอกจากนี้เรายังสามารถดึงไฟล์มาปรับแบบ โมดิฟาย คัสตอมให้เป็นงานแบบฉบับของเราเองก็ได้ รวมไปถึงไฟล์ที่ได้นั้น สามารถเอาไปพิมพ์กับเครื่องปริ้น 3D Printer ได้อย่างไม่มีปัญหา
มีฟีเจอร์มากกว่าแค่เขียนโมเดล 3 มิติ

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า TinkerCAD เป็นโปรแกรมสำหรับใช้ในโรงเรียนหรือใช้สอนเด็กๆ รวมไปถึงเหล่านักประดิษฐ์เอาไว้สำหรับสร้างสิ่งของ นอกจากในส่วนของ 3D Design ที่ใช้สำหรับขึ้น 3D แล้ว ยังมีส่วนของ Code Blocks สำหรับเรียนรู้เรื่องขึ้น 3D ผ่านการเขียนโค้ดอีกด้วย ซึ่งเอาไว้ใช้ฝึกตรรกะ วางแผนเขียนแบบ 3D อย่างเป็นระบบ รวมไปถึง Circuits สำหรับเรียนรู้เรื่องการต่อวงจรไฟฟ้าเบื้องต้น ถ้าเรามีโปรเจคทำอุปกรณ์ง่ายๆ เราก็สามารถจบได้ในโปรแกรม TinkerCAD ได้ตัวเดียวเลย

สอนเขียนโมเดลด้วยโปรแกรม TinkerCAD
หลังจากที่ได้รู้จักตัว TinkerCAD ไปกันแล้ว เรามาลองเขียนโมเดล 3 มิติเล่นๆกันหน่อย ซึ่งโมเดลที่จะเขียน จะเป็นที่รองแก้วน้ำบนโต๊ะ โดยที่จะใส่ Logo ของร้าน สยาม เรปแรป ลงไปด้วย ซึ่งเพื่อนๆ อาจจะไปประยุกต์เอาชื่อตัวเอง ไปใส่ก็ได้
1. เริ่มต้นผมร่างแบบคร่าวๆก่อนว่าอยากได้งานประมาณไหน เพื่อที่จะได้ขึ้นโมเดล 3D อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งขั้นตอนอาจจะวาดลงในกระดาษก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่า เราควรจะเริ่มเขียนงานส่วนไหนก่อน

2. หลังจากที่สมัครเรียบร้อยแล้ว ที่หน้าแรก เข้าไปที่เมนู “3D Design” แล้วกด “Create new design” จะมาโผล่ไปหน้าเขียนแบบ3D หน้านี้เป็นเหมือนโต้ะที่ให้เราสามารถสร้างโมเดลบนนั้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆในแถบด้านขวามือ


3. โจทย์ของผมคือต้องการภาชนะรองแก้วทรง 6เหลี่ยม ผมก็เลือกรูปทรงตั้งต้นเป็น 6 เหลี่ยม แล้วกดลงวางลงบนพื้นที่ทำงานตรงกลาง

4. จากนั้นปรับขนาดความกว้างความสูงตามแบบ จนได้แผ่นรูป 6เหลี่ยมแบนๆ จากนั้นผมต้องการให้ถาดเป็นหลุมลึกลงไปนิดหน่อย ผมจึงเพิ่ม 6 เหลี่ยมไปอีกก้อน แล้วเอาไปซ้อนกับก้อนแรก โดยให้ก้อนที่ซ้อน มีขนาดเล็กกว่าก้อนแรก เล็กน้อย ทั้งด้านกว้าง ด้านยาว และด้านสูง เพื่อทำเป็นขอบ ซึ่งรูปหกเหลี่ยมก้อนนี้ผมต้องการเอาไป “ลบ” หรือ “ขุด” ออกจากก้อนเดิม ผมจึงเลือกก้อนนี้เป็นแบบ “Hole”

5.จากนั้นกดที่ “Group” เพื่อรวมทั้ง 2 ก้อนเข้าด้วยกัน ซึ่งการเลือกส่วนที่เป็น Hole จะเป็นการเอาเนื้อส่วนที่เป็น Solid ออกไปนั่นเอง ทำให้เกิดเป็นหลุมขี้นมา เพราะโมเดลที่ซ้อนมีขนาดเล็กกว่า ทำให้เหลือแต่ขอบกับกับด้านล่าง

6.เมื่อได้ถาดทรง 6 เหลี่ยมแล้ว ผมต้องการโลโก้ สยาม เรปแรป ให้อยู่ตรงกลาง ผมจึงเพิ่มก้อน 6 เหลี่ยมขึ้นมาอีกก้อนเป็น solid แล้วเพิ่มก้อน 4 เหลี่ยม แล้วเลือกเป็น Hole ปรับขนาดตามแบบของโลโก้ จากนั้นกด Shift ค้าง แล้วเลือกทั้ง 3 ก้อน กด group เพื่อตัดเนื้อออกไปกลายเป็นรูปโลโก้ส่วนแรก ตามรูป



7. จากนั้นผม Copy โดยใช้ Short Cut ที่ใช้กันประจำ ก็คือ Ctrl + C และ Ctrl + V ขึ้นมาอีก 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็น solid อีกชิ้นเป็น hole แล้ว group ออกมาเป็นโลโก้ส่วนตรงกลาง


8. สำหรับขีดด้านล่างของโลโก้ส่วนที่เหลือก็แค่ Copy แล้วขยับส่วนตรงกลางเอาวางไว้ก็เป็นอันเรียบร้อย จากนั้น กด group ส่วนของถาดและโลโก้ที่เป็น solid ทั้งคู่ รวมกันเป็นก้อนเดียว ออกมาเป็นที่รองแก้วน้ำโลโก้ สยามเรปแรปตามแบบ

9. แถมอีกนึง ผมต้องการสลักตัวหนังสือใต้แผ่นรองแก้ว ผมก็จับหมุน 180องศา คว่ำหน้าลง จากนั้นกดที่เครื่องมือ TEXT แล้ววางลงบนแผ่นรองแก้ว ปรับแก้ text เป็น www.siamreprap.com แล้วเลือกเป็น Hole เพื่อเอาไปขุดเป็นร่องตัวหนังสือ แล้วจึงกด group เป็นอันเสร็จสิ้น



10. ทีนี้ผมต้องการเอาโมเดลที่เขียนขึ้นมาไปพิมพ์กับเครื่องปริ้น 3 มิติ ก็กดไปที่ Export แล้วเลือกเป็นไฟล์ .STL เพื่อเอาไปสั่งปริ้นในขั้นตอนถัดไป



นี่เป็นแค่ตัวอย่างง่ายๆเท่านั้น จริงๆแล้วโปรแกรม TinkerCAD ยังสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะ ผมอยากให้เพื่อนๆ ลองเข้าไปดูได้ใน Gallery ซึ่งมีงานดีไซน์สวยๆ อีกเพียบ https://www.tinkercad.com/things
อ่านแล้ว อยากเรียนแบบลงลึก เรียนที่ไหนดี
สำหรับใครที่ลองทำตามแล้ว รู้สึกชอบ อยากศึกษาให้มากกว่านี้ ก็แนะนำให้เริ่มจากเว็บของ TinkerCAD ก่อนเลย ไม่ต้องไปที่ไหนไกลเลย อย่างที่เรารู้กันว่า TinkerCAD เค้าออกแบบมาสำหรับมือใหม่ ดังนั้นเว็บเค้าจึงจัดเต็มเนื้อหารวมถึงคอร์สสอน ซึ่งเรียบเรียงเป็นหลักสูตรอย่างดี เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มนับตั้งแต่ศูนย์เลย สามารถทำตามแบบเป็นขั้นตอน step-by-step ตามได้เลย

หลักสูตรของเค้าจัดเป็นหมวดๆ เริ่มจาก Starter ที่เป็นหน้าแนะนำการใช้งานเครื่องมือต่างๆ การเพิ่มโมเดล ความคุมมุมมอง เคลื่อนย้ายวัตถุ หมุน จัดเรียง คัดลอก ฯลฯ พอเริ่มทำอะไรเป็นแล้ว ก็จะมีหมวด Lesson เป็นแบบฝึกหัดให้ทำจริง โดยมีคู่มืออธิบายประกบตลอดทาง และหมวดสุดท้ายคือ Project ซึ่งเป็นเหมือน workshop เล็กๆ ให้ทำ เป็นสนามจริง มีโจทย์ให้ ถ้าทำได้ก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าโมเดลไหนเราก็สามารถคิดและสร้างได้

หลายๆคนอาจะไม่ชอบอ่าน แต่ชอบดู ผมก็จะแนะนำวิดีโอที่สอนโปรแกรม TinkerCAD บน Youtube ซึ่งมีทั้งสอนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อย่างวิดีโอของ ช่างแบ้งค์ ช่อง Bang DIY ก็เป็นคลิปอธิบายการขึ้นโมเดลง่ายๆ อธิบายได้เข้าใจง่ายและกระชับดี ถ้าเป็นช่องต่างประเทศ มีของ ช่อง bai สอนรวดเดียวจบ ตั้งแต่เริ่มสมัครใช้งานกันเลย
สรุป ของดีของฟรี ยังมีอยู่ในโลก
หลายๆคน อยากที่จะใช้เครื่องปริ้น 3 มิติ แต่ติดปัญหาในเรื่องของการเขียนไฟล์ ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน และไม่อยากที่จะเสียเงินซื้อโปรแกรมเขียนแบบ เพราะยังไม่แน่ใจ ว่าจะใช้ไปตลอดหรือเปล่า ซึ่งโปรแกรม TinkerCAD นั้นสามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ ซึ่งผมก็เป็นคนนึง ที่ใช้โปรแกรม TinkerCAD มาก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจ จริงจังเกี่ยวกับการออกแบบโมเดล 3 มิติ ผมเชื่อว่า ถ้าได้ลองใช้โปรแกรม TinkerCAD มาแล้ว คุณก็จะสามารถไปใช้โปรแกรมออกแบบอื่นๆได้ อย่างง่าย เพราะหลักการในการออกแบบ ก็จะคล้ายๆกัน แต่อาจจะแตกต่างในเรื่องของฟีเจอร์ และลูกเล่นในการทำงาน
ผมอยากให้คนไทยได้ลองมาศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบโมเดล 3 มิติให้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่า มันจะเป็นทักษะ ที่จำเป็นอีกอย่างที่ควรมีติดตัวไว้ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ โลกความจริงกับโลกเสมือน ก็จะเริ่มที่จะเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งของที่อยู่ในโลกเสมือน ก็ใช้โปรแกรมออกแบบโมเดล 3 มิติ เขียนและจำลองขึ้นมาทั้งนั้น ถ้าคุณได้เรียนรู้ ผมเชื่อว่า มันต้องมีประโยขน์กับคุณอย่างแน่นอนและ ผมหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นแนวทางให้กับใครหลายๆคนที่สนใจอยากเรียนรู้การเขียนโมเดล3D กันนะครับ ส่วนใครที่ได้ลองเขียนโมเดล แล้วอยากจะมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติไว้ครอบครอง ก็ลองไปอ่านบทความนี้กันต่อได้เลย หลักการเลือกซื้อเครื่องปริ้น 3 มิติ