3 เทคนิคแยกประเภทพลาสติก สำหรับเครื่องปริ้น 3 มิติ
เคยเป็นไหม พิมพ์ชิ้นงานทิ้งไว้นานๆ แต่พอจะเอามาใช้ดันลืมว่าที่ปริ้นไปเป็นวัสดุอะไร จะดันทุรังใช้ก็กลัวว่าจะใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ของงานและส่งผลเสียในระยะยาว วันนี้ผมมีเทคนิคเช็คประเภทพลาสติกเล็กๆน้อยๆมาแชร์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กัน ซึ่งการเช็คจะมีด้วยกัน 3 แบบได้แก่
กายภาพ
สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีเช็คที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือ ดูลักษณะทางกายภาพของแต่ละวัสดุโดยตรงเลย อาจจะแบ่งตัดบางส่วนเอามาทดสอบก็ได้

- พลาสติก PLA แข็งเปราะ ดูน้ำหนักเบา เอาเล็บขูดชิ้นงานจะรู้สึกโปร่งๆด้านใน เวลาเผาเขม่าจะสีน้ำตาล ไม่ค่อยติดไฟ
- พลาสติก ABS แข็งเหนียว เนื้อแน่น ชัดกระดาษทรายง่าย ไฟแชครนเป็นเขม่าไหม้สีดำ ติดไฟได้ ดัดงอชิ้นงานจะมีรอยขึ้นฝ้าขาวๆตรงจุดดัดงอ
- พลาสติก PETG เป็นวัสดุผิวมันวาว เยิ้มง่าย เวลาพิมพ์ชิ้นงานมักจะมีขนเยอะกว่าวัสดุชนิดอื่น (ขึ้นอยู่กับเครื่องพิมพ์และยี่ห้อเส้นพลาสติกด้วย)
- พลาสติก Nylon และ PP ผิวจะลื่นๆ ขัดกระดาษไม่ค่อยเข้า ขูดไม่ค่อยเป็นรอย พับหรือดัดงอได้ง่ายกว่าวัดสุอื่นๆ แต่ไม่นิ่มเหมือน TPU
- พลาสติก PC แข็งโป๊ก ยอมหัก ไม่ยอมงอ ผิวมันวาว
การเช็คด้วยวิธีทางกายภาพอาจจะไม่ค่อยแม่นยำนัก เพราะเส้นพลาสติกบางยี่ห้ออาจใส่สารเคมีบางอย่างให้กับพลาสติกทำให้ลักษณะเฉพาะของวัสดุนั้นๆเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นต้องทดสอบด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อช่วยให้ได้ผลแม่นยำมากขึ้น
กลิ่น
ปกติเราจะได้กลิ่นของพลาสติกตอนเครื่องกำลังพิมพ์ เราสามารถใช้จุดนี้แหละในการแยกวัสดุ โดยปกติผมจะใช้หัวแร้ง(solder) ร้อนๆ จี้ๆเกลี่ยๆชิ้นงานให้ละลายเล็กน้อย ให้พอมีกลิ่นโชย หรือถ้าใครไม่มีหัวแร้งสามารถเปิดหัวฉีดให้ร้อน แล้วใช้ตัวอย่างวัสดุจี้ดูก็ได้ครับ ซึ่งการทดสอบนี้ไม่แนะนำให้ใช้ไฟแช็คเผาไปโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดเขม่า และชิ้นงานที่จะใช้ อาจเสียหายได้ แถมเป็นมลพิษทางอากาศอีกด้วย
- พลาสติก PLA จะมีกลิ่นเหมือนน้ำตาลไหม้
- พลาสติก ABS จะมีกลิ่นเหม็นสารเคมี คล้ายๆพลาสติกเผาไฟ
- พลาสติก PC จะกลิ่นเหมือนสารเคมี ออกฉุนๆ อาจจามได้ บางยี่ห้อออกกลิ่นดอกไม้ๆ
- พลาสติก PETG ปกติวัสดุนี้ไม่ค่อยจะมีกลิ่น แต่บางยี่ห้อกลิ่นจะคล้ายๆกล่องอุปกรณ์ gadget เปิดใหม่
- พลาสติก PP จะมีกลิ่นคล้ายๆเทียนไหม้ และค่อนข้างฉุน
- พลาสติก Nylon(PA) จะมีกลิ่นเหมือนขนไหม้
วิธีนี้ค่อนข้างเปลืองตัวและอันตรายนิดนึง ถ้าเป็นวัสดุที่มีสารระเหยอันตราย ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ อย่างเช่นวัสดุ ABS ที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ ก็จะต้องระมัดระวังตัวด้วย
ปฏิกิริยาเคมี
พลาสติกแต่ละชนิดจะทำปฏิกิริยากับสารละลายที่ต่างกัน เราจึงสามารถใช้คัดกรองชนิดของวัสดุได้ สามารถทดสอบโดยใช้วิธีป้ายสารละลาย ถ้าวัสดุนั้นละลายแปลว่าเกิดปฏิกิริยาขึ้น วัสดุแต่ละชนิดทำปฏิกิริยากับสารดังนี้
- PLA – น้ำยาเชื่อมอะคลิลิค
- ABS – ละลายกับ acetone และ น้ำยาเชื่อมอะคลิลิค
- Nylon(PA) – ละลายในสารละลาย formic acid (พบในพวกน้ำส้มควันไม้)
- HIPS – ละลายในน้ำยา D-Limonene
- PC – ละลายในน้ำยาเชื่อมอะคลิลิค
จริงๆแล้วมีสารละลายอีกเยอะที่ใช้ทดสอบได้ แต่ผมจะยกตัวอย่างเฉพาะที่พอหาสารละลายได้ไม่ยากนัก หรือ หาซื้อตามอินเตอร์เน็ตทั่วไปได้ วัสดุที่ทนต่อสารเคมีอย่าง PETG หรือ PP อาจจะไม่เหมาะกับการทดสอบด้วยวิธีนี้นัก
เทคนิคเล็กๆน้อยๆ

ถ้าหากคุณต้องพิมพ์งานทิ้งไว้แล้วยังไม่ได้ใช้งานทันที ลองหาปากกามาร์กเกอร์เขียนติดลงไปบนชิ้นงานดู จะได้ไม่ต้องมาทดสอบทีหลัง ปกติผมเขียนลงบนผิวใต้ชิ้นงานเพราะว่าผิวเรียบ หมึกไม่ซึมเข้าร่อง แต่ผิวที่เขียนต้องล้างคราบกาวบนฐานพิมพ์ออกก่อนนะครับ จะได้ไม่หลุดออกพร้อมกาวทีหลัง ปกติผมจะเขียน ชนิดวัสดุ วันที่พิมพ์ infill หรือข้อมูลที่มีประโยชน์ เท่าที่จะมีพื้นที่ให้เขียน ส่วนมาร์คเกอร์ควรเลือกเป็นแบบ permanent เกรด industrial เพราะหมึกเกาะทนทุกวัสดุมากกว่าเกรดธรรมดาครับ สีควรจะมีซัก2สีที่ต่างกัน เพื่อเลี่ยงวัสดุสีซ้ำกับหมึก