7 Tools to help model to stick on the 3D printer build plate

7 ตัวช่วยที่จะทำให้งานปริ้นไม่หลุดจากฐาน

ใครที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติมาประมาณหนึ่งน่าจะเคยประสบปัญหาชิ้นงานหดตัว เด้ง แอ่นหรือหลุดออกจากฐานพิมพ์มาบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ชวนปวดหัวทุกที เพราะต้องมานั่งพิมพ์งานนั้นใหม่ ซึ่งเสียทั้งแรง เสียทั้งเวลาและที่สำคัญคือเสียเงินค่าพลาสติกที่พิมพ์ไป

พิมพ์เสร็จแต่งานเสีย เพราะมีบางส่วนหลุดจากฐาน ทำให้ชิ้นงานมาไม่ครบ

ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติของพลาสติกที่ใช้ปริ้น ความร้อนของฐานพิมพ์ การตั้งค่าการพิมพ์ ลักษณะโครงสร้างของเครื่องปริ้น 3 มิติ ซึ่งหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาชิ้นงานหลุด ก็คือฐานพิมพ์

ต้องบอกไว้ก่อนว่าเส้นพลาสติกที่ใช้พิมพ์นั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร้อน การหดและการขยายตัว ซึ่งเหล่านี้ เป็นผลทำให้ชิ้นงานสามารถหลุดออกจากฐานปริ้นได้ ซึ่งบทความนี้จะมาเล่าถึงอุปกรณ์ที่จะช่วยให้งานพิมพ์ติดที่ฐาน ไม่หลุดระหว่างพิมพ์ รวมไปถึงการเลือกใช้ตัวช่วยอื่นๆ

ชิ้นงานแอ่นและยกตัวออกจากฐานปริ้น เกิดขึ้นมากกับพลาสติก ABS

สเปรย์ฉีดผม Caring

สเปรย์ฉีดผม Caring สามารถนำมาใช้พ่นบนฐาน เพื่อเป็นกาวให้งานยึดติดได้

สำหรับตัวช่วยแรก ที่อยากแนะนำก็คือ สเปรย์จัดแต่งทรงผม ยี่ห้อ Caring น้ำสีฟ้า ซึ่งสเปรย์ตัวนี้ เปรียบเสมือนกาว ที่เอาไว้เคลือบบนฐาน โดยเฉพาะคนที่ใช้ฐานพิมพ์แบบกระจก ข้อดีของสเปรย์ตัวนี้ ก็คือ สามารถใช้ร่วมกันกับพลาสติกจำพวก PLA / ABS และ PETG ได้ สำหรับการวิธีการใช้สเปรย์ก็คือ ให้เขย่าขวด เสร็จแล้วให้พ่นน้ำยาลงบนฐานพิมพ์ ซึ่งเวลาพ่น แนะนำให้พ่นห่างๆ ประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อให้ละอองของน้ำยา ได้กระจายไปทั่วฐานพิมพ์ เวลาพ่นให้พ่นตอนฐานปริ้นยังเย็นอยู่ ไม่ควรพ่นตอนร้อน เพราะไอน้ำยาจะระเหยออกไปอย่างรวดเร็ว ข้อเสียที่สำคัญของการใช้สเปรย์ฉีดผมก็คือ กลิ่น ที่แรง และอาจทำให้มึนหัวได้

ข้อควรระวัง ไม่ควนพ่นน้ำยาลงบนฐานที่ติดกับเครื่อง ถ้าเป็นไปได้ ให้เอาฐานพิมพ์ออกมาจากตัวเครื่องก่อนแล้วค่อยพ่น เพราะถ้าพ่นลงบนฐาน ทั้งๆทียังติดกับเครื่องอยู่ จะทำให้ละอองของน้ำยาไปเกาะตามชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องและทำให้ฝุ่นมาเกาะ ทำให้ทำความสะอาดยากขึ้น

กาว UHU แบบแท่ง

ทากาว UHU ลงบนฐานปริ้นงาน

ในส่วนของกาว UHU นั้นแนะนำให้ใช้กับเส้นพลาสติกจำพวก PLA / PETG และ ไนลอน ซึ่งยี่ห้อของกาวมีผลต่อชิ้นงานที่ติดกับฐาน ส่วนตัวแล้วทางร้านแนะนำกาวยี่ห้อ Scotch หลอดสีเขียว ในส่วนของการใช้งานนั้น ถ้าเครื่องมีฐานปริ้นที่ทำความร้อนได้ ก็ให้ปิดความร้อนก่อนทา และควรทาที่อุณหภูมิห้อง เวลาทา ให้ทาไปทางเดียว ไม่ควรที่จะถูไปมาซ้ำที่เดิม เพราะอาจทำให้เนื้อกาวเลอะออกมามาก

สำหรับฐานปริ้นที่ใช้กับกาวนั้น สามารถใช้ได้หมด ไม่ว่าฐานปริ้นจะเป็นกระจกหรืออลูมิเนียม ในส่วนของการทำความสะอาดนั้น ก็ไม่มีอะไรมาก ก็แค่เอาฐานปริ้นไปล้างด้วยน้ำเปล่า หรือถ้าจะให้เร็วก็เอาน้ำอุ่นล้าง และถ้าให้ดี ตอนล้างให้เอาบัตรแข็งหรือเกรียงขูดลงบนฐานปริ้น เพื่อขูดเอาคราบกาวออก

เทปสีฟ้า Blue Tape

ตัวอย่างการติด Blue Tape ลงบนฐานปริ้น

สำหรับตัวช่วยอีกตัว ที่นิยมใช้มาก ก่อนที่จะมีการใช้สเปรย์ฉีดผม นั่นก็คือ การติด Blue Tape ลงบนฐานปริ้น ซึ่งจะเหมาะสำหรับการปริ้นเส้นพลาสติก PLA ลงบนฐานที่ไม่มีความร้อน โดยปตติตัว Blue Tape จะเป็นเทปสำหรับติดเพื่อป้องกันส่วนสำคัญในกระบวนการพ่นสี เพื่อไม่ให้โดนสีที่พ่น ของดีของ Blue Tape คือจะไม่ทิ้งคราบกาว หลังจากลอกออกมา

การใช้ Blue Tape ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ส่วนใหญ่จะหาเทปที่มีหน้ากว้างที่สุด ติดลงบนฐานและติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนเต็มฐาน ซึ่งเวลาพิมพ์ ตัวเนื้อพลาสติกจะติดลงบนเทป และไม่หลุดระหว่างพิมพ์งาน ซึ่งการใช้งาน Blue Tape จะต้องติดให้ดี ไม่ให้มีฟอง ส่วนข้อเสียที่เด่นๆ ของการใช้ Blue Tape คือ เปลืองและแพง เพราะบางครั้ง ตัวงานติดแน่นเกินไป จนแกะไม่ได้ ถ้าแกะได้ ก็จะดึงเทปออกมาด้วย ทำให้ต้องแปะเทปใหม่

สำหรับใครอยากลองวิธีนี้ ก็แนะนำให้ไปซื้อ Blue Tape ได้ที่ Home Pro มีขนาดความกว้างให้เลือกเยอะอยู่ แต่ราคาอาจจะสูงหน่อย

แผ่น BuildTak

แผ่น Buildtak ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับ 3D Printer โดยเฉพาะ

สำหรับ BuildTak นั้น เป็นแผ่นที่ถูกออกแบบมาพิเศษ ซึ่งคำว่า BuildTak นั้น เป็นชื่อแบรนด์สินค้า แต่ถูกเรียกมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นชื่อสินค้า ซึ่งจริงๆแล้ว ตัวแผ่นนี้ จะเป็นแผ่นที่ถูกคิดค้นขึ้นมา สำหรับใช้กับเครื่องปริ้น 3 มิติ โดยเฉพาะ ซึ่งแผ่นนี้ ทางผู้ผลิตก็ไม่ได้บอกว่ามันทำมาจากอะไร หรือมีการเคลือบสารพิเศษอะไรลงไป แต่ที่รู้คือ มันใช้ดีมากๆ สำหรับพลาสติกที่พิมพ์ยากๆ จำพวก ABS / ASA / PC และ ไนลอน

ตัวแผ่นสามารถเอาไปติดบนแผ่นเหล็กได้ สำหรับบิดเพื่อเอาชิ้นงานออก

ซึ่งตัวแผ่นด้านบนจะเป็นเนื้อหยาบๆ ที่มีการเคลือบสารบางอย่าง ส่วนด้านล่างจะเป็นสติกเกอร์ที่สามารถลอกเอาไปติดบนแผ่นเหล็ก หรือแผ่นกระจกก็ได้ แล้วแต่ผู้ใช้ ซึ่งถ้าไปติดบนแผ่นเหล็กสปริง ก็จะทำให้สามารถบิดแผ่นเอางานออกได้ สำหรับการใช้งานแผ่นนี้ก็คือต้องทำความสะอาดด้วยแอลกฮอล์ ก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อลบคราบน้ำมันออกจากแผ่นก่อน ส่วนจะทากาว หรือไม่ทา อันนี้ก็แล้วแต่ผู้ใช้เลย

แผ่น PEI

แผ่น PEI ถ้าใช้คู่กับพลาสติก PLA แล้ว ยึดติดได้ดีมาก

ในส่วนของแผ่น PEI นั้น เพิ่งจะมาได้รับความนิยมในช่วงหลังๆ เนื่องมาจาก การเปิดตัวของเครื่องปริ้น 3 มิติ ชื่อดัง Origial Prusa i3 ซึ่งทำให้ผู้ผลิต เครื่องปริ้น 3 มิติ เริ่มหันมาใช้ฐานพิมพ์ PEI กันมากขึ้น ซึ่งคำว่า PEI นั้นย่อมาจาก Polyetherimide หรือบางคนเรียกว่า ULTEM ซึ่งลักษณะเด่นของมันก็คือจะเป็นพลาสติกสีเหลืองใสและเป็นวัสดุที่ใช้กันในอุตสาหกรรมยานบินและอวกาศ เพราะว่ามีความทนทาน ไม่ติดไฟ ไม่ปล่อยควันปล่อยสารพิษเยอะ และที่สำคัญ ทนร้อนได้ถึง 170 องศาเซลเซียส

สำหรับแผ่น PEI ที่ใช้กับฐานเครื่องปริ้น 3D Printer นั้นจะมาในรูปแบบฟิลม์ ที่ด้านล่างเคลือบกาว 3M เอาไว้ ซึ่งสามารถตัดให้ได้ตามขนาดกับฐานปริ้น ตามต้องการได้เลย ตัวแผ่น PEI สามารถนำไปติดบนแผ่นเหล็กหรือแผ่นกระจก ถ้าติดบนแผ่นเหล็กแบบบาง ก็สามารถบิดงอแผ่นเหล็กเพื่อเอาชิ้นงานออกได้เลย

สำหรับเส้นพลาสติกที่สามารถปริ้นลงบนแผ่น PEI จะมีหลายตัวมากๆ ได้แก่ PLA / ABS / PETG / PC / Nylon หรือจะเป็นพลาสติก Composite อย่าง Carbon Fiber ขัอดีสำคัญสำหรับฐานพิมพ์ PEI ก็คือ ถ้าพิมพ์เส้นพลาสติก PLA ไม่จำเป็นต้องทากาวบนฐานพิมพ์ แค่เอาแอลกฮอล์เช็ดและล้างคราบน้ำมันบนฐานก็พอ แต่ถ้าพิมพ์เส้นพลาสติกจำพวกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ PLA อาจจะต้องทากาวเพื่อช่วยยึดให้ชิ้นงานติดแน่นขึ้น

ข้อควรระวัง ถ้าพิมพ์เส้นพลาสติก PETG ลงบนฐานปริ้น PEI จำเป็นต้องทากาว เพื่อป้องกันไม่ใช้พลาสติกติดฐานแน่นเกินไป เพราะถ้าไม่ทา ตัวเส้นอาจจะดึงแผ่น PEI หลุดขึ้นมาได้เลย

ห้ามพิมพ์พลาสติก PETG ลงบนแผ่น PEI แบบเรียบ เพราะจะดึงแผ่นให้ขาดออกมาได้

ในปัจจุบันแผ่น PEI มีออกมาให้เลือกหลากหลายแบบ ที่เห็นกันเยอะๆ ก็จะเป็นแบบฟิลม์ผิวเรียบที่เอาไว้เแปะบนแผ่นเหล็ก / กระจก หรืออลูมิเนียม แต่ตอนนี้มีอีกแบบให้เลือก ก็คือแบบพ่นเคลือบลงบนแผ่นเหล็ก ซึ่งฐานปริ้นแบบนี้ จะมีผิวที่หยาบ เหมาะสำหรับพิมพ์พลาสติก PETG โดยเฉพาะ มากไปกว่านั้น ชิ้นงานที่ปริ้นบนแผ่นแบบนี้ จะให้พื้นผิวที่ออกมาขรุขระ ดูแล้วก็สวยไปอีกแบบ

สำหรับใครที่อยากลองแผ่น PEI แต่ยังไม่อยากซื้อ ทางร้านแนะนำให้ไปซื้อเทปทนความร้อนที่เรียกว่า Kapton เทป ซึ่งเป็นเนื้อตัวเดียวกันกับ PEI แต่มาในรูปของม้วนเทป ซึ่งจะมีหน้ากว้างแล้วแต่จะเลือก การติดอาจจะต้องระวังในเรื่องของฟองอากาศ

ฐานพิมพ์ Garolite

แผ่นฐานปริ้นแบบ Garolite สำหรับปริ้นพลาสติก ไนลอน โดยเฉพาะ

หากใครที่เคยพิมพ์พลาสติกประเภท Nylon คงจะประสบปัญหาชิ้นงานไม่ติดฐาน หรือ ชิ้นงานหดตัว แอ่น จนชิ้นงานบิดเบี้ยว ขนาดเพี้ยน ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของใครหลายคน และเป็นปัญหาที่เจอบ่อยสำหรับมือใหม่ที่ปริ้นเส้นไนลอน แค่ปัญหาชิ้นงานหลุดจะหมดไป ถ้ามาลองใช้ฐานพิมพ์ Garolite

Garolite ผลิตจากไฟเบอร์กลาสและอีพอกซี่อัดแรงดันสูง สร้างออกมาเป็นแผ่นแข็ง น้ำหนักเบา สามารถตัดแบ่งได้ด้วยมีดคัตเตอร์ มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ใช้งานกันมากในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์

การใช้งาน สามารถพิมพ์วัสดุ Nylon ลงบนฐานพิมพ์ Garolite ได้โดยตรง และต้องมั่นใจว่าผิวสะอาดหมดจดที่สุดเพื่อให้ชิ้นงานที่พิมพ์ยึดเกาะดีที่สุด แต่ถ้าหาต้องการพิมพ์วัสดุอื่นๆ อย่างเช่น PLA และ PETG จะต้องทากาว PVA ก่อนพิมพ์ทุกครั้ง

ฐานพิมพ์ Garolite ถูกใช้งานกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ของ Markforged แบรนด์ที่เน้นพิมพ์วัสดุเกรดวิศวกรรม โดยเฉพาะ Nylon แต่ถ้าใครอยากใช้ฐานพิมพ์ Garolite กับเครื่องตัวเองที่บ้าน ก็มีผู้ผลิตหลายรายที่ขายเป็นแผ่นสำหรับเอาไปตัดให้พอดีกับเครื่องที่ใช้งานด้วยเช่นกัน

กาวน้ำสำหรับ 3D Print

กาวน้ำ Formfutura จากเนเธอร์แลนด์ สำหรับใช้กับ 3D Printer โดยเฉพาะ

ตัวช่วยสุดท้าย ก็คือกาวน้ำ ที่เป็นกาวที่ออกแบบมาสำหรับใช้คู่กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer โดยเฉพาะ ซึ่งตัวกาวก็จะแบ่งสูตรออกมา เพื่อให้เหมาะกับเส้นพลาสติกแต่ละประเภท สำหรับกาวที่ทางร้านแนะนำ เป็นกาวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ชื่อ Easyfix ยี่ห้อ Formfutura มีให้เลือกด้วยกัน 4 สูตร โดยแต่ละสูตรก็จะใช้เกับเส้นพลาสติกต่างชนิด ต่างคุณสมบัติกัน ซึ่งข้อดีของการใช้กาวน้ำ ก็คือ ใช้ง่าย ไม่เลอะเทอะ เวลาพิมพ์เสร็จ งานจะหลุดออกมาเอง แต่เวลาพิมพ์ งานจะยึดติดอยู่กับที่

การใช้กาว Easyfix นั้น ให้ทากาวตอนที่ฐานยังเย็นอยู่ โดยให้เขย่าขวดก่อนทาบนฐาน เวลาทาก็ให้กดแล้วทาไปบนฐานปริ้น การทากาว 1 ครั้ง สามารถใช้พิมพ์งานได้ 3-4 ครั้ง โดยที่ไม่ต้องทาใหม่ สำหรับการทำความสะอาด ก็ให้ใช้น้ำอุ่นในการล้างคราบกาวออกจากฐาน สำหรับการใช้กาว Easyfix สามารถจับคู่ใช้ร่วมกันกับแผ่น BuildTak และ แผ่น PEI ได้ เพื่อช่วยให้งานติดแน่นขึ้นกว่าเดิม

สรุป

สำหรับใครที่ปัญหาเรื่องชิ้นงานหลุดระหว่างปริ้น พยายามตั้งฐานใหม่ก็แล้ว เปลี่ยนเส้นพลาสติก็แล้ว ถ้ายังไม่หาย ก็ลองมาใช้ตัวช่วยพวกนี้ดู ซึ่งตัวที่ผมแนะนำเป็นตัวแรกๆ ในราคาไม่แพง ก็อาจจะให้ใช้สเปรย์ฉีดผม Caring น้ำสีฟ้าก่อนเลย เพราะหาซื้อง่าย แถมราคาไม่แพง แต่ถ้าอยากจบปัญหาไปเลย ก็แนะนำกาวสำหรับใช้กับ 3D Printer โดยเฉพาะ อย่างกาว Easyfix ของ Formfutura ซึ่งใช้ง่ายและไม่มีกลิ่น ราคาสูงหน่อยแต่คุ้มกับเงินที่จ่ายไปแน่นอน สนใจสั่งซื้อกาว สามารถคลิ๊กตรงนี้ได้เลย

Similar Posts