3D Printer คืออะไร / มีกี่แบบ / เลือกยังไง
ในส่วนของบทความนี้ ทางผมอยากจะขอเป็นบทความแบบที่ทุกคนอ่านได้ โดยที่จะไม่ขอลงรายละเอียดในเชิงเทคนิคมากนัก เอาแค่เนื้อหาใจความที่สำคัญ เพื่อที่คนอ่านจะได้มีความเข้าใจในระดับที่อ่านจบแล้ว สามารถรู้ว่าเครื่องปริ้น 3D Printer คืออะไร แล้วมันทำอะไรได้บ้าง รวมไปถึงว่า ถ้าอยากจะซื้อมาใช้ ควรจะเลือกแบบไหนให้มันเหมาะสมกับงาน
ก่อนจะพูดถึง 3D printer เรามาลองนึกภาพ หรือลองย้อนไปดูหนังเรื่อง Star Trek ที่มีเครื่องจักรตัวหนึ่ง ที่สามารถสร้างสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ หรือของใช้ต่างๆ ที่เมื่อก่อนตอนดูหนัง เราอาจจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นแค่หนังที่ทำออกมาให้สนุก แต่หนังหรือภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ก็อาจจะไปสร้างแรงบัลดาลใจให้กับคนบางคน เพื่อที่จะคิดว่าสื่งนั้นสามารถเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ยานอวกาศ หรือเรือดำน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก่อนจะเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกบรรยายหรือเขียนเอาไว้ในหนังสือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D printer ก็เช่นกันมันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกเพ้อฝันของนักเขียนนิยาย และได้นำสิ่งเหล่านี้ใส่เข้าไปในหนังสือ แต่ตอนนี้สิ่งเพ้อฝ้นชิ้นนี้ กำลังจะเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันไปตลอดการ
3D Printer คืออะไร
3D printer คือเครื่องจักรที่ใช้กระบวนการเติมเนื้อวัสดุ เพื่อทำให้เกิดเป็นรูปร่างที่สามารถจับต้องได้ตามที่ต้องการ โดยอาศัยข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งการเติมเนื้อหรือพิมพ์วัสดุลงไปนั้นเรียกว่า Additive Process ซึ่งการพิมพ์นั้นจะค่อยเป็นไปทีละ Layer หรือทีละชั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือถ้าเราต้องการสร้างตึกที่มีจำนวน 25 ชั้น เราก็ต้องเริ่่มสร้างจากฐานรากก่อน แล้วค่อยๆ ต่อเสาขึ้นไปทีละชั้น จนเสร็จทั้งหมด 25 ชั้นกลายเป็นตึกขึ้นมา ซึ่งการสร้างแบบที่ละชั้น ถูกนำไปเป็นหลักการในการพิมพ์งานของ เครื่องปริ้น 3 มิติ โดยที่วัสดุที่ใช้ในการขึ้นรูปอาจจะแตกต่างกัน เช่นบางวัสดุใช้เป็นพลาสติก บางวัสดุเป็นน้ำ และบางวัสดุอาจจะเป็นผงฝุ่น แต่หลักการในการขึ้นรูปให้เป็นโมเดล 3 มิติ ก็ยังเป็นการสร้างที่ละชั้น ต่อกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นชิ้นงานโมเดล 3 มิติ ที่จับต้องได้
ในปัจจุปันนี้ มีการค้นพบวิธีการขึ้นรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะไม่ใช่การขึ้นรูปที่ละชั้น แต่จะเป็นการพิมพ์แบบทีเดียวทุกๆชั้น ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาอยู่ ซึ่งถ้าวิธีการนี้สำเร็จ ก็จะเป็นปฎิวัติเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติไปอีกขั้น เพราะมันจะเหมือนกับการเสกของขึ้นมาในพริบตา แต่อาจจะต้องรอไปอีก 10-20 ปีจากนี้
รู้หรือไม่ ว่าจริงๆแล้ว เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นเริ่มใช้กันมาในปี 1983 หรือเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะราคาสูงและติดสิทธิบัตร ทำให้ต้องรอสิทธิบัตรนั้นหมดอายุเสียก่อน ซึ่งคนที่คิดระบบการพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาคนแรก ชื่อว่า Mr. Chuck Hull ซึ่งสิทธิบัตรที่แกเป็นคนจด ก็คือเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ SLA หรือ Stereolithography การที่มีสิทธิบัตรในมือ ก็ทำให้ Mr.Chuck Hull จัดตั้งบริษัท 3D System ขึ้นมาในปี 1986 ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ขายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บริษัทแรกในโลก ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังดำเนินธุรกิจนี้อยู่ และเป็นผู้เล่นหลักในวงการนี้อีกด้วย
3D Printer ทำงานอย่างไร
สำหรับการใช้งาน 3D printer นั้น จำเป็นต้องมีไฟล์ 3 มิติก่อน ซึ่งเจ้าไฟล์ตัวนี้ สามารถที่จะเขียนขึ้นมาจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ หรือ จะใช้เครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ ทำการแปลงวัตถุในโลกจริงให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอล เมื่อได้ไฟล์มาแล้ว ก็เข้าโปรแกรมที่เรียกว่า Slicer เพื่อกำหนดค่าต่างๆ รวมถึงเลือกวัสดุที่จะใช้พิมพ์ ตัวโปรแกรม Slicer ก็จะเอาค่าที่ตั้งไว้ มาคำนวนและหั่นโมเดล 3 มิติออกมาเป็นชั้นๆ หรือเลเยอร์ และเปลี่ยนให้เป็นตัวเลข เพื่อให้เครื่องพิมพ์ สามารถอ่านค่าได้ เพื่อทำการพิมพ์งาน ซึ่งเวลาพิมพ์ ก็จะพิมพ์ที่ละชั้น หรือที่ละเลเยอร์ เมื่อชั้นแรกพิมพ์เสร็จ ก็จะเติมเนื้อในชั้นต่อไป กระบวนการ ก็จะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้านึกไม่ออก ก็ลองเอาปืนกาว มายิงตามรูปที่ต้องการ พอกาวแข็งตัว ก็ยิงกาวทับลงไปบนกาวชั้นที่แข็งก่อนหน้า แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้โมเดล 3 มิติขึ้นมา

สำหรับการที่จะให้วัสดุติดกันเป็นรูปโมเดล 3 มิตินั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุหรือหมึกที่ใช้ในการขึ้นรูป ถ้าเป็นหมึกพลาสติก ก็จะใช้หลักการให้ความร้อนกับพลาสติก เพื่อให้พลาสติกเปลี่ยนจากของแข็งเป็นของหนืด แล้วก็ใช้หัวฉีด ทำการฉีดพลาติกออกมา แต่ถ้าเป็นหมึกเป็นแบบผง ก็จะใช้ความร้อนยิงลงไปที่ผง เพื่อให้ผงหลอมละลายติดกัน ซึ่งความร้อนที่ยิงออกมา อาจจะมาจากเลเซอร์กำลังสูง แต่ถ้าเป็นของเหลว ก็อาจจะใส่สารพิเศษที่มีความไวต่อแสง เมื่อมีแสงมาโดน ก็จะเปลี่ยนจากของเหลว กลายเป็นของแข็ง

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer มีกี่แบบ)
ในส่วนของเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิตินั้น จะมีหลากหลายเทคนิค ขึ้นอยู่กับวัสดุหรือหมึกที่จะขึ้นรูปเป็นโมเดล รวมไปถึงการเชื่อมวัสดุให้ติดกัน แต่หลักการในการขึ้นรูป ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีไหนก็ตาม ในตอนนี้ก็ยังต้องใช้โปรแกรม Slicer เข้ามา เพื่อจะตัดซอยชิ้นงานเป็นแผ่นบางๆ แล้วพิมพ์แผ่นพวกนั้นซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนได้เป็นชิ้นงาน 3 มิติ ซึ่งเทคโนโลยีการปริ้น 3 มิติ สามารถแบ่งออกได้ประมาณนี้
- Vat Photopolymerisation
- Material Jetting
- Binder Jetting
- Material Extrusion
- Power Bed Fusion
- Sheet Lamination
- Directed Energy Deposition
ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ ยังออกลูกเป็นเทคโนโลยีย่อยๆ ลงไปอีก อย่างเทคโนโลยี Vat Photopolymerisation ก็ออกลูกออกมาเป็นอีก 3 เทคโนโลยีย่อย เช่น Stereolithography (SLA), Digital Light Processing (DLP) และ Continuous Liquid Interface Production (CLIP) ส่วน Material Extrusion ก็มีแบ่งออกมาเป็น Fused Deposition Modeling (FDM) และ Fused Filament Fabrication (FFF) นอกจากนั้นตัวเทคโนโลยี Powder Bed Fusion ก็มีการออกลูกออกหลาน มาเป็น Multi Jet Fusion (MJF), Selective Laser Sintering (SLS) และ Direct Metal Laser Sintering (DMLS)
สำหรับบทความนี้ ผมจะแนะนำ 3 เทคโนโลยี ที่ตอนนี้มีเห็นและนิยมใช้มากที่สุดในตลาด นั่นก็คือ
- Material Extrusion
- Vat Photopolymerisation
- Power Bed Fusion
Material Extrusion
เป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า เป็นตัวจุดกระแสความนิยมเครื่องปริ้น 3 มิติเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่สิทธิบัตร หมดก่อน ราคาไม่แพง และเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องได้ง่ายที่สุด สามารถใช้ในบ้านได้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผูัใหญ่ก็ใช้ได้ ซึ่งเจ้าตัว Material Extrusion ถ้าแปลกันง่ายๆ ก็คือการดันวัสดุออกมา ซึ่งวัสดุที่ใช้ถูกดันออกมาส่วนใหญ่จะเป็นของหนืด เช่นพลาสติก / ซิลิโคน / ดินขาว / ครีม รวมไปถึง ช็อคโกแลต
เทคโนโลยีลูกของ Material Extrusion ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักก็คือ FDM หรือ Fused Deposite Modeling หรือบางคนเรียก FFF ซึ่งจริงๆแล้วทั้ง 2 ตัวนี้ มันคือลูกแฝด ที่มีหลักการเดียวกัน แตกต่างกันแค่ชื่อเรียก และวัสดุที่นิยมใช้กับเทคโนโลยีนี้ก็คือ พลาสติก ซึ่งพลาสติกที่ใช้ ก็เลือกได้ว่าจะเอาแบบไหน เช่น PLA, ABS , Nylon, PC, PP, PET เป็นต้น
หลักการในการขึ้นรูปโมเดล 3 มิติของระบบ FDM หรือ FFF ก็คือการให้ความร้อนที่หัวฉีด และฉีดพลาสติกที่มีความหนืด ออกมาจากหัวฉีดที่มีขนาดเล็ก ทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรูปวัตถุ 3 มิติขึ้นมา สำหรับเครื่องปริ้น 3 มิติระบบนี้ จะมีให้เลือกหลายราคา โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 6 พันกว่าบาทจนไปถึงหลัก 10 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่การพิมพ์และประเภทเส้นพลาสติกที่จะใช้
Vat Photopolymerisation
สำหรับเทคโนโลยีนี้ ถ้าให้เรียกชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าเรียก SLA หลายคนก็จะร้อง อ๋อ ซึ่ง SLA หรือ Stereolithography ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแบบแรก ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Mr. Chuck Hull ซึ่งหัวใจหลักของเทคโนโลยีนี้ก็คือ ของเหลวที่มีความไวต่อแสง UV ซึ่งของเหลวที่ถูกใช้ในตอนนี้ จะเป็นเรซิ่น ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปของคำว่า Vat ถ้าให้เรียกกันตรงๆ แบบภาษาไทยก็คือ อ่าง ซึ่งอ่างอันนี้ จะเป็นตัวที่เอาไว้รองรับ เรซิ่นที่มีความไวต่อแสง ซึ่งการที่จะทำให้เรซิ่นแข็งตัวเมื่อโดยแสง UV จำเป็นต้องใส่สาร Photo Initiator ลงไปในเรซิ่น ซึ่งสารตัวนี้ จะมีความไวต่อแสงมาก แค่โดนแสงสีขาว ก็จะเกิดปฎิกริยาทางเคมี ทำให้เรซิ่นแข็งตัวในทันที
หลักการในการใช้เทคโนโลยีนี้ ก็คือ หาแหล่งกำเนิดแสง UV และแหล่งกำเนิดภาพ โดยเอาทั้ง 2 อย่างนี้รวมกันแล้วฉายลงไปที่เรซิ่นความไวแสง เมื่อภาพฉายลงไปโดนเรซิ่น ก็จะทำให้เรซิ่นในส่วนที่โดนภาพแข็งตัว ตรงไหนไม่โดนก็ไม่แข็ง ซึ่งเมื่อเรซิ่นแข็งตัว เครื่องพิมพ์ก็จะทำการพิมพ์ชั้นต่อไปทับกับชั้นที่แข็งตัว จนเกิดเป็นชิ้นงานโมเดล 3 มิติเกิดขึ้น ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีนี้ ก็คือ ความละเอียด และความแม่นยำ ทีสูงมาก งานที่พิมพ์ออกมาจะดูเหมือนกับงานฉีดพลาสติก ที่พร้อมจะขาย ข้อเสียอย่างเดียวของเครื่องเทคโนโลยีนี้ก็คือ ความเลอะเทอะ และการป้องกันตัวเอง เวลาใช้เครื่อง เพราะเรซิ่นจำพวกนี้ ไม่สามารถสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังได้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์จำพวก ถุงมือไนไตรด์และแว่นนิรภัย

สำหรับแหล่งกำเนิดภาพนั้นอาจจะมาจาก เลเซอร์ ที่สามารถเคลื่อนที่หรือวาดออกมาเป็นรูป หรือว่าจะเป็นภาพที่ฉายออกมาจากจอ โปรเจคเตอร์หรือจอ LCD ก็ได้ ส่วนเรซิ่น ก็มีให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ ส่วนเรื่องราคานั้น จะอ้างอิงกับขนาดพิ้นที่การพิมพ์ / ความละเอียด และวัสดุเรซิ่นที่ใช้ ซึ่งตอนนี้ ราคาจะอยู่ระหว่าง 15,000 – 10 ล้านบาท
Power Bed Fusion
ในส่วนเทคโนโลยีนี้ เรียกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะเน้นงานพิมพ์จำนวนมาก และวัสดุที่ใช้พิมพ์จะเป็นจำพวก เน้นใช้งานจริงเป็นหลัก ซึ่งหมึกหรือวัสดุที่ใช้จะอยู่ในรูปของผง ซึ่งผงก็จะมีทั้งผงที่เป็นพลาสติก จำพวกไนลอน จนถึงผงที่เป็นโลหะ เช่น สแตนเลส, ไทเทเนียม รวมไปถึง ผงที่เป็นทองคำก็มี
เทคโนโลยีทึ่ถูกแบ่งออกมาจาก Power Bed Fusion และเป็นที่นิยมในตอนนี้ก็คือ SLS และ MJF ซึ่ง SLS จะเป็นการใช้เลเซอร์กำลังสูง ยิงลงไปที่ผง เพื่อให้ผงหลอมละลายติดกัน จนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อพิมพ์เสร็จหนึ่งชั้น ตัวเครื่อง ก็จะเติมผงใหม่ลงไปและเกลี่ยปิดทับผงที่พิมพ์เสร็จแล้ว จากนั้นเลเซอร์ก็จะยิงลงไปอีก ซึ่งกระบวนการก็จะซ้ำไป ซ้ำมาแบบนี้ จนได้โมเดลงาน 3 มิติขึ้นมา
ส่วนเทคโนโลยี MJF นั้น ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ คิดค้นและจดสิทธิบัตรโดยบริษัท HP ซึ่งหลักการนั้นจะไม่ใช้เลเซอร์ในการหลอมผง แต่จะเป็นการพิมพ์หมึกพิเศษที่สามารถดูดความร้อนได้ไว เนื่องจากบริษัท HP นั้นจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับหัวพิมพ์ Inkjet ทางบริษัทก็เลยเอาองค์ความรูันี้มาใช้ โดยเปลี่ยนจากหมึกธรรมดาเป็นหมึกดูดความร้อน พิมพ์ลงไปบนผง เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ตัวเครื่องก็จะเอาหลอดอินฟาเรดความร้อนสูง วิ่งผ่านหมึกที่ถูกพิมพ์ลงไป เมื่อหมึกโดนความร้อน ก็จะหลอดเอาผงวัสดุให้ละลายติดกัน เมื่อพิมพ์ชั้นนึงเสร็จแล้ว ตัวเครื่องก็จะทำการเติมผงใหม่ ทับงานพิมพ์ที่หลอมติดกันแล้ว แล้วก็ทำวนไปแบบนี้ไปเรื่อย จนได้ชิ้นงานพิมพ์ 3 มิติ
สำหรับเครื่องที่ใช้เทคโนโลยี Powder Bed Fusion ไม่ว่าจะเป็น SLS หรือ MJF นั้น ตัวเครื่องจะมีราคาสูง เหมาะสำหรับงานอุตสาหกรรม ซึ่งราคาของตัวเครื่องก็จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่การพิมพ์และผงวัสดุที่ใช้ ซึ่งราคาเริ่มต้นในตอนนี้ อยู่ประมาณ 400,000 บาท จนถึง 20,000,000 บาท
การเลือกเครื่องปริ้น 3 มิติ
สำหรับการเลือกเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้น จะต้องดูหลายๆอย่าง ประกอบกัน เช่น
- ใครเป็นคนใช้เครื่องพิมพ์ ?
- ลักษณะของงานที่พิมพ์เป็นแบบไหน?
- งานที่พิมพ์เสร็จแล้วเอาไปทำอะไร?
- ขนาดชิ้นงานที่จะพิมพ์ประมาณไหน?
- งบประมาณที่จะซื้อมีเท่าไหร่?
การตอบคำถามเหล่านี้ จะช่วยให้การเลือกเครื่องปริ้น 3 มิติทำได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าคนใช้เป็นเด็ก ก็ควรเลือกเครื่องพิมพ์ที่เป็นระบบพลาสติกหรือ FDM เพราะอันตรายน้อยสุด และราคาไม่แพง แต่ถ้าคนใช้เป็นผู้ใหญ่ ก็อาจจะต้องมาถามกันต่อว่างานที่พิมพ์เป็นแบบไหน ถ้าเป็นงานรูปปั้น ศิลปะ หรือพวกโมเดลของเล่น ก็อาจจะเลือกได้ทั้งเครื่องแบบพลาสติก หรือแบบเรซิ่นก็ได้ ต่อจากนั้นก็มาดูว่าถ้างานที่พิมพ์เสร็จต้องเอาไปขัดทำสี เพื่อเอาไปจำหน่ายต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็อาจจะต้องเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จำพวกเรซิ่น เพราะงานที่ได้จะละเอียด ไม่ต้องขัด แต่งเยอะ สามารถลงสี และนำไปขายได้เลย

ในทางตรงข้าม ถ้างานที่พิมพ์เป็นพวกงานวิศวกรรม จำพวก ชิ้นส่วนเครื่องจักร หรือกล่องใส่อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ อันนี้ก็ต้องเลือกเป็นเครื่องพิมพ์ระบบ FDM หรือพลาสติกจะดีกว่า เพราะจะมีเส้นพลาสติกให้เลือกหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงเส้นพลาสติกแบบวิศวกรรม เช่น เส้นไนลอน, เส้น PP, เส้น PC, เส้น ESD ป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ รวมไปถึงเส้นพลาสติกทีผสมคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถนำชิ้นส่วนที่พิมพ์ ไปใช้ได้จริง แต่ถ้างานที่พิมพ์เน้นจำนวนมากๆ และเป็นงานเกี่ยวกับพวก Connector หรือปลั๊กข้อต่อสายไฟ อันนี้ก็อาจจะไปใช้เครื่องปริ้น ระบบ SLS ที่เป็นผง ถึงแม้เครื่องจะแพง แต่ก็จะคุ้มค่าในระยะยาว เพราะต้นทุนในการพิมพ์จะถูกกว่าเครื่องระบบ FDM และ SLA แถมได้งานจำนวนมากในการพิมพ์แค่ครั้งเดียว


อีกตัวเลือกที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องปริ้น 3 มิติ ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม นั่นก็คือพื้นที่การพิมพ์ ว่ากันง่ายๆ เลย ถ้าพื้นที่พิมพ์ยิ่งใหญ่ ราคาเครื่องยิ่งแพง ดังนั้นการเลือก ควรจะเลือกขนาดชิ้นงานที่คิดว่าพิมพ์บ่อยสุด ไม่ควรจะเผื่อขนาด ให้ใหญ่เกินไป เพราะต้องจำไว้ว่า เครื่องปริ้นที่มีขนาดพื้นที่พิมพ์ใหญ่ ถ้ามีระบบการพิมพ์ที่ไม่ดี งานที่พิมพ์ก็จะเสีย ทำให้เสียทั้งเวลา และวัสดุที่ใช้พิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ เครื่องปริ้น 3 มิติที่มีขนาดใหญ่ ราคาจะแพง เพราะผู้ผลิตจะใส่ฟีเจอร์ที่จำเป็นหลายๆ อย่างเข้าไป เพื่อทำให้แน่ใจว่างานที่พิมพ์จะไม่เสียกลางทาง ฟีเจอร์ที่ใส่ไป ทำให้เครื่องมีราคาที่สูงขึ้น

สุดท้ายก็คืองบประมาณ ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ตอนนี้ ราคาเครื่องพิมพ์ 3D Printer นั้นมีให้เลือกตั้งแต่ระดับราคา 6000 จนถึงหลักสิบล้าน ซึ่งการที่ราคามันแตกต่างกันขนาดนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่บอกได้ ได้แก่ พื้นที่การพิมพ์และก็ฟีเจอร์ที่ช่วยให้การพิมพ์ง่ายและสำเร็จ ซึ่งถ้าซื้อเครื่องหลักพัน ก็ต้องเตรียมใจ ว่าฟีเจอร์เหล่านี้ เครื่องพวกนี้จะเป็นเครื่องระบบ FDM ที่ฉีดพลาสติกและส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่มาจากจีน ซึ่งเอาจริงๆ เครื่องพวกนี้ พิมพ์สวยใช้ได้เลย แต่เครื่องแบบนี้ จะเป็นอารมณ์แบบ 3 วันดี 4 วันไข้ เช่น วันนี้พิมพ์สวยดี พอจะมาใช้วันรุ่นขึ้น งานพิมพ์อาจจะไม่สวย ถ้าจะเล่นเครื่องราคานี้ อาจจะต้องดูแลและปรับตั้งเครื่องบ่อยๆ หรือดูแลรักษาบ่อยหน่อย

แต่ถ้ามีงบมากหน่อย ก็แนะนำให้หาเครื่องที่มีฟีเจอร์พวกนี้ เพื่อที่จะให้การใช้งานเครื่องง่ายขึ้น เสถียรขึ้น เช่น ฟีเจอร์ไฟดับพิมพ์ต่อที่เดิม, ฟีเจอร์เส้นพลาสติกหมด เครื่องต้องหยุด และกลับมาพิมพ์ต่อที่เดิมได้หลังจากเปลี่ยนเส้นใหม่ และถ้าให้ดี ฐานพิมพ์ก็ควรจะเป็นแบบยกออกจากฐานทำความร้อนได้ เพื่อให้การเอางานพิมพ์ออกง่ายขึ้น อีกอย่างที่อาจจะต้องดูก็คือ เครื่องทุกตัวควรจะมีใบรับรอง ว่าผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการยืนยันว่า อุปกรณ์ที่ใช้มีมาตรฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้

สำหรับเครื่องเรซิ่นหรือเครื่องปริ้น ระบบ SLA การเลือกก็อาจจะต้องดูว่างานที่พิมพ์นั้น ขนาดเท่าไหร่ เพราะเครื่องประเภทนี้ ยิ่งใหญ่ ยิ่งราคาสูง อีกอย่างก็คือเรซิ่นที่ใช้ ถ้ายิ่งใช้เรซิ่นได้หลากหลายมากเท่าไหร่ ราคาเครื่องก็ยิ่งแพง สำหรับเครื่องปริ้นระบบเรซิ่นนั้น ตอนนี้ราคาในตลาด เริ่มต้นอยู่ประมาณ 10000 กว่าบาท จนถึงหลัก 10 ล้าน เหมือนอย่างเครื่องปริ้นระบบ FDM ก็คือ เครื่องราคาถูก ส่วนใหญ่จะมาจากจีน เครื่องพวกนี้ การ Setting จะไม่ค่อยยากเท่าไหร่ จะง่ายกว่าเครื่องปริ้นแบบพลาสติก แต่จะยุ่งยากตอนล้างชิ้นงานที่พิมพ์เสร็จแล้ว เพราะจะมีเรื่องของสารเคมี เข้ามาเกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน อย่าง ถุงมือไนไตรด์และแว่นนิรภัย
ถ้าให้เทียบกันในตอนนี้ ต้นทุนในการใช้งานเครื่องปริ้นระหว่างพลาสติกกับเรซิ่น ตอนนี้เครื่องเรซิ่นจะแพงกว่า ในเรื่องของราคาเรซิ่นและอุปกรณ์สิ้นเปลือง เครื่องเรซิ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนหน้าจอ ทุกๆ 2000 ชั่วโมง หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับงานที่พิมพ์ รวมไปถึงแผ่นฟิลม์ ที่อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยกว่าหน้าจอ ซึ่งราคา ของ 2 อย่างนี้รวมๆกัน ก็จะประมาณ 5000 ถึง 10000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าจอที่ใช้พิมพ์ ในทางตรงข้าม เครื่องปริ้นพลาสติกส่วนใหญ่ จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของหัวฉีดเป็นหลัก ซึ่งจะตกประมาณ 100 – 1000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดและรขนาดของรูหัวฉีด
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่า น่าจะรู้แล้วว่า 3D Printer คืออะไร แล้วตอนนี้เทคโนโลยีของ 3D print มันมีกี่แบบ รวมไปถึงการที่จะเลือกเครื่อง 3D printer ให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งถ้าใครอยากเจาะลึกลงไปมากกว่านี้ ผมก็มีเขียนบทความเกี่ยวกับ ขั้นตอนการใช้งาน 3D Printer รวมไปถึงหลักขั้นตอนในการเลือกเครื่องปริ้น 3 มิติระบบ FDM หรือฉีดพลาสติก สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มความรู้กันต่อได้ ซึ่งถ้าอ่านจบ ผมเชื่อว่า คุณพร้อมที่จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติแล้ว