รีวิว Original Prusa i3 MK3 (MK3S+) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ล้ำหน้ากว่า 3D Printer ยี่ฮ้ออื่นๆ

บทความนี้ได้รับการอัพเดทเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้ทาง Prusa ได้ทำการ Upgrade เครื่อง MK3 ไปเป็น MK3S+ ซึ่งตัวโครงเครื่องและขนาดการพิมพ์เท่าเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเซนเซอร์ที่ใช้วัดฐาน และชิ้นส่วนที่ปริ้น มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีและแข็งแรงขึ้น ซึ่งถ้าอยากรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้างให้ไปดูที่บทสรุปด้านล่าง ของบทความนี้

เครื่อง Original Prusa i3 MK3 นั้น ได้เปิดตัวเมื่อปลายปี 2017 และเริ่มจัดส่งได้ประมาณเดือนธันวาคม ปี 2017 ซึ่งตอนเปิดตัวนั้น ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ เพราะมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า “มันจำเป็นต้องมี สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติในยุคนี้ เช่น ไฟดับพิมพ์ต่อ, มีเซนเซอร์จับเส้นพลาสติก ในกรณีที่เส้นหมดเครื่องจะหยุดเอง และยังมีอีกหลายฟีเจอร์ เอาไว้จะเล่าให้ฟังในรีวิวนี้  

สำหรับรีวิวอันนี้ ผมจะไม่พูดถึงคุณภาพการพิมพ์ชิ้นงาน เพราะจากที่ได้ลองเครื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ผมสังเกตุว่า งานที่พิมพ์นั้น ไม่ได้ต่างจากเครื่องรุ่นเก่าอย่าง Original Prusa i3 MK2S มากนัก ซึ่งถ้าใครอยากรู้ว่า สามารถไปอ่านรีวิว เครื่องรุ่นเก่าได้ที่นี่ รีวิวเครื่องพิมพ์ Original Prusa i3 MK2S

สำหรับรีวิวเครื่องรุ่นใหม่ Original Prusa i3 MK3 นั้น ผมจะมาบอกถึง ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องทั้ง 2 รุ่น ว่าแตกต่างอย่างไร ดีขึ้นจากเครื่องรุ่นเก่ามากแค่ไหน และควรซื้อรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ดี หรือว่าคนที่มีรุ่นเก่า อยาก Upgrade จะคุ้มไหม รีวิวนี้ จะตอบคำถามคุณได้อย่างแน่นอน

Highlight ของบทความนี้

  • แกะกล่องและประกอบเครื่องปริ้น 3 มิติ Orginal Prusa i3 MK3
  • ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องรุ่น MK2S กับเครื่องรุ่นใหม่ MK3
  • ทดสอบฟีเจอร์สุดล้ำแบบใช้งานจริงๆกับเครื่อง Prusa Mk3
  • บทสรุปว่าควรควักเงินซื้อรุ่นใหม่ หรือจะเอารุ่นเก่า MK2S

เปิดกล่องประกอบเครื่อง Original Prusa i3 MK3 สุดล้ำ

เหมือนเดิมคือ เปิดกล่องมาก็จะเจอ เยลลี่ แบรนด์ Haribo เอาไว้สำหรับกินตอนประกอบ แต่ลูกค้าที่ซืื้อเครื่องกับเรา ทาง สยามเรปแรป เราไม่ได้แกะกินนะครับ เราก็จะให้ลูกค้าไปด้วย ในกล่องก็จะมีคู่มือการประกอบเครื่อง Original Prusa i3 MK3 อยู่ด้วย ซึ่งคู่มือการประกอบนั้น เหมือนหนังสือเรียนมากๆ แต่อ่านแล้วเข้าใจง่าย แต่ตอนประกอบเครื่องจริงๆ ผมจะเปิดคู่มือ Online จากทางเว็บ Prusa เสียมากกว่า เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคู่มือที่ Update ล่าสุด แถมคู่มือ Online นั้น มีบางตอนเป็นวิดีโอให้ดูด้วย ทำให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ซึ่งใครอยากจะดูคู่มือก่อนซื้อเครื่องก็ลองเข้าไปที่ Link นี้ได้เลย 

Prusa-Mk3-kit-1
ชุด Kit Prusa ต้องมี เยลลี่ Haribo มาด้วย
Prusa Assembly Instrution book
คู่มือประกอบเครื่อง เห็นแล้วคิดว่า “หนังสือเรียน”

เริ่มประกอบเครื่อง Original Prusa i3 MK3

สำหรับการประกอบเครื่องรุ่นนี้ จะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย เพราะมีส่วนที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการประกอบมากขึ้น โดยเฉพาะชุดขับเส้นพลาสติกแบบใหม่ ที่ใช้เฟืองขับแบบ Dual Direct Drive ของ Bondtech ซึ่งถ้าประกอบส่วนนี้ไม่ดี จะทำให้เส้นพลาสติกบิดงอได้ตอนพิมพ์ และทำให้หัวพิมพ์ตันได้ สำหรับเครื่อง Original Prusa i3 MK3 รุ่นใหม่นั้น จะมีส่วนประกอบของเซนเซอร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องระวังเป็นอย่างมากตอนประกอบ โดยเฉพาะเซนเซอร์ตรวจจับเส้นพลาสติก

Prusa-Filament-Sensor
เซนเซอร์ตรวจจับเส้น ที่ทำให้เครื่อง Prusa MK3 ฉลาดขึ้นไปอีก (รุ่น MK3S+ ชิ้นส่วนนี้จะเปลี่ยนไปใช้อีกแบบ)
Prusa-Noctua-Fan
สุดยอดพัดลม ที่ทำให้เครื่อง Prusa ทำงานได้เงียบกว่ารุ่นเก่ามากๆ

การประกอบเครื่องรุ่นนี้ ถ้าคนมีประสบการณ์จะใช้เวลาประกอบประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นมือใหม่ ก็เตรียมเวลาไว้ประมาณ 7- 8 ชั่วโมง ซึ่งทาง สยามเรปแรป นั้นมีพนักงานที่ประกอบเครื่อง Prusa รุ่นเก่าอย่าง MK2S มาแล้วกว่า  70 ตัว ทำให้รู้ว่าจุดไหนต้องระวัง จุดไหนสามารถประกอบไปพร้อมๆกัน ได้ ซึ่งทางสยามเรปแรป กล้ารับประกันเลยว่า เครื่องที่ผ่านการประกอบจากทางร้านนั้น ได้คุณภาพเทียบเท่ากับทาง Prusa แถมทางร้าน ยังกล้ารับประกันเครื่องที่ทางร้านประกอบให้อีก 1 ปี

assembly-Prusa-Mk3-part-1
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Prusa Mk3 เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
ชุดขับเส้น Bondtech เป็นแบบ Dual Drive Gear
bondtech-Prusa-Mk3-part-2
ขั้นตอนติดตั้งชุดขับเส้น Bondtech เข้ากับชุดหัวฉีด
New-Hotend-Prusa-Mk3
ประกอบหัวฉีด E3D เข้ากับชุดเคลื่อนที่แกน X

ข้อแตกต่างระหว่างรุ่น MK2S กับ MK3

อย่างที่บอกไปด้านบนว่า ผมจะไม่พูดถึงคุณภาพงานพิมพ์ เพระาว่ามันเหมือนๆกัน ไม่แตกต่างกันมาก แต่จะพูดถึงส่วนที่แตกต่าง จากรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งมีหลายจุดให้พูดถึง

โครงเครื่อง

เครื่องรุ่นใหม่อย่าง MK3 นั้น จะมีโครงสร้างเครื่องที่แข็งแรงขึ้นจากรุ่นเก่า เพราะจะใช้อลูมิเนียมโปรไฟล์ ในการสร้างโครงเครื่อง ซึ่งแข็งแรงกว่ารุ่นเก่ามาก เรียกว่าทำมาเพื่อให้เครื่องพิมพ์ได้เร็วขึ้น และการสั่นน้อยลง ถ้าสังเกตุดูดีๆ เครื่องรุ่นเก่า MK2S จะใช้เกลียวแบบสตัด ในการทำโครง ซึ่งตรงนี้มีปัญหามาก ในการประกอบชุด KIT เพราะถ้าตั้งหรือวัดระยะไม่ดี จะทำให้โครงเครื่องมันบิด ไม่ได้ฉาก ถ้าฝืนใช้เครื่อง ก็จะทำให้ลูกปืนและชุดขับเคลื่อนเสียเร็ว

Aluminium Profile for MK3
โครงเครื่อง MK3 ดูแข็งแรงกว่ารุ่นเก่า เพราะใช้อลูมิเนียม โปรไฟล์ในการทำโครง
MK2 using stud as structure
เห็นได้ชัดถึงความต่างของโครงเครื่องระหว่าง 2 รุ่น อันนี้เป็น MK2 ที่ใช้เกลียว Stud เป็นโครง

ชุดขับเคลื่อนหัวฉีดที่รวมของสุดล้ำอยู่ในนี้

สำหรับเครื่องรุ่นใหม่ MK3 จะมาพร้อมกับชุดขับเคลื่อนหัวพิมพ์ที่ Design ใหม่ทั้งหมด ดูดีขึ้น และเปลี่ยนไปใช้พลาสติกสีดำ รวมถึงเปลี่ยนไปใช้ตัวขับเส้นแบบ Dual Direct Drive ของ Bondtech ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดชุดขับเส้นพลาติกสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ในเวลานี้ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเก่าอย่างเครื่อง MK2S ที่จะใช้ลูกปืนข้างนึงในการประคองและดันเส้นลงไปที่หัวพิมพ์ ซึ่งระบบเก่า การฉีดเส้นพลาสติกอาจจะออกมาไม่สม่ำเสมอ เพราะเส้นพลาสติกอาจเกิดการ Slip หรือลื่่น ทำให้ดันเส้นพลาสติกไม่ลง ส่วนตัวขับเส้นของ Bondtech นั้น จะเป็นเฟืองที่เซาะร่อง ขบกัน 2 ลูก ซึ่งจะหมุนไปพร้อมกัน ทำให้มีกำลังในการดันเส้นพลาสติกลงไปที่หัวฉีด และลดอาการ Slip ของเส้นพลาสติก ซึ่งถ้าใครนีกไม่ออกลองดูวิดีโอด้านล่าง ซึ่งชิ้นส่วน Bondtech ที่อยู่ในเครื่อง Original Prusa i3 MK3 ก็คือชุดเฟืองขับ 2 ลูกที่วิ่งขบกันอยู่ (สำหรับ Prusa MK3S+ ก็ยังใช้เกียร์ขับคู่ของ Bondtech อยู่)

ตัวอย่างการทำงานของตัวขับเกียร์แบบคู่ Bondtech

นอกจากเปลี่ยนชุดขับแล้ว ยังมีส่วนของชุดเซนเซอร์ที่คอยตรวจจับเส้นพลาสติกมาด้วย ซึ่งเซนเซอร์ตัวนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ชิ้นส่วนพลาสติกของชุดขับเคลื่อนหัวฉีดต้องเปลี่ยนไปใช้สีดำ ถ้ารุ่นเก่า MK2S จะเป็นสีส้ม เหตุผลเพราะเซนเซอร์ที่ใช้เป็น Optical เซนเซอร์ ซึ่งจะไวต่อแสงมาก ถ้าใช้พลาสติกสีอื่น ก็อาจจะทำให้การวัดผิดพลาด สำหรับฟีเจอร์ตรวจจับเส้นพลาสติกนี้ ถือว่าเป็นจุดเด่น ที่เครื่องพิมพ์ 3D Printer หลายๆรุ่น หลายๆยี่ฮ้อควรจะมีมาตั้งนานแล้ว เพราะการพิมพ์งานแต่ละครั้ง ผู้ใช้ไม่รู้ว่าเส้นพลาสติกที่ใช้พิมพ์จะพอหรือเปล่า  ถึงแม้ว่าโปรแกรมส่วนใหญ่จะคำนวนน้ำหนักพลาสติกที่ใช้พิมพ์มาให้ แต่ในใจผุ้ใช้เครื่องปริ้น 3 มิติหลายๆคน ก็อยากใช้เส้นพลาสติกให้หมดม้วน เพื่อความคุ้มค่า ซึ่งฟีเจอร์นี้ถือว่าตอบโจทย์ และทาง Josef Prusa ก็ทำออกมาได้ดีและน่าใช้

สำหรับในรุ่น MK3S+ ทาง Prusa ได้เปลี่ยนเซนเซอร์ตัวจับเส้นแบบ Optical ที่ใช้แสง ไปเป็นแบบเซนเซอร์ก้ามปูที่ใช้กระเดื่องในการตรวจจับเส้นพลาสติกแทน เพราะปัญหาที่เจอในรุ่น MK3 ก็คือ ฝุ่นที่ลงไปพร้อมกับเส้นพลาสติก ทำให้การอ่านค่า มีปัญหา 

MK3 come with new color of extruder system
ชุดขับเส้นพลาสติก ของรุ่น MK3 จะเป็นสีดำ ดีไซน์แบบใหม่ มาพร้อมกับชุดตรวจจับเส้น
MK2 using orange color for extruder system
ชุดขับเส้นพลาสติกของ MK2 จะเป็นสีส้ม ดูไม่ซับซ้อนเท่ากับรุ่น Prusa MK3

นอกจากนั้นทาง Prusa ยังทำ Firmware เพื่อช่วยให้การใส่เส้นพลาสติกให้ง่ายขึ้นไปอีก แค่เปิดหัวพิมพ์ให้ร้อนถึงอุณหภูมิที่กำหนด แล้วแหย่เส้นพลาสติกลงไป เครื่องก็จะทำการดูดเส้นลงไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปกดปุ่มที่หน้าจอเลย ซึ่งต่างจากเครื่องรุ่นก่อน ที่ต้องมากดที่หน้าจอ ตอนใส่เส้น ถือว่าเป็นอีกฟีเจอร์ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้

ในส่วนของหัวฉีดที่มากับเครื่อง Original Prusa i3 MK3 ยังใช้หัวฉีดของ E3D เหมือนกับรุ่นเก่า แต่ที่เปลี่ยนไป จะเป็นพัดลมที่ระบายความร้อนหัวฉีด ซึ่งเปลี่ยนไปใช้ยี่ฮ้อ Noctua ขนาด 40 มิล ซึ่งใหญ่กว่ารุ่นเก่า แถมเงียบมาก ซึ่งพัดลม Noctua ถือว่าเป็นสุดยอดพัดลมที่คนในวงการ ตกแต่งคอมพิวเตอร์น่าจะรู้จักกันดี เพราะประสิทธิภาพและความเงียบ แค่พัดลมตัวเดียว ราคาก็เกิน 1000 บาทแล้ว แต่ก็สมราคา เพราะทำให้เครื่องพิมพ์ MK3 รุ่นนี้ สามารถพิมพ์งานได้เงียบมาก ซึ่งแตกต่างจากรุ่นเก่าอย่าง MK2S ที่เสียงดังมากเวลาพิมพ์งาน ทั้งเสียงพัดลมและก็เสียงของมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนหัวฉีด

MK3 using Noctua fan
พัดลมเป่าหัวฉีดของรุ่น Prusa MK3 จะใหญ่ขึ้น ลมแรงขึ้น แต่เสียงเงียบกว่าเดิม
MK2S using small fan
Prusa MK2 รุ่นเก่า จะใช้พัดลมเล็กในการเป่าหัวฉีด ซึ่งบางครั้ง ความร้อนระบายไม่ทัน ทำให้หัวฉีดตัน

สำหรับอีกจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงในชุดขับเคลื่อนหัวฉีดอีกอย่างก็คือ หัวเซนเซอร์ P.I.N.D.A ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักสำหรับเครื่องของ Prusa ทุกรุ่น เพราะเป็นตัวช่วย Calibrate ระยะห่างระหว่างหัวฉีดกับฐานพิมพ์ รวมถึงเช็คความลาดเอียงของฐานพิมพ์ สำหรับเครื่อง MK3 นั้นมาพร้อมกับ เซนเซอร์ P.I.N.D.A รุ่นใหม่ ที่มีหัววัดอุณหภูมิติดมาด้วย สาเหตุที่ต้องมีหัววัดอุณหภูมิติดมาด้วยก็เพราะว่า พลาสติกแต่ละชนิดใช้ฐานความร้อนที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งความร้อนทำให้การวัดระยะหัวฉีดกับฐานไม่แม่นยำ เกิดการคาดเคลื่อน ซึ่งปัญหานี้จะเกิดกับเครื่องรุ่นเก่า MK2S สำหรับรุ่น MK3 นั้น จะใช้อุณหภูมิที่วัดได้จากฐาน มาเป็นอีกตัวแปรในการคำนวน ระยะของหัวฉีดกับฐาน ทำให้งานพิมพ์ชั้นแรกที่พิมพ์ มีความสูงที่ถูกต้องและเหมาะสม

ฐานพิมพ์แบบแม่เหล็ก

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ถือทำให้เครื่องพิมพ์ Original Prusa i3 MK3 ออกมาแล้วดู “ว้าวมาก” ก็คือฐานพิมพ์แบบแม่เหล็ก ที่ยกออกมาได้ ถือว่าเป็นอีกฟีเจอร์ที่ดีงามมากๆ เพราะทำให้การเอาชิ้นงานที่พิมพ์ออกมานั้นง่ายมากๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือ ไม่มีการเสียเลือด เหมือนเมื่อก่อน ตรงนี้ผมว่ามีหลายคนที่เคยเลือดออกเพราะการเอางานออกจากฐานพิมพ์ ข้อดีอีกอย่างก็คือ ไม่ต้องไปแซะงานออกจากเครื่อง ซึ่งการแซะงานออกบ่อยๆ อาจทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องพิมพ์ สีกหรอไวขึ้น หรือไม่ก็อาจจะทำให้โครงเครื่องบิดงอ เพราะการเอางานออกจากฐานพิมพ์แบบเดิม ต้องใช้แรงหรือการกระแทก เข้าไปที่ขอบชิ้นงาน เพื่อให้งานหลุดออกมาจากฐาน ซึ่งการทำแบบนี้ บางครั้งทำให้ผิวชิ้นงานเสีย

สำหรับฐานพิมพ์ของเครื่อง MK3 นั้น ทาง Prusa มีให้เลือกด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งแบบที่เจ๋งและดีที่สุด ก็คือแบบ Texture PEI Powder Coat ซึ่งตัวฐานจะมีพื้นผิวที่ขรุขระ ไม่เรียบ เวลาเอางานออกจากฐานพิมพ์ชนิดนี้ ผิวของชิ้นงานจะมี Texture เหมือนงานพ่นทราย ดูสวยงามไปอีกแบบ ใครนึกไม่ออก ลองดูหน้าจอเครื่อง Prusa ทั้ง MK2S และ MK3 พื้นผิวจะขรุขระไม่เรียบ เพราะใช้ฐานพิมพ์แบบนี้ ในการพิมพ์งาน

ผิวชิ้นงานที่ได้จากการพิมพ์บนฐานแบบ TXT PEI Powder Coat จะมีลักษณะขรุขระ

แต่ Texture PEI Powder Coat และ Glossy PEI Power Coat ตอนนี้ยังไม่สามารถส่งได้ เพราะติดปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิต ทาง Josef Prusa แจ้งมาว่า การผลิตจำนวนมาก ทำให้คุณภาพของฐานพิมพ์ชนิดนี้มีปัญหา ทำให้จัดส่งไม่ได้ พี่แกเลยส่ง ฐานพิมพ์อีกแบบที่เป็นแผ่น Smooth PEI film ติดบนฐานแทน ซึ่งจะใช้ฟิลม์ตัวเดียวกันที่ติดในเครื่องรุ่นเก่าอย่าง MK2S แตกต่างกันแค่ว่า ตัว MK3 ฐานมันยกออกมาจากเครื่องพิมพ์ได้ แค่บิดงานก็หลุดออกมา

แผ่นฐานพิมพ์ มีให้เลือกด้วยกัน 3 ซึ่งผิวงานด้านที่แปะกับฐานก็จะมีพื้นผิวต่างกัน

ในปัจจุบันแผ่นฐานสำหรับเครื่องปริ้น Prusa จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ Smooth Sheet PEI / TXT Powder Coat PEI และอันสุดท้ายที่ออกมาล่าสุดคือแผ่น Satin TXT Powder Coat PEI ซึ่งแผ่นแต่ละแบบ ก็จะเหมาะกับเส้นพลาสติกแต่ละประเภท

เมนบอร์ดใหม่ Einsy Rambo

จบจากฐาน ก็มาต่อที่มันสมองและหัวใจของเครื่องพิมพ์ MK3 ซึี่งก็คือ บอร์ดตัวใหม่ ที่เรียกว่า Einsy Rambo ซึ่งบอร์ดตัวนี้ ถือว่าเป็นบอร์ดเทพ มาพร้อมกับตัวขับมอเตอร์ TMC 2130 ที่สามารถขับมอเตอร์ให้เดินละเอียดได้ถึง 256 สเต็ป แถมยังมี SPI สามารถสื่อสารกับบอร์ดและรับรู้ถึงการชน หรือหลุดสเต็ปได้ ซึ่งปัญหานี้ ผู้ใช้บางคนอาจจะยังนึกไม่ออก ลองดูรูปด้านล่างของรีวิวนี้แล้ว จะเข้าใจเอง

ปัญหาหลุดสเต็ป ฝรั่งเรียก Layer Shift มันคืออาการที่งานพิมพ์ออกมา มันเหลื่อมกัน ไม่อยู่ในแนว อาจจะเกิดเพราะว่า หัวพิมพ์ไปเตะโดนชิ้นงาน หรือไม่ก็เกิดไฟกระชาก ทำให้งานที่กำลังพิมพ์หลุดออกจากแนวเดิม ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดกับเครื่อง MK3 เพราะถ้าเกิด ตัวมันสมองหรือบอร์ด Einsy จะรับรู้ก่อน แล้วสั่งให้หัวพิมพ์กลับไปสู่ตำแหน่งเริ่มต้น เพื่อทำการ Rehome ปรับตำแหน่ง X และ Y แล้วกลับไปพิมพ์งานต่อที่เดิม ความสามารถของบอร์ดตัวนี้ ทำให้เครื่อง Original Prusa i3 MK3 มีความฉลาดและล้ำกว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ยี่ฮ้ออื่นๆ

Brain for prusa MK3
มันสมองและหัวใจของเครื่อง Original Prusa i3 MK3

นอกจากนั้น ด้านหลังของบอร์ดตัวนี้ ยังสามารถใส่บอร์ด Raspberry Pi Zero เข้าไปได้ที่ตัวบอร์ดโดยตรง ซึ่งเมื่อใส่เข้าไปแล้ว ลงโปรแกรม Octoprint ก็จะทำให้เครื่องรุ่น MK3 สามารถสั่งงานผ่านระบบ Network และ Wifi ได้ รวมถึงสามารถต่อกล้อง เพื่อดูการพิมพ์งานแบบ Online

วิธีการเชื่อมต่อ Raspberry Pi กับบอร์ด Einsy เพื่อให้เครื่อง Prusa Mk3 ทำงานผ่าน Wifi ได้

ทดสอบฟีเจอร์ต่างๆของเครื่อง MK3

พิมพ์ต่อในกรณีไฟดับ

สำหรับฟีเจอร์นี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผมถูกถามบ่อยมากๆ สำหรับคนที่สนใจเครื่องพิมพ์ 3D Printer เพราะการพิมพ์งาน 1 ชิ้นนั้น บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์ กว่าจะเสร็จ 1 ชิ้น ซึ่งถ้าไฟดับ ก็ต้องเริ่มใหม่ แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดกับเครื่องพิมพ์ Original Prusa i3 MK3 เพราะว่า เครื่องสามารถกลับมาพิมพ์ต่อได้ถ้าไฟดับ

สำหรับการทดลองครั้งแรก ผมไม่รู้ นึกว่าแค่ปิดสวิตช์เครื่อง แล้วเปิดใหม่ก็น่าจะได้ แต่ลองทำดูแล้ว เครื่องไม่ยอมพิมพ์ต่อให้ เลยลองหาข้อมูลดู ซึ่งการทดสอบฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้ให้หาปลั๊กพ่วง แล้วเสียบเครื่องพิมพ์ผ่าน ปลั๊กพ่วงแทน เวลาจะลอง ก็ให้ปิดสวิตช์ที่ปลั๊กพ่วงแทน ไม่ต้องปิดที่เครื่อง พอใช้วิธีนี้ เครื่องพิมพ์ก็กลับมาพิมพ์ต่อให้เอง ซึ่งฟีเจอร์นี้จะมีการทำงาน 2 แบบ

แบบแรก คือไฟดับไม่นาน เครื่องจะกลับมาพิมพ์ต่อให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งการทำงานคือ หัวพิมพ์จะ Rehome กลับสู่ตำแหน่งเริ่มต้น แล้วทำความร้อนให้หัวฉีดกับฐาน เมื่ออุณหภูมิถึงที่กำหนด ก็จะกลับไปพิมพ์ต่อโดยอัตโนมัติ

Prusa-Mk3-Power-Panic
กรณีไฟดับนาน เครื่องจะถามว่าจะให้พิมพ์ต่อหรือไม่

แบบที่สอง คือไฟดับนาน สำหรับเคสนี้ พอไฟมาแล้ว ตัวเครื่องจะถามว่าให้พิมพ์ต่อที่เดิมหรือเปล่า ผู้ใช้ต้องเป็นคนเลือกว่าจะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ เพราะถ้าไฟดับนาน งานพิมพ์ที่ฐานอาจจะหลุดออกมา ไม่ติดกับฐาน ทำให้พิมพ์ต่อไป งานก็จะเสีย หรือไม่ก็ การพิมพ์ต่อในกรณีที่ไฟดับนานๆ งานที่พิมพ์จะเป็นรอยต่อระหว่างชั้น และถ้าพิมพ์ต่อ ช่วงรอยต่อ ก็จะไม่แข็งแรง ซึ่งตรงนี้ ผู้ใช้ต้องเป็นคนเลือก

เส้นพลาสติกหมดหยุดเอง

ฟีเจอร์นี้ ถูกใจหลายๆ คน เพราะเป็นฟีเจอร์ที่จำเป้นต้องมี มีแล้วทำให้ใช้พลาสติกได้อย่างคุ้มค่า ผู้ใช้หลายคนที่เคยใช้เครื่องปริ้น 3 มิติ อาจจะเคยเจอปัญหาที่ว่า มีพลาติกอยู่ในม้วนแต่ไม่รู้ว่าจะพอพิมพ์งานให้เสร็จหรือเปล่า ต้องตัดสินใจว่าจะพิมพ์ดี หรือไม่พิมพ์ดี บางครั้งตัดสินใจผิด งานไม่เสร็จ เพราะเส้นพลาสติกมันหมดก่อน

ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าใช้เครื่องพิมพ์ Original Prusa i3 MK3 เพราะเครื่องมีเซนเซอร์ตรวจจับเส้น ถ้าเส้นหมด เครื่องจะหยุดพิมพ์ แล้วจะมีเสียงเตือนดัง เพื่อเรียกให้ผู้ใช้ทำการเปลี่ยนเส้น เมื่อเปลี่ยนเสร็จ หัวพิมพ์ก็จะวิ่งกลับมาพิมพ์ต่อที่เดิมให้ สำหรับฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้จำเป็นต้องไปเปิดใช้ฟังค์ชั่นนี้ก่อนนะครับ ซึ่งการเปิดก็ลองดูวิดีโอที่ทาง Prusa แนะนำ ผมแปะไว้อยู่ด้านล่างของรีวิวนี้

ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Original Prusa i3 Mk3 แล้ว พลาสติกจะสามารถใช้ได้หมดม้วน คุ้มค่ามากๆ

สำหรับการตรวจจับเส้นพลาสติกนั้น ตอนนี้ทาง Prusa ออกมาบอกว่า มีเส้นพลาสติกบางสีที่ไม่สามารถตรวจจับได้ เช่นสีใส หรือสีที่โปร่งแสงบางสี ซึ่งตรงนี้ทาง Prusa ก็จะค่อยๆ ปรับปรุงในส่วนของเฟริมแวร์เพื่อให้ฉลาดมากขึ้น สำหรับใครที่ลองแล้ว ได้บางไม่ได้บาง อาจจะต้องดูในเรื่องของฝุ่นด้วย เพราะบางที่อาจจะมีฝุ่นไปเกาะที่เซนเซอร์ ซึ่งก็ต้องมีการถอดออกมาทำความสะอาด

มอเตอร์หลุดสเต็ปหรือ Layer Shift

สำหรับฟีเจอร์นี้ เป็นการตรวจเช็คกระแสไฟที่มอเตอร์ ซึ่งการที่มอเตอร์จะหลุดสเต็ปได้ อาจจะเกิดการชนของหัวพิมพ์กับชิ้นงาน ทำให้มอเตอร์ขยับออกจากจุดที่พิมพ์ พอมอเตอร์ชน หรือมีอะไรมาขัดไม่ให้มอเตอร์มันหมุน ก็จะเกิดการเรียกกระแสไฟเพิ่ม เพื่อให้มอเตอร์พยายามวิ่งต่อไปได้ ซึ่งการเกิดกระแสตรงนี้ ทำให้เครื่องพิมพ์รู้ว่า มีการวิ่งที่ผิดปกติ จำเป็นต้องทำการปรับตำแหน่งมอเตอร์ใหม่ เครื่องก็จะสั่งให้หัวพิมพ์กลับไป Rehome หรือตำแหน่งเริ่มต้น เพื่อปรับตำแหน่ง X และ Y ให้กลับมาเหมือนเดิม เสร็จแล้วค่อยกลับไปพิมพ์งานต่อที่เดิม

งานพิมพ์ใกล้เสร็จแล้ว แต่่เกิด Layer Shift ก่อนงานจะเสร็จ ถ้าใช้เครื่อง Prusa MK3 ปัญหานี้จะไม่เกิด

การทดสอบฟีเจอร์นี้ ก็แค่เอามือไปจับที่แกนแล้วให้มอเตอร์มันเดินมาชนที่มือ ห้ามขยับมือตอนที่ชน ใครนึกไม่ออกลองดูวิดีโอด้านล่าง ถ้าทำได้ หัวพิมพ์จะกลับไป Rehome และกลับมาพิมพ์ต่อเอง โดยอัตโนมัติ สำหรับฟีเจอร์ ทาง Josef ผุ้คิดเครื่อง Original Prusa ได้ออกมาบอกว่า ถ้างานพิมพ์เล็กๆ ที่ทางเดินสั้นๆ อาจจะทำไม่ได้ ให้ทดลองกับงานพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ ส่วนการผลักมอเตอร์ให้เดินสวนทางนั้น จะไม่ทำให้ฟังค์ชั่นนี้ทำงาน

สำหรับใครที่มีเครื่องแล้วอยากลองฟีเจอร์เหล่านี้ดู ทาง Josef Prusa ก็ได้ทำวิดีโอ ที่เอาไว้ทดสอบกับเครื่อง Original Prusa i3 MK3 อย่างถูกวิธี

บทสรุปเครื่องปริ้น Original Prusa i3 MK3

สำหรับเครื่อง Original Prusa i3 MK3 นั้น ผมถือว่าเป็นเครื่องที่กำหนดมาตรฐานให้กับเครื่องปริ้น 3 มิติยี่ฮ้ออื่่นๆต้องทำตาม  เพื่อให้ฟีเจอร์เหล่านี้เป็น ฟังค์ชั่นมาตรฐาน ที่เครื่องพิมพ์ 3D Printer ควรจะมี เพราะจะช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้งานเครื่องปริ้น 3 มิติดีขึ้น และง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวล หรือคอยมานั่งเฝ้า นั่งดูว่างานจะพิมพ์เสร็จไหม

สำหรับใครอ่านถึงตรงนี้แล้ว คงตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะซื่อเครื่องรุ่นนี้ดีไหม ถ้าถามผมว่า คุ้มไหม ผมบอกเลยว่า “โคตรคุ้ม”  สาเหตุที่คุ้มเพราะ เครื่อง Original Prusa i3 MK3 เป็นเครื่องที่ราคาไม่แพง แต่อัดเต็มมาด้วยฟีเจอร์เทพๆ นอกจากนั้นส่วนที่คุ้มที่สุด สำหรับเครื่องพิมพ์ Prusa คือ พื้นที่พิมพ์งาน ที่พิมพ์ได้ใหญ่สะใจ มีพื้นที่พิมพ์ใหญ่ถึง 25 x 21 x 21 เซนติเมตร ทั้งหมดนี้ซื้อได้ในราคา 49000 บาท

ส่วนลูกค้าคนไหนที่เคยซื้อเครื่อง Original Prusa i3 MK2S ที่เป็นรุ่นเก่า แต่อยากได้ฟีเจอร์อย่าง MK3 บ้าง ทาง Josef Prusa ก็ได้ทำชุด Upgrade สำหรับเครื่องรุ่น MK2S เปลี่ยนเป็นรุ่น MK2.5 ได้ ซึ่งฟีเจอร์ที่ได้ ก็จะมี เซนเซอร์ตรวจจับเส้น และก็ฐานพิมพ์แบบแม่เหล็ก ยกออกมาได้ ส่วนบอร์ดยังต้องใช้ตัวเก่า รวมถึงฟังค์ชั่นไฟดับ พิมพ์ต่อ จะไม่มี สำหรับชุด Upgrade เป็น MK 2.5 ลูกค้าต้องพิมพ์ชิ้นส่วน พลาสติกบางส่วนขึ้นเอง เพราะทาง Prusa จะส่งมาแค่ เซนเซอร์ และอุปกรณ์เท่านั้น

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ตอนนี้เครื่อง Prusa รุ่น MK3 ได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันเป็นรุ่น MK3S+ แล้ว ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างทั้ง 2 รุ่น ที่เห็นชัดก็คือ

  1. เซนเซอร์วัดฐานที่รุ่น MK3S+ จะใช้เป็น Super PINDA ที่ให้ความแม่นยำในการวัดฐานได้ดีและละเอียดมากขึ้น
  2. ตัวเซนเซอร์ตรวจจับเส้นพลาสติก ที่เปลี่ยนจากการใช้แสงในการตรวจจับ เปลี่ยนไปใช้สวิตช์ก้ามปูแทน ที่มีความเสถียร และมากกว่าตัวจับเซนเซอร์แบบแสง
  3. ปริ้นพาร์ทที่เป็นชุดใส่หัวฉีด ถูกดีไซน์ใหม่ ให้ทั้งชุดใกล้กับตัวแกนขับเคลื่อนมากขึ้น เพื่อเวลาพิมพ์ หัวจะไม่สั่น เพราะถูกเปลี่ยนไปใกล้กับแกน
  4. ตัวล็อคแกนลูกปืนของชุดขับเคลื่อนแกน Y ไดเ้ปลี่ยนจากพาร์ที่พิมพ์จากพลาสติก เป็นเหล็กแทน

ทั้งหมดนี้คือจุดที่แตกต่างกันระหว่างเครื่อง MK3 และ MK3S+ ซึ่งถ้าใครใช้เครื่องรุ่น MK3 อยู่ ก็สามารถที่จะ Upgrade เปลี่ยนเป็นรุ่น MK3S+ ได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 4,000 บาท แต่ถ้าใครยังใช้ MK3 อยู่แล้วยังพิมพ์งานได้สวย เครื่องไม่มีปัญหา ก็ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน สำหรับเครื่อง Original Prusa ที่ทางร้านขายในปัจจุบัน ตอนนี้จะเป็นรุ่น MK3S+ ทั้งหมด

ถ้าใครอ่านรีวิวนี้จบและสนใจเครื่อง ก็สามารถมาดูเครื่องมาชมได้ที่บริษัท สยามเรปแรป จำกัด ทางร้านมีที่จอดให้นะครับ จอดได้ทีหน้าร้านเลย จอดฟรี 2 ชั่วโมง ใครไม่สะดวกมา ก็โทรมาถามข้อมูลได้ที่เบอร์ 089-8160651 

Similar Posts