5 ข้อควรรู้ก่อนที่จะซื้อหรือใช้งานเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA

สำหรับบทความนี้ผมเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เคยได้สร้างเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA และเคยใช้เครื่องแบบนี้ในหลายๆยี่ฮ้อ ซึ่งที่มาของการเขียนบทความนี้ ก็เพราะว่า ตอนนี้ราคาของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ระบบ SLA นั้น มีราคาที่ถูกลงมาก ถ้าเทียบเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นในเรื่อง สิทธิบัตรของเทคโนโลยีตัวนี้นั้น หมดอายุลง ทำให้มีนักประดิษฐ์หลายๆคน สร้างเครื่องขึ้นมาใช้เอง และก็แจกจ่ายขั้นตอนการสร้าง รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมเครื่องพิมพ์ ออกไปสู่โลก Online ทำให้มีผู้นำไปสร้างและพัฒนาต่อยอด จนทำให้เครื่องพิมพ์ระบบ SLA เริ่มเป็นที่รู้จักและเริ่มนิยมมากขึ้น ในปีนี้

ซึ่งการเดินทางของเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA นั้นก็จะคล้ายกับการมาของเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ FDM (เครื่องพิมพ์ ที่ใช้หลักการฉีดพลาสติกในการขึ้นรูปโมเดล 3 มิติ) ซึ่งผมเชื่อว่า 3D Printer ระบบ SLA จะเป็นอีกเครื่องที่หลายๆคน จะซื้อเอาไว้มาใช้งาน เพราะความละเอียดในการพิมพ์ ที่มีมากกว่าเครื่องพิมพ์ระบบ FDM

สำหรับใครที่เพิ่งเข้ามาอ่าน อาจจะกำลังงง ว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ FDM คืออะไร? SLA คืออะไร? แล้วมันต่างกันอย่างไร ใครไม่รู้ ก็เข้าอ่านบทความที่ผมเคยเขียนไว้

large print sla 3d printer
ชิ้นงานที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ระบบ SLA ที่หมึกที่ใช้พิมพ์จะเป็นของเหลว ทำให้พิมพ์งานได้เละเอียดมาก

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า สำหรับคนที่คุ้นเคยกับ 3D Printer ระบบ FMD อยู่แล้ว จะรู้ข้อจำกัดของเครื่องพิมพ์ประเภทนี้ คือ ไม่สามารถพิมพ์งานที่มีรายละเอียดมากๆได้ เนื่องมาจากขนาดรูของหัวฉีด และความร้อนที่สะสมเวลาพิมพ์งาน ทำให้บางครั้งอยากจะออกแบบโมเดลที่มีรายละเอียดเยอะๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเครื่องมันไม่สามารถพิมพ์ได้ หรือบางครั้งอยากพิมพ์งานที่ความละเอียดสูง เอาแบบไม่ให้เห็นรอยต่อระหว่างเลเยอร์ ก็ต้องใช้เวลาพิมพ์นานมากๆ เหตุผลเหล่านี้ทำให้หลายๆคน มองหาเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA

compare the detail of SLA vs FDM

หลายๆคนอาจะไม่เคยรู้ว่า เมื่อประมาณ 2015 ผมเคยสร้างและขายเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA เป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า FUSE ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ผมขายจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมจิวเวลรี่เป็นหลัก ซึ่งหลังจากขายไป ผมก็ได้เจอปัญหามากมาย ไม่ใช่ว่าเครื่องไม่ดีนะครับ แต่เป็นเพราะว่าเรายังไม่เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ตอนแรกผมคิดว่า การออกแบบจิวเวลรี่นั้นต้องการแค่ดีไซน์ ไม่ได้ต้องการขนาดหรืออะไรมากมาย ซึ่งพอได้ผ่านมา รู้เลยว่า วงการจิวเวลรี่นั้นเป็นวงการที่เคี่ยวมากๆ ดูงานแต่ละครั้ง ต้องเอากล้องขยายมาส่องงาน แถมงานที่มีรูสำหรับฝังพลอยเล็กๆ ยังต้องมีขนาดที่ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งเครื่องพิมพ์ SLA ที่ผมขายไปนั้น เรื่องความละเอียดในการพิมพ์นั้นผ่านแบบไม่ต้องคิด แต่ติดเรื่องขนาดรูฝังพลอย และก็เรซิ่นที่ใช้พิมพ์ ที่ไม่สามารถนำไปหล่อได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนถอดแบบซิลิโคนอีกทีหนึ่ง ทำให้ต้องทำงานหลายขั้นตอน

เครื่อง Fuse ที่ทางบริษัททำขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องพิมพ SLA ที่ผลิตโดยคนไทย เครื่องแรกเลยก็ว่าได้

มากไปกว่านั้น Software ที่ใช้ในการ Slice ในสมัยนั้น มีกระบวนการที่ยุ่งยากมากๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องทำงานผ่านโปรแกรมหลายตัว กว่าจะได้ไฟล์สำหรับพิมพ์งาน ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้มากๆ ที่มีโปรแกรมให้เลือกเยอะ แถมยังง่ายต่อการใช้งานอีกด้วย

หลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์ทั้งการสร้างเครื่องและขายเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA ก็เลยอยากเอาประสบการณ์ที่ได้มาแบ่งปัน เพื่อให้คนที่มีความคิดที่จะซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA ได้อ่าน เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ หรือถ้าเป็นคนที่ไม่เคยใช้งาน แต่ได้สั่งซื้่อเครื่องไปแล้ว ก็สามารถเข้ามาอ่าน เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมใจในการรับมือ สำหรับการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA

1. รู้หรือยังว่าเครื่องพิมพ์ระบบ SLA สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท?

คำว่า SLA ย่อมาจาก Stereolithography ซึ่งใช้หลักการในการฉายภาพลงบนวัสดุที่เป็น Photo Polymer ซึ่งใน 3D Printer วัสดุตัวนี้คือเรซิ่นที่อยู่ในรูปของเหลว เมื่อเรซิ่นโดนแสงในช่วงความยาวคลื่น UV หรือแสงสีม่วง ส่วนที่โดนแสงก็จะเกิดการแข็งตัว ส่วนที่ไม่โดนแสงก็ยังอยู่ในรูปของเหลวต่อไป ซึ่งการฉายภาพลงเรซิ่นนั้นก็มีด้วยกัน 2 แบบคือ ใช้โปรเจคเตอร์ฉายรูปภาพลงไปบนเรซิ่น กับอีกวิธีคือใช้เลเซอร์วาดภาพลงไปบนเรซิ่น ลองสังเกตุคำที่ผมใช้นะครับ ฉายภาพกับวาดภาพ ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างในเรื่องของความเร็วในการพิมพ์ การฉายภาพจะเร็วกว่าการวาดภาพ เพราะการฉายภาพสามารถสร้างรูปขึ้นมาได้เลย แต่การวาดภาพนั้น ต้องมีการวาดขอบชิ้นงานและค่อยมาระบายด้านในให้มันทึบ ถ้านึกไม่ออก การวาดภาพก็คือการพิมพ์ 3 มิติแบบ FDM ที่หัวฉีดจะฉีดขอบชิ้นงานก่อน แล้วค่อยมาเติมพลาสติกด้านใน ใครนึกไม่ออกลองดูภาพด้านล่าง

info graphic how sla 3d printer work

ถ้าใครพอเข้าใจหลักการแล้ว จะทำให้รู้เลยว่า หลักการฉายภาพจะพิมพ์ได้เร็วกว่าการวาดภาพ สำหรับเครื่องที่ใช้หลักการฉายภาพนั้น จะใช้โปรเจคเตอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงและใช้ Chip DLP (Digital Lighting Process) ในการสร้างภาพ ซึ่งเครื่องที่ใช้เทคนิคนี้ได้แก่ B9 Creator, MakeX, Kudo3D รวมถึงเครื่อง Fuse ที่ผมเคยสร้าง แต่ในปัจจุบันได้มีนักประดิษฐ์ดัดแปลงเอาหน้าจอ LCD มาใช้เป็นแหล่งกำเนิดภาพ แล้วเปลี่ยนหลอด LED ที่อยู่ด้านหลังให้เป็นหลอด UV LED เพื่อใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง เพื่อให้เรซิ่นแข็งตัว ซึ่งตามหลักการแล้ว หน้าจอ LCD กับโปรเจคเตอร์ DLP นั้นสามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ เพราะเวลาพิมพ์งานนั้น LCD และ DLP จะเป็นการฉายภาพขึ้นมาทีเดียว นอกจากนั้นสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างก็คือ เม็ด Pixel ที่อยู่ในจอ LCD และ Chip DLP ที่ใช้ในการแสดงภาพออกมา

ซึ่งปัญหาของเครื่องพิมพ์ SLA ที่ใช้ DLP Projector หรือ LCD ก็คือ Uniformity หรือ แสงที่สว่างไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ อันนี้ยกตัวอย่างง่ายๆ กับ ทีวี LED หรือ Projector ที่เราไว้ดูหนังกัน เคยสังเกตุไหมว่า ภาพที่ฉายนั้น จะสว่างไม่เท่ากัน บางยี่ฮ้อ ตรงกลางสว่างกว่าขอบ บางยี่ฮ้อตรงขอบสว่างกว่าตรงกลาง หรือบางครั้งก็มีแสงลอดออกมาตรงขอบ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหามากเวลาพิมพ์งาน เพราะจะพิมพ์งานได้ไม่เต็มพื้นที่ เรซิ่นจะแข็งตัวไม่พร้อมกัน ตรงไหนสว่าง ตรงนั้นจะแข็งก่อน ถ้าปรับเวลาให้ฉายภาพนานขึ้น เพื่อให้ตรงขอบแข็ง ตรงส่วนทีสว่างมากก็จะไหม้และติดกับฐาน ทำให้งานพิมพ์เสีย แถมถาดก็เสียด้วย ซึ่งตรงนี้ ถ้าเป็นเครื่องระดับอุตสาหกรรม ก็จะมีฟังค์ชั่นที่เรียกว่า Masking ซึ่งใช้หลักการ การวัดแสงสว่าง ในแต่ละส่วนของพื้นที่การพิมพ์ แล้วเอาค่าที่ได้ มา Mask เพื่อให้แสงนั้นสว่างเท่ากันในทุกพื้นที่ ใครอยากรู้รายละเอียด เอาไว้คราวหน้า ผมจะมาบอกเทคนิคและวิธีการสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA

cloudy on PDMS VAT tray
ฝ้าขาวๆ คือรอยไหม้ที่เกิดจากการยิงเลเซอร์หรือฉายภาพตรงจุดนั้นบ่อยๆ

สำหรับหลักการวาดภาพนั้น แหล่งกำเนิดแสงจะเป็นเลเซอร์สีม่วง ที่มีความยาวคลื่นในช่วงของแสง UV และใช้ Galvanometer เป็นตัววาดให้แสงวิ่งเป็นรูป ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออก ก็ลองไปเที่ยวผับ หรือคอนเสริต์ ที่มีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาเป็นรูป สำหรับเครื่องที่ใช้เทคนิคนี้คือ Form2, XFab, XYZ 

ซึ่งข้อเสียของเครื่องพิมพ์ระบบ SLA ที่ใช้เลเซอร์ก็คือ Distortion ตรงขอบ ซึ่งถ้าจูนเครื่องมาไม่ดี เวลาพิมพ์รูปสีเหลี่ยม เต็มพื้นที่ ตรงมุมจะเว้าหรือไม่ก็ป้านออก ไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ถ้าเครื่องที่จูนหรือ Calibrate มาดี ปัญหาในเรื่องนี้จะไม่เกิด ส่วนเรื่องถาดน้ำยาไหม้ เครื่องประเภทนี้ก็ทำถาดไหม้ได้เหมือนกัน แต่จะช้ากว่าเครื่องพิมพ์ SLA ระบบ DLP

หลักการทำงานของเครื่อง SLA ที่ใช้เลเซอร์

ข้อแตกต่างระหว่าง 2 เทคโนโลยี  ระหว่าง SLA และ DLP

ถ้าเป็นระบบ DLP พื้นที่ในการพิมพ์จะมีขนาดเล็ก แต่ความละเอียดในการพิมพ์จะมีมาก สามารถเก็บรายละเอียดงานได้ดี เหมาะกับงานที่ต้องการรายละเอียดมากๆ เทียบกันง่ายๆคือ ถ้าต้องการขนาดจุด Pixel ที่ 50 ไมครอน พื้นที่การพิมพ์ จะอยู่ที่ 9.6 x 5.4 เซนติเมตร แต่โปรเจคเตอร์ที่ใช้ต้องเป็น Full HD ที่ขนาด 1920 x 1080  ส่วนระบบ Laser นั้น พื้นที่ในการพิมพ์จะใหญ่ ส่วนความละเอียดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดจุดของเลเซอร์ ยิ่งเล็กก็จะยิ่งละเอียด สำหรับเครื่องพิมพ์ SLA Form 2 ที่ผมใช้อยู่ จุดเลเซอร์จะมีขนาดเล็กประมาณ 140 ไมครอน แต่พื้นที่การพิมพ์ 14.5 x 14.5 เซนติเมตร แต่ข้อดีของเครื่องระบบ SLA ที่ใช้เลเซอร์ก็คือ ขอบชิ้นงานจะเรียบเนียนไม่เป็นรอยขั้นบันได ซึ่งต่างจากเครื่องพิมพ์ระบบ DLP หรือ LCD ที่ชิ้นงานจะเห็นเป็นขั้นๆ ซึ่งรอยตรงนี้เกิดมาจาก รูปสี่เหลียมของเม็ด Pixel ที่เรียงต่อกัน

รูปเปรียบเทียบระหว่างพิมพ์เครื่อง SLA ที่ใช้เลเซอร์ กับพิมพ์ด้วยเครื่องที่โปรเจคเตอร์ DLP (ภาพจาก Formlabs)

2. รู้หรือยังว่าเรซิ่นที่ใช้นั้นเป็นสารก่อเกิดมะเร็ง?

ใครอ่านข้อนี้อาจจะกลัว หรือไม่กล้าใช้เครื่อง แต่ผมขอบอกเลยนะครับ การใช้เครื่องจักรทุกชนิด มันก็มีอันตรายได้หมด แค่ว่าเราจะเตรียมตัวรับมือกับมันแค่ไหน ซื้อเครื่องมาเคยอ่านคู่มือการใช้งาน หรือข้อควรระวังกันหรือเปล่า เพราะขนาดเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ FDM นั้น การพิมพ์พลาสติกจำพวก ABS ก็จำเป็นต้องอยู่ในที่อากาศถ่ายเท เพราะการพิมพ์จะก่อให้เกิดฝุ่นเล็กๆ ขณะพิมพ์

การทำงานหรือสัมผัสกับเรซิ่น ต้องใส่ถุงมือไนไตรด์กับแว่นพลาสติกป้องกันดวงตาทุกครั้ง (ภาพจาก Youtube ช่อง Uncle Jessy)

สำหรับเรซิ่นที่ใช้ในการพิมพ์นั้น จำเป็นต้องใส่ถุงมือทุกครั้ง ที่มีการสัมผัส ไม่ควรสัมผัสกับเรซิ่นโดยตรง และควรใส่แว่นตาป้องกันทุกครั้ง เพื่อป้องกันการกระเด็นของน้ำยา นอกจากนั้นเรซิ่นบางตัว มีกลิ่นที่แรง ผมเคยใช้เรซิ่นแบบหล่อได้ของจีน กลิ่นตอนใช้งานนั้น เล่นเอาปวดหัวกันเลย ดังนั้นถ้าจะใช้เครื่องก็ควรจะป้องกันตัวเองด้วย หรือถ้าให้ดีก็ขอ MSDS หรือ Material Safety Data Sheet ของผู้ผลิตเรซิ่นมาด้วย ถ้าเจ้าไหนไม่มีให้ก็อย่าเสี่ยง

ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ ถ้าเรซิ่นมีการสัมผัสกับผิวหนังแล้ว เวลาทำความสะอาด ห้ามใช้แอลกฮอล์หรือ IPA ล้างโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เรซิ่นเจือจางและซึมเข้าสู่ร่างกายหรือผิวหนังได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าจะล้าง ให้ใช้น้ำเปล่าล้างจะดีที่สุด

3. รู้หรือยังว่าการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA นั้นโคตรเลอะเทอะ?

how to rinse form 2 resin

สำหรับใครที่ซื้อเครื่องหรือกำลังจะซื้อเครื่อง ก็ขอให้เตรียมสถานที่ ที่ใกล้กับก็อกน้ำ แล้วก็เตรียมทิชชู เอาไว้เยอะๆหน่อย เพราะเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA ส่วนใหญ่ ต้องเติมน้ำยาเรซิ่นเอง บางครั้งพิมพ์งานเสีย ก็ต้องเทน้ำยาเรซิ่นออกจากถาด ซึ่งตรงนี้ขอบอกเลยว่าเลอะเทอะมาก เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนใช้เครื่องพิมพ์ระบบ SLA ต่อให้เป็นเครื่องที่มีระบบเติมน้ำยาเองอย่าง Form2 หรือ XYZ ก็ยังหนีไม่พ้นกับความเลอะเอะ นี่ขนาด Form2 ที่ผมใช้เขามีชุดล้างชิ้นงานแถมมาด้วย ผมก็ว่ายังเลอะเทอะอยู่ดี แต่น้อยกว่าพวกเครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่ไม่มีชุดล้างมาให้เลย ส่วนที่เลอะก็คือ ตัวน้ำยาที่เอาไว้ใช้ล้างชิ้นงานเรซิ่น อันนี้ผมใช้ IPA ซึ่งเวลาล้าง ตัวเรซิ่นก็จะถูก IPA ล้างออกด้วย ซึ่งตัว IPA นั้นถ้าเปิดฝา มันก็จะระเหย ซึ่งพอมันระเหย มันก็จะทิ้งคราบเหนียวที่มาจากเรซิ่นเอาไว้ เอาง่ายๆ ผมเคยเอา IPA ที่ล้างเรซิ่น เทลงไปในอ่างล้างมือ วันรุ่นขึ้นผมก็จะเจอคราบเหนียวๆ ติดอยู่ที่อ่าง กว่าจะถูเอาคราบเหนียวออกหมด ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน ดังนั้นคนที่จะใช้เครื่องก็เตรียมตัวในส่วนนี้กันด้วย อีกอย่างนะครับ ตัว IPA นั้นสามารถติดไฟได้ ก็ควรที่จะปิดฝา ป้องกันไอระเหยออกมา

เครื่องล้างและอบเรซิ่น ของบริษัท Formlabs

สำหรับในปัจจุบันนี้ มีหลายบริษัทที่ได้ออกเครื่องสำหรับล้างเรซิ่น ทำให้การใช้งานตรงนี้สะดวกยิ่งขึ้น และก็เลอะเทอะน้อยลง ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครอยากใช้หรือต้องใช้เครื่องพิมพ์เรซิ่นจริงๆ ก็ควรจะซื้อพวกเครื่องล้าง พวกนี้ไปด้วย เพราะจะทำให้สถานที่ของเรา ไม่เหนียวหรือเลอะไปด้วยคราบเรซิ่น เวลาทำความสะอาด ก็แค่ทำความสะอาดตรงส่วนเฉพาะเครื่องล้าง

4. รู้หรือยังว่าเครื่องพิมพ์ระบบ SLA นั้น ไม่ได้ใช้งานง่าย ดังนั้นอย่าคาดหวังมาก?

สำหรับข้อนี้ ผมนึกคำพูดที่จะเขียนไม่ออก เอาประมาณว่า กว่าจะพิมพ์งานได้ คุณอาจจเสียเรซิ่นไป 1 ขวด งานก็ยังพิมพ์ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะเกิดกับเครื่องประเภท DIY หรือเครื่องที่ผู้ผลิตเอาแต่ขายเครื่องอย่างเดียว แล้วโชว์แต่ภาพงานพิมพ์ที่เสร็จ ไม่ได้บอกเรซิ่นที่ใช้ รวมถึงค่าต่างๆ ที่ใช้พิมพ์ ยิ่งเป็นเครื่องที่บอกว่าสามารถใช้กับเรซิ่นยี่ฮ้ออะไรก็ได้ อันนี้น่ากลัวหน่อย เพราะว่าการตั้งค่า เรซิ่นแต่ละตัวนั้นไม่เหมือนกัน บางตัวแข็งเร็ว บางตัวแข็งช้า ซึ่งตรงนี้ ผู้ใช้ต้องเป็นคนตั้งค่าเอง เรียกได้ว่าลองผิดลองถูกเอาเอง ซึ่งปัญหาไม่ได้มีแค่ตรงนี้ บางครั้งหาค่าเจอแล้ว พิมพ์งานออกมาได้ สวยเลย แต่พอจะมาพิมพ์ครั้งต่อไป ตั้งค่าเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่พิมพ์ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ ผมกล้ารับประกันเลยว่าต้องเจอแน่ๆ เพราะปัญหานั้นอาจจะไม่ได้เกิดจากเรซิ่น อาจจะมาจากการตั้งระดับฐานพิมพ์ที่ไม่ได้ระนาบ หรือไม่ก็ฟิลม์หรือซิลิโคนที่เคลือบบนถาดใส่น้ำยาเสื่อมสภาพ

3 failed print tower
เครื่องบางรุ่น กว่าจะหาค่า Setting ต่างๆเจอ ก็อาจจะต้องลองแล้งลองอีก หมดเรซิ่นไปหลายขวดก็เป็นได้

ลูกค้าเคยมาเล่าให้ฟังว่า เสียน้ำยาไป 1 ขวด กับถาดอีก 2 ใบ ยังพิมพ์งานไม่ได้เลย ต้องยกเครื่องมาให้ผมดู ผมเลยแนะนำไปตามประสบการณ์ทีผมเจอ ซึ่งกว่าผมจะใช้เครื่องได้ ก็ลองผิดลองถูกอยู่หลายวัน นี่ขนาดผมใช้เครื่องมาหลายแบบ ยังต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่ สรุปแล้วคือ อย่าคาดหวังมากว่า ซื้อเครื่องมาแล้วจะพิมพ์งานได้เลย มันต้องมีการลองผิดลองถูก และทำความเข้าใจกับมันก่อน ยิ่งคุณเข้าใจมากเท่าไหร่ งานพิมพ์ก็จะเสียน้อยเท่านั้น แถมงานออกมาดีด้วย

5. รู้หรือยังว่าถาดใส่น้ำยาหรือฟิลม์ที่ขึงอยู่นั้น ต้องมีการเปลี่ยน เมื่อใช้งานไปนานๆ

example of broken VAT
ถาดหรือ VAT เป็นส่วนที่ใส่น้ำยาเรซิ่น อุปกรณ์นี่ต้องดูแลและคอยเปลี่ยน

สำหรับถาดใส่น้ำยานั้นถื่อว่าเป็นหัวใจของเครื่องพิมพ์ระบบ SLA เลยก็ว่าได้ เพราะถาดน้ำยาจะมีการใช้ฟิลม์ FEP หรือไม่ก็มีการเคลือบ Silicone เอาไว้ ป้องกันเรซิ่นที่แข็งตัว ติดกับถาด ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจของเครื่องพิมพ์ระบบ SLA เพราะถ้าเรซิ่นติดกับถาดใส่น้ำยา งานที่พิมพ์ก็จะเสีย ดังนั้นถาดใส่น้ำยาจึงต้องมีการดูแลรักษา ห้ามมีรอยขีด เพราะจะทำให้กระทบกับงานที่พิมพ์ ซึ่งถาดใส่น้ำยาพวกนี้ ถ้าเคลือบ Silicone พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นฝ้าขาว ฝรั่งเรียก Cloudy ยิ่งถ้าฝ้าขาวมาก ก็จะพิมพ์งานตรงนั้นไม่ได้ ต้องย้ายจุดพิมพ์ ไปพิมพ์ที่อื่น สำหรับถาดที่ใช้ฟิลม์ FEP เมื่อใช้ไปนาน ฟิลม์ที่ขึงก็จะเริ่มหย่อน เพราะโดนงานที่ติดอยู่ดึง ทำให้ต้องเปลี่ยนฟิลม์ ซึ่งการใส่ฟิลม์ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะต้องมีการขัน เพื่อให้ฟิลม์ตึงเท่ากัน ในทุกๆจุด ถ้าตึงมากไป ฟิลม์ก็อาจจะขาด และทำให้เรซิ่นหกลงไปในเครื่อง แต่ถ้าฟิลม์ไม่ตึง ก็จะทำให้พิมพ์งานไม่ติด

สำหรับเครื่องที่ใช้แผ่น Film FEP ก็ต้องคอยดูเรื่องรอยและความตึงของฟิลม์

สำหรับคนที่เข้ามาอ่านแล้วรู้สึกกลัว ไม่กล้าใช้ หรือกลัวใช้ไม่เป็น ผมบอกเลยว่า ถ้าคุณเตรียมใจและเตรียมพร้อม การใช้เครื่องพิมพ์ระบบ SLA ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด อยู่ที่ว่าคุณเข้าใจมันมากแค่ไหน แต่สิ่งที่คุณจำเป็นต้องเตรียมไม่ว่าเครื่องที่คุณซื้อจะมีราคาหลักหมื่น หรือหลักล้าน คุณต้องเตรียมในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นสื่งที่สำคัญที่สุด

ส่วนคนที่คิดว่าอยากจะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA แบบง่ายๆ เลอะเทอะน้อย งานพิมพ์เสถียร ไม่ต้องมานั่งปวดหัวในการตั้งค่าต่างๆ ผมก็ขอแนะนำ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form3 จาก Formlabs  เพราะมันเป็นเครื่องที่ใช้งานง่าย แถมเรซิ่นที่ใช้กับเครื่อง ก็มีมากตั้งแต่เรซิ่นธรรมดา จนถึงเรซิ่นที่ใช้ในงานวิศวกรรม ส่วนเรื่องของการตั้งค่านั้น ก็ไม่ต้องยุ่งยาก เพราะตัวเครื่องมีค่าสำเร็จรูป สำหรับเรซิ่นแต่ละชนิด เรียกได้ว่า โหลดงาน เลือกเรซิ่น เลือกความละเอียดแล้วก็พิมพ์ได้เลย แถมตัวเครื่องยังสามารถเก็บ Record ในการพิมพ์ได้ รวมถึงบอกสถาพถาดงานที่พิมพ์ ว่าควรพิมพ์งานตรงส่วนไหนของถาด งานจะได้ไม่เสีย รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

Similar Posts