ชำแหละ แกะรื้อ เครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 3 แบบตั้งโต๊ะระบบ SLA ที่ล้ำหน้าที่สุด

ในส่วนของบทความนี้ ผมขอบอกก่อนว่าเป็นพรีวิว ไม่ใช่รีวิวนะครับ เพราะทางผมยังไม่ได้เครื่อง แต่ได้โอกาสไปเห็นและแกะเครื่องก่อน จึงทำให้ผมสามารถเอามาพรีวิวได้ก่อน ส่วนใครมียังไม่รู้จักเครื่อง Formlabs ก็เข้าไปอ่านรีวิว เครื่องรุ่นก่อนหน้านี้ได้ เพื่อจะได้เข้าใจเทคโนโลยีและเครื่องของแบรนด์นี้ อ่านได้ที่นี่

ก่อนอื่นต้องของขอขอบคุณทาง Formlabs ที่ได้เชิญบริษัทไปร่วมงาน APAC Partner Summit ที่จัดขึ้นที่สิงค์โปร์ ซึ่งอันนี้เป็นงานที่ทาง Formlabs เชิญเหล่าบรรดา Distributor และ Reseller ที่อยู่ในเอเชีย เช่น จีน ไทย เวียดนาม สิงค์โปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงออสเตรเลีย เข้ามาพบปะและประชุม ถึงทิศทางของการทำธุรกิจของ Formlabs

งานจัดขึ้นที่ National Design Center ประเทศ สิงค์โปร์

นอกจากนั้นยังเปิดอบรมในเรื่องของการขาย การบริการรวมถึงการซ่อมเครื่อง Form 3 ที่เป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA ที่เพิ่งเปิดตัวไปในยุโรปและอเมริกา ซึ่งการอบรมที่ผมได้เข้ารวมก็จะมี Partner จากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย 3 บริษัท ได้แก่ สยาม เรปแรป, เซปทิลเลียน และก็ พริ้น 3 ดีดี

บรรยากาศในห้อง ที่มีเครื่อง Form 3 รอการรื้อและรอการแยกส่วน

การอบรมใช้เวลา 2 วัน ซึ่งวันแรกจะเกี่ยวกับการให้ความรู้กับ Partner ทั้งเรื่องของการขายและการให้บริการ รวมถึงทิศทางของบริษัท Formlabs ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร ซึ่งผมจะสรุปให้คร่าวๆว่า ตอนนี้ Formlabs ขายเครื่องไปได้มากกว่า 50,000 ตัวทั่วโลก มีสำนักงานอยู่ 7 แห่งทั่วโลก มีพนักงานรวมกันมากกว่า 500 คน  มีกำไรในการทำธุรกิจมากกว่า 100 ล้าน USD

สำหรับในช่วงบ่ายของวันแรก ก็จะมีการแชร์ประสบการณ์พนักงาน Formlabs และจาก Partner ของแต่ละะประเทศว่า เขานำเครื่องพิมพ์ Formlabs ไปขายในวงการไหนบ้าง รวมถึงปัญหาและการแก้ไขสำหรับเรซิ่นบางประเภท ที่เจอปัญหาบ่อยๆ อย่างเรซิ่น Castable Wax หรือที่เราเรียกกันว่า เรซิ่นหล่อได้ ซึ่งตอนฟัง Session นี้ ผมก็ได้ความรู้มามาก เดี๋ยวจะเขียนแล้วเอามาแชร์กัน เพื่อใครมีปัญหา ก็ลองเอาไปใช้เพื่อแก้ไขได้

สรุปรายละเอียดและทิศทางของบริษัท Formlabs

สำหรับวันสุดท้าย จะเป็นในส่วนของการรื้อและแกะเครื่อง Form 3 เพื่อจะดูว่า ต้องซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์อย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องขอบอกเลย ว่าทาง Formlabs เอาเครื่องใหม่แกะกล่อง ออกมาให้รื้อให้แกะแบบไม่ยั้ง แถมยังมีการบอกว่า วันนี้เป็นโอกาสที่คุณสามารถแกะหรือทำอะไรกับเครื่องก็ได้ ถ้าเครื่องเสีย ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องจ่ายตังค์ ซี่งตอนแกะ ก็มีคนทำทั้งชิ้นส่วนหัก รวมถึงน็อตหาย

หน้าจอ Touchscreen เครื่อง Form 3
ทุกชิ้นถูกถอดออก เพื่อให้ Partner ได้รู้วีธีการถอดและประกอบ

แวะมาดูเครื่อง Form 3L ที่พื้นที่พิมพ์ใหญ่ถึง 30 เซนติเมตร

ใหญ่ไม่ใหญ่ ลองดูกันเอาเอง แต่เสียดาย งานที่เอามาโชว์น้อยไปหน่อย

นอกจากจะมีการอบรมและเทรนกันแล้วทาง Formlabs ยังได้นำสินค้าตัวใหม่ล่าสุด แต่ยังไม่ออกวางขายมาโชว์ให้ดูด้วย นั่นก็คือเครื่อง Form 3L ซึ่งเป็นเครื่องปริ้น 3D ระบบ SLA ที่มีพื้นที่พิมพ์ใหญ่มาก ซึ่งตัวที่เอามาโชว์ ผมว่ายังเป็นตัวต้นแบบอยู่ ทำให้ชิ้นส่วนบางชิ้นดูแล้วยังไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ แต่ก็มีเอางานที่ปริ้นมาโชว์เหมือนกัน

ด้ามโกนหนวดที่ Formlabs ร่วมมือกับ Gillette

นอกจาก Form 3L แล้วยังมีสินค้าที่เอาเครื่องจาก Formlabs ไปผลิต อย่าง มีดโกนหนวด Gillette ที่ให้ลูกค้าสามารถดีไซน์ด้ามจับรวมถึงเลือกสีได้ ใครสนใจลองไปดูวิดีโอเปิดตัวได้

อีกสินค้าที่เอามาโชว์ก็คือ รองเท้า New Balance ที่พื้นรองเท้าด้านหลังนั้นพิมพ์ขึ้นมาจากเครื่อง Formlabs ซึ่งตรงนี้ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณ David Tan เขาเล่าว่า โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่ทาง Formlabs ทำร่วมกับ New Balance ซึ่งทาง Formlabs ได้พัฒนาเรซิ่นขึ้นมาเฉพาะสำหรับพื้นรองเท้าอันนี้ ซึ่งผมได้มีโอกาสได้จับ แต่ไม่ได่ใส่ แต่ผมมีแอบลองดึงดู อยากจะรู้ว่ามันจะขาดหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมแปลกใจมาก คือมันเหนียวมากๆ แถมนิ่มอีกด้วย ถ้าให้เห็นภาพ ผมว่ามันมีความคล้ายกันกับหมอน Memory Form ซึ่งทั้งนิ่มและเหนียว

รองเท้า New Balance ที่พื้นรองเท้าพิมพ์จากเครื่อง Formlabs
ลองกดด้วยมือดู สังเกตุว่ามันจะยุบลงไป และเด้งออกมา ถ้าปล่อยมือ

สำหรับชิ้นงานที่พิมพ์จากเครื่อง Form 3 ก็มีมาให้ดูเหมือนกัน แต่ไม่มาก แต่ผมสังเกตุได้อย่างนึงว่า มันดูเนียนและละเอียดขึ้นกว่าเดิม รวมถึงจุดที่ Support ไปแต่ก็เล็กลง ซึ่งตรงนี้ทาง ทีม Formlabs ก็บอกว่า ที่งานละเอียดขึ้นเป็นเพราะใช้เลเซอร์ที่มีขนาดเล็กลง จาก 140 ไมครอนเหลือ 85 ไมครอน

งานพิมพ์จากเครื่อง Form 3
รายละเอียดเล็กๆ สามารถขึ้นให้เห็นได้

เครื่องปริ้น Form 3 อัดเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่

ถาดใส่เรซิ่น ของเครื่อง Form 3 ที่ด้านล่างเป็นฟิลม์ ขยับขึ้น-ลงได้

สำหรับเครื่อง Form 3 ที่ผมเห็นมานั้น ต้องบอกเลยว่า ทาง Formlabs นั้นลงทุนไปกับเครื่องรุ่นนี้มาก เพราะชิ้นส่วนที่ใช้นั้น มีทั้งอลูมิเนียมฉีด ฝาครอบเครื่องแบบหุ้มทั้งตัว รวมไปถึงหน้าจอ Touch Screen ที่ใช้กระจกแผ่นเดียว ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังแบบไม่เจาะลึก ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

เครื่อง Form 3 นั้นมาพร้อมกับระบบการพิมพ์แบบใหม่ ที่เรียกว่า LFS (Low Force Sterolitography) ซึ่งเทคโนโลยี นี้ถือว่าเป็นหัวใจของเครื่องพิมพ์ รุ่นนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งหลักการการทำงานของเทคโนโลยีนี้ จะแตกต่างกับ Form 2 โดยสิ้นเชิง ถ้าใครอยากรู้ในเชิงเทคนิค สามารถเข้าไปอ่านบทความ เจาะลึกเทคโนโลยี LFS ของเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 3 ของบริษัท Formlabs

สำหรับเทคโนโลยี LFS ต้องทำงานรวมกับถาดน้ำยาใส่เรซิ่นแบบใหม่ ซึ่งตัวถาดด้านล่างจะเป็นแผ่นฟิลม์ เชื่อมติดกับของยางซิลิโคน ซึ่งฟิลม์ตัวนี้สามารถขยับ ขึ้นลงได้ การที่ฟิลม์ขยับขึ้นลงได้ทำให้ชิ้นงานนั้นหลุดออกมาจากถาดได้ง่าย แถมยังสามารถลดขนาด Support ให้เล็กลงได้อีก ทำให้แกะชิ้นงานออกมาไม่เป็นรอยเยอะ แถมขัดแต่งชิ้นงานก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม

วิดีโอประกอบการทำงานของเทคโนโลยี LFS ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 3 และ Form 3L

การเคลื่อนที่ในการพิมพ์ของเครื่อง Form 3 นั้นจากแตกต่างกับเครื่อง Form 2 โดยสิ้นเชิง ซึ่งเครื่อง Form2 นั้นจะใช้ Galvanometer ในการบังคับให้แสงเลเซอร์วาดไปเป็นรูป ซึ่ง Galvanometer ของ Form2 จะใช้กระจก 2 แผ่นในการบังคับทิศทางเลเซอร์ แผ่นแรกจะบังคับให้เลเซอร์วิ่งในแนวแกน X ส่วนแผ่นที่ 2 จะบังคับในแนวแกน Y

ซึ่งจะแตกต่างกับเครื่องรุ่นใหม่ อย่าง Form3 เพราะเครื่อง Form3 จะมี LPU (Light Processing Unit) ซึ่งใน LPU จะประกอบได้ด้วย 

  1. UV เลเซอร์
  2. กระจกสะท้อน Fold Mirror
  3. เลนส์ Paraboric
  4. Galvanometer ขับเคลื่อนแกน Y
เครื่อง Form 2 จะใช้ Galvanometer พร้อมกระจก 2 แผ่น
เทคโนโลยี Low Force Stereolithography ในเครื่องพิมพ์ Form 3

อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกรวมอยุ่ไว้ในกล่อง ซึ่งเรียกว่า LPU และจะถูกติดตั้งกับ Linear Motor ซึ่งจะเคลื่อนที่ในแนวแกน X ทาง Formlabs บอกว่าการเปลี่ยนไปใช้ระบบนี้ จะทำให้งานพิมพ์มีขนาดที่เที่ยงตรงมากกว่าระบบเก่า เพราะแสงเลเซอร์ที่ถูกยิงออกมา จะตั้งฉากกับฐานพิมพ์งานเสมอ ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างกับเครื่อง Form 2 ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ ผมจะขอไปเล่าในอีกบทความ เพราะผมจะเจาะลึก กระบวนการและหลักการทำงานของระบบนี้ อย่างที่บอกว่าอันนี้เป็นแค่พรีวิว ไม่ใช่รีวิว ไม่อยากเจาะลึกมาก เพราะมันจะเป็นเชิงเทคนิคเกินไป ส่วนใครอยากรู้ เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกที

เริ่มแกะ ชำแหละเครื่อง Form 3

เป็นวันที่ทำเครื่องพังได้ โดยไม่ต้องเสียเงิน

ในส่วนที่เปลี่ยนไปอีกก็คือเครื่อง Form 3 นั้นจะมาพร้อมกับระบบเซนเซอร์ตรวจจับการทำงานที่มากขึ้น มีทั้งตัววัดระดับเรซิ่นในถาด หลอดไฟสำหรับแจ้งเตือนต่างๆ รวมไปถึงระบบให้ความร้อนกับเรซิ่นที่ออกแบบมาใหม่ ที่ใช้ลมร้อนเป่าในเครื่องแทนการใช้ฮีทเตอร์อุ่นที่ถาดเรซิ่น ในส่วนของเซนเซอร์ที่เพิ่มเข้ามาก็จะมี ตัววัดระดับฝุ่น, เซนเซอร์ตรวจสอบน้ำหนักตลับเรซิ่น ตัวมิกเซอร์สำหรับผสมเรซิ่นในตลับ ซึ่งเซนเซอร์บางตัว  ยังปิดทำงานอยู่ ไม่เปิดใช้ แต่ทาง Formlabs ใส่ให้ก่อน เผื่อเอาไว้เปิดใช้งานในอนาคต 

ช่องที่เป็นซี่ จะเป็นช่องปล่อยลมร้อน เพื่ออุ่นเรซิ่นไม่ให้หนืด

อีกส่วนที่ผมมองว่า เครื่องรุ่น Form 3 นั้นดีกว่าเครื่อง Form 2 ก็คือระบบโมดูล ที่สามารถเปลี่ยนได้ทันที ในกรณีที่เซนเซอร์เสีย หรือ LPU เสีย สำหรับบางคนอาจจะมีประสบการณ์ที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form2 เสีย ไม่สามารถซ่อมได้ ต้องรอเปลี่ยนเครื่องใหม่เป็นเครื่อง RMA ซึ่งจะใช้เวลานาน กว่าจะได้เครื่องใหม่ สำหรับตรงนี้ การออกแบบเครื่อง Form 3 นั้น อะไหล่และอุปกรณ์เกือบทุกส่วน นั้นสามารถถอดออกมาเปลี่ยนได้ แบบไม่ยาก ถ้าส่วนไหนเสีย ก็เปลี่ยนส่วนนั้น ซึ่งตรงนี้ประทับใจผมมาก เพราะเครื่องรุ่น Form 3 นั้นอะไหล่เปลี่ยนง่ายมาก เรียกว่าถ้าส่งมาซ่อม และมีอะไหล่เก็บอยู่ในสต็อก ผมว่าใช้เปลี่ยนไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็ยกเครื่องกลับไปพิมพ์งานต่อได้เลย

ชุด LPU ที่ถือว่าเป็นหัวใจของเครื่อง Form 3 สามารถถอดออกมาได้ไม่ยาก
เซนเซอร์ตรวจจับตลับเรซิ่น ก็ถอดออกมาได้แบบนี้เลย
อันนี้เป็นเซนเซอร์สำหรับวัดน้ำยาเรซิ่นในถาด

ในส่วนการออกแบบอีกอย่างที่ผมถูกใจมาก ก็คือ พื้นที่โล่งภายใน ที่เรียกว่า ไม่ต้องมานั่งกลัวฝุ่นหรือกลัวว่าเรซิ่นหก ลงไปแล้วเครื่องจะเสีย เพราะเครื่องปริ้น 3D Printer Form 3 นั้น ข้างในจะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีอะไรเลย ถ้าเรซิ่นหก ก็สามารถเช็ดเองได้ นอกจากนั้น แผงวงจรก็ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในแนวตั้ง ไม่เหมือนเครื่อง Form 2 ที่แผงอยู่แนวนอน ซึ่งมีปัญหาเวลาเรซิ่นหกหรือไหลลงไป ก็จะไปถูกแผงวงจร ทำให้เครื่องรวน ไม่สามารถใช้งานได้ 

แผงวงจร ย้ายไปอยู่ด้านหลัง รวมทั้งจับตั้งทั้งหมด ต่างจาก Form 2 ที่วางนอน
ภายในเครื่อง Form 3 ถ้าถอดถาเรซิ่นออก ก็จะโล่งแบบนี้ ไม่ต้องกลัวฝุ่น หรือ เรซิ่นหก

สำหรับตัวเครื่องก็มีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ มีการใช้พลาสติกฉีดหุ้มเข้าไปกับโครงเหล็ก ทำให้ดูสวยและทันสมัย ส่วนฝาครอบ ทางผู้ออกแบบ ได้บอกว่า ตอนนี้สามารถเอา IPA เช็ดได้แล้ว พลาสติกจะไม่แตก เหมือนกับ Form 2 เพราะฝาครอบรุ่นนี้เป็นแบบฉีดขึ้นรูป ไม่ใช้แบบเก่า ที่เป็นการขึ้นรูปด้วยวีธีการ Vacuum Forming 

นอกจากฝาครอบแล้ว ในส่วนของหน้าจอ Touch Screen ก็จะใหญ่ขึ้น อ่านง่ายขึ้น มีการบอก Step และขั้นตอนต่าง ในการใช้งาน รวมไปถึงการแจ้งเตือน ในกรณีที่ลืมใส่ตลับเรซิ่น หรือ ฐานพิมพ์งาน

บทสรุปเครื่องปริ้น 3 มิติ Form 3

ในส่วนของบทสรุป ผมอาจจะยังสรุปได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะยังไม่ได้พิมพ์งานขึ้นมา เพราะไม่มีเครื่อง ซึ่งตัวเครื่อง Demo ทางร้านน่าจะได้ เร็วๆนี้ ถ้าได้เครื่องเมื่อไหร่ ผมจะรีบมาเล่าให้ฟัง รวมไปถึงพิมพ์งานเปรียบเทียบให้ดูระหว่างเครื่อง Form 2 และ Form 3 แต่โดยรวมๆแล้ว ผมต้องบอกว่าเครื่อง Form 3 นั้น ถูกออกแบบมาให้แก้ปัญหา ในหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องของงานที่พิมพ์ จะมีขนาดที่แม่นยำมากขึ้น  จะพิมพ์เครื่องไหนก็ได้ ขนาดที่ได้ก็จะใกล้เคียงกัน สามารถสวมประกอบได้

สำหรับอีกเรื่องที่ผมว่ามันสำคัญ ก็คือการเปลี่ยนอะไหล่หรือชิ้นส่วน ที่เรียกว่าไม่ยาก แถมเร็วกว่าเดิมเยอะมาก ตรงนี้ ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องมานั่งรอเครื่อง ในกรณีที่เครื่องเสีย หรือเรซิ่นหกลงไปในเครื่อง สำหรับคำถามที่ผมคิดว่า ทุกคนอยากรู้ก็คือ จะซื้อเครื่องรุ่นไหนดี ระหว่างเครื่อง Form 2 กับ Form 3 ผมขอตอบเลยว่า ขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะงานที่พิมพ์จากเครื่อง Form 2 นั้น ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว แต่เครื่อง Form 3 นั้นจะดีขึ้นสำหรับงานทีมีรายละเอียดเล็กๆ เยอะๆ อันนี้จะทำได้ดีกว่าเครื่อง Form 2 แต่ถ้างานเราไม่ได้มีรายละเอียดเยอะมาก ผมก็ยังคงแนะนำ Form 2 อยู่ เพราะราคาที่ลดลงมาเยอะพอสมควร

อัพเดทเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ Form 3 ในปี 2021 ทาง Formlabs ได้ยกเลิกการขายเครื่อง Form 2 ไปแล้ว และได้ปรับราคาเครื่อง Form 3 ลงมาแถมมีการเปิดตัวเครื่อง Form 3B ที่เป็นตัวเครื่องสีขาว สำหรับพิมพ์งานทันตกรรมและงานที่เกี่ยวกับการแพทย์ ข้อแตกต่างระหว่าง Form 3 กับ Form 3B ก็คือ Form 3B พิมพ์ได้ทุกเรซิ่น แต่ Form 3 จะไม่สามารถพิมพ์เรซิ่นที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านทันตกรรมและการแพทย์ นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนหรือถาดรวมถึงตลับ สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด ราคา Form 3 ตอนนี้ อยู่ที่ 139,000 บาท ส่วน Form 3B อยู่ที่ 159,000 บาท ใครสนใจก็สามารถโทรติดต่อเราได้ที่ 089-8160651

Similar Posts