รีวิว ชุดพิมพ์ 5 สี MMU2.0 สำหรับเครื่อง Original Prusa i3 MK3
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ากว่าจะเขียนรีวิว อันนี้เสร็จ ใช้เวลาหลายเดือนมากๆ เพราะที่ร้านมีของทีจะนำเข้ามาขายในปี 2019 หลายตัวมาก เริ่มทำให้เสียเวลาไปกับการลอง รวมถึงมีงานแฟร์ที่ต้องไปออกหลายงาน ตอนนี้ทางบริษัท กำลังร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อที่จะทดลองเปิด Maker Space ซึ่งกว่าจะเขียนรีวิวนี้เสร็จ ก็ปาเข้าไป 3 เดือน หลังจากได้สินค้าตัวนี้
สำหรับบทความรีวิวนี้ ถือเป็นบนความแรกของปี 2019 ซึ่งปีนี้ทางบริษัท จะมีสินค้าตัวใหม่ๆ เข้ามาจำหน่าย รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมและเส้นพลาสติกแบบแปลกๆ ที่จะเอามารีวิวให้ความรู้กับทุกๆคน
สำหรับอุปกรณ์เสริมชิ้นที่จะมารีวิวกันในครั้งนี้ เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer Original Prusa i3 MK3 ซึ่งเป็นเครื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่แล้ว ยอดขายทั่วโลกมากกว่า 80000 ตัว ซึ่งที่ขายดีก็อาจะเป็นเพราะอุปกรณ์เสริมชุดนี้ด้วย ซึ่งอุปกรณ์เสริมที่ว่ามาก็คือ ชุดเสริม ที่ทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติรุ่นนี้ สามารถพิมพ์พลาสติกได้ถึง 5 สี หรือจะเอาไปพิมพ์ผสมกับพลาสติกแบบอื่นๆ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Multi Material ถ้าใครนึกไม่ออก ลองดูภาพประกอบด้านล่าง ซึ่งเป็นการพิมพ์พลาสติกแข็ง กับพลาสติกนิ่มเข้าไปอยู่ในตัวงานชิ้นเดียวกันเลย
สำหรับชุดพิมพ์ 5 สี หรือ MMU 2.0 อันนี้ จริงๆแล้วเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งถูกพัฒนามาจากรุ่นแรก ซึ่งรุ่นแรก ทางร้านก็ได้ทำการรีวิวไปแล้ว ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน หรือยังนึกไม่ออกว่ามันทำงานอย่างไร พิมพ์งานออกมาแล้วเป็นแบบไหน ก็ลองเข้าไปอ่านรีวิวตาม link นี้ได้
กลับมาที่รุ่นใหม่ MMU 2.0 รุ่นนี้ ถูกออกแบบใหม่หมด รวมถึงวิธีการในการเปลี่ยนเส้น ก็ถูกคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ ออกแบบมาเพื่อเอาไปแก้ไขจุดบกพร่องของรุ่นแรก ซึ่งมีปัญหาจุกจิกมาก ถ้าเส้นพลาสติกที่ใช้ไม่ได้คุณภาพ สำหรับรุ่นนี้ สามารถใช้กับเครื่อง Original Prusa i3 MK2.5 กับ MK3 เท่านั้น รุ่นเก่าอย่าง MK2 และ MK2s ใช้ไม่ได้นะครับ ต้อง Upgrade เป็น MK2.5 ก่อน
สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้และมีเครื่อง Original Prusa i3 MK3 แล้วอยากจะได้ชุดเสริมชุดนี้ ผมบอกเลยว่า ขอให้อ่านรีวิวนี้ให้จบก่อน แล้วค่อยพิจารณาดูกันอีกที เพราะถ้าสั่งตอนนี้ ของจะได้อีกทีประมาณ 2 เดือน เพราะยอดจองล้นทะลัก มาตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับของที่ร้านเอาเข้ามาตอนนี้ ก็ถูกจองไปหมดแล้ว สั่งตั้งแต่เดือนตุลาคม ได้ของเดือนธันวาคม
แกะกล่องดูของข้างใน
อย่างที่รู้ๆกัน ว่าเวลาซื้อของกับทาง Prusa ในกล่องก็จะมีขนม Gummy Bear ยี่ฮ้อ Haribo มาด้วย ถือว่าเป็นขนมสำหรับไว้กินเล่นตอนประกอบ เอาไว้เคี้ยวคลายเครียด สำหรับชุดพิมพ์ 5 สีนี้ก็จะมีชิ้นส่วนและอุปกรณ์มาให้ ในรูปแบบ KIT ซึ่งผู้ซื้อต้องประกอบเอง โดยที่ทาง Prusa ก็จะมีคู่มือมาให้ แต่ผมแนะนำให้ดูทาง Web ของ Prusa จะดีกว่า เพราะจะมีการ Update เป็นขั้นตอนการประกอบแบบล่าสุด

เริ่มประกอบชุดพิมพ์ 5 สี MMU2.0
สำหรับการประกอบนั้นก็ไม่ยาก แค่ดูตามคู่มือใน Web แล้วใช้ความรู้ด้านช่าง มาช่วยในการไขน็อต
อันนี้ขอนอกเรื่องนิดหน่อย สำหรับใครที่คิดว่าชุด Kit ประกอบง่าย แค่ทำตามคู่มือก็น่าจะได้ ผมบอกเลยว่า คุณกำลังคิดผิด เพราะในคู่มือมันเป็นแค่ตัวอักษรและรูปภาพ มันไม่ได้บอกว่าขันน็อตต้องแน่นขนาดไหน ตรงไหนต้องดูว่ามันต้องขนานกันก่อน ถึงจะขันน็อตได้ และไม่ได้บอกด้วยว่าถ้ารูที่ใส่น็อตมันฟิต ต้องทำการเจาะเพิ่ม บางคนที่ซื้อชุด Kit ไปไม่รู้ ก็จะพยายามขันและฝืน จนมันหักและแตก ซึ่งเหตุผลนี้ ทำให้บริษัท ไม่ขายชุด Kit ให้กับลูกค้า เพราะคนซื้อไม่ใช่ว่าเป็นช่างกันทุกคน

มาเข้าเรื่องกันต่อ ซึ่งการประกอบชุดนี้ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยที่ชั่วโมงสุดท้ายหมดไปกับการตั้ง และปรับขันน็อต เพื่อให้มันลื่น ไม่ฝืน ไม่ฝืด เวลาทำงาน เพราะการพิมพ์งานหลายสีนั้น จะใช้เวลาที่พิมพ์นานมาก ซึ่งบางครั้งงานโมเดลสูง 10 เซนติเมตร ที่มีสีผสมกัน 5 สี อาจใช้เวลาพิมพ์มากกว่า 20 ชั่วโมง ซึ่งถ้าพิมพ์สีเดียว อาจใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมง ส่วนเหตุผลที่ต้องพิมพ์นานนั้น คืออะไร ก็ลองไล่อ่านไปเรื่อยๆ นะครับ เดี๋ยวก็จะรู้เอง
การทำงานของชุดพิมพ์ 5 สี MMU2.0
ชุดเสริมสำหรับพิมพ์สีรุ่น MMU2.0 นั้น จะมี Step มอเตอร์ ติดตั้งอยู่ 3 ตัว และมีเซนเซอร์สำหรับตรวจจับเส้นที่เรียกว่า F.I.N.D.A อีก 1 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีหน้าที่ต่างกันดังนี้
- มอเตอร์ที่ทำหน้าที่เลือกเส้นที่จะส่ง ซึ่งมอเตอร์ชุดนี้จะติดอยู่กับตัว Revolver ซึ่งเป็นลูกเบี้ยวและมีลูกปืนที่เรียงกันเป็นขั้นบันได 5 ตัวซึ่งการทำงานของ Revolver จะเป็นลักษณะลูกเบี้ยว ซึ่งจะหมุนและกดเส้นเฉพาะเส้นที่ถูกเลือกเท่านั้น ถ้าเลือกที่จะหนีบเส้นแรก เส้นอื่นๆจะไม่ถูกหนีบ
- มอเตอร์สำหรับหมุนเพื่อดันและส่งเส้นพลาสติกไปที่หัวฉีด ซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะต่ออยู่กับแกนกลางที่มีชุดดันเส้นที่เซาะเป็นร่องและมีฟันสำหรับจิกเส้น
- มอเตอร์ที่ทำหน้าที่หมุนเพื่อให้ชุดเลือกเส้นพลาสติกไปอยู่ในตำแหน่งของเส้นพลาสติกที่ต้องการจะโหลดเข้าไปที่หัวฉีด
- เซนเซอร์ F.I.N.D.A ที่ใช้ตรวจจับเส้นพลาสติก ว่าเข้าไปในชุดพิมพ์หรือยัง ถ้ายังจะแสดงผลที่หน้าจอ ว่าเครื่องมีปัญหา และให้ผู้ใช้ มาแก้ไข ก่อนพิมพ์งานต่อ




ขั้นตอนการทำงานก็จะใช้หลักการให้ชุดเลือกเส้นวิ่งไปที่ตำแหน่งของเส้นที่ต้องการโหลด แล้วใช้ตัวหมุนเส้นที่เรียกว่า Revolver ซึ่งทำงานแบบลูกเบี้ยว เป็นตัวเลือกที่จะหนีบเส้น เมื่อเลือกเส้นที่จะป้อนได้แล้ว มอเตอร์อีกตัวที่ต่อกับแกนขับเส้น จะทำการหมุนเพื่อดันเส้นที่เลือกไว้ป้อนผ่านชุดเลือกเส้น แล้ววิ่งผ่านท่อ เพื่อส่งต่อไปให้กับมอเตอร์ดันเส้นที่อยู่บนหัวฉีด เมื่อเส้นพลาสติกมาถึงเซนเซอร์ตรวจจับเส้นที่ตรงมอเตอร์ดันเส้นที่อยู่บนหัวฉีด ก็จะทำงานต่อโดยการดันเส้นลงไปที่หัวฉีด เมื่อเส้นมาถึงหัวฉีดแล้ว ตัว Revolver ก็จะหมุนคลายออก เส้นก็จะไม่ถูกหนีบ ซึ่งตรงนี้ มอเตอร์ดันเส้นที่ตรงหัวฉีด จะทำหน้าที่ดึงเส้นลงมาที่หัวฉีดเอง และชุด MMU2.0 ก็จะหยุดการทำงาน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นพลาสติก หลักการทำงานก็จะวนไปแบบนี้
วิดีโออธิบายการทำงานของชุดพิมพ์ 5 สี MMU 2.0
ข้อแตกต่างในเรื่องการทำงานของชุด MMU2.0 กับชุด MMU1.0
สำหรับการทำงานของชุด MMU2.0 เรียกได้ว่าคิดใหม่ ทำใหม่ซึ่งจะไม่เหมือนรุ่นแรก ข้อแตกต่างมีดังนี้
- ชุด MMU2.0 เป็นระบบ Direct Drive ที่ใช้ตัวดันเส้นที่ติดกับหัวฉีด ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชั่นแรก ที่เป็น Bowden ตัวดันเส้นอยู่ห่างจากหัวฉีด ซึ่งตัว MMU2.0 จะมีการฉีดเส้นพลาสติกที่ดีกว่า สม่ำเสมอกว่า ใยพลาสติกเกิดน้อยกว่า และโอกาสเกิดหัวฉีดตันน้อยกว่า เวอร์ชั่นแรก
- ระบบการเลือกเส้นพลาสติกเข้าไปในหัวฉีด ในเวอร์ชั่นแรก จะเป็นการเอาท่อ 4 ท่อมารวมกันและลงที่หัวฉีด แต่สำหรับ MMU2.0 นั้นจะเป็นแบบท่อเดียวลงมาทีหัวฉีดเลย โดยที่ตัวเลือกเส้นจะอยู่ด้านบน ซึ่งระบบนี้เรียกได้ว่าลดการเกิดเส้นตันในท่อ ที่เกิดบ่อยมากในเวอร์ชั่นแรก แถมระบบนี้ทำให้มีพื้นที่เพิ่ม สามารถเพิ่มเส้นพลาสติกมาได้อีก 1 เส้น รุ่นแรกใส่ได้ 4 เส้นแต่รุ่นใหม่ใส่ได้ 5 เส้น
- สำหรับเวอร์ชั่น MMU2.0 นั้นการเลือกเส้นจะช้ากว่ารุ่นแรก เพราะต้องมีการสั่งให้มอเตอร์วิ่งหาเส้นที่ต้องการจะใส่ ซึ่งรุ่นแรกนั้นไม่ต้อง เพราะรุ่นแรก จะมีมอเตอร์ใส่เส้น แยกกันเป็นแบบตัวต่อตัว ทำให้การโหลดเส้นไปที่หัวฉีดไวกว่ารุ่นใหม่ ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ว่าจะช้ากันไปซะเท่าไหร่


ทดลองพิมพ์งานกับชุดพิมพ์หลายสี MMU2.0
หลังจากที่รู้หลักการทำงานของชุดพิมพ์ 5 สี MMU2.0 แล้ว ตอนนี้ก็มาลองพิมพ์กันจริงๆ ซึ่งการเตรียมเครื่องสำหรับพิมพ์พลาสติก 5 สี จำเป็นต้องใช้พื้นที่วางเครื่องมากซักหน่อย ในคู่มือของทาง Prusa จะระบุมาว่า ต้องให้ตัววางเส้นพลาสติก อยู่ห่างจากเครื่องประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งตัววางเส้นพลาสติกนั้น ทาง Prusa ก็มีมาให้ในชุด ซึ่งชุดวางเส้นพลาสติก นั้นจะมาพร้อมกันตัวจัดการเส้นไม่ให้เส้นมันพันกันเวลาเปลี่ยน

อุปกรณ์ตัวนี้ถือว่าเป็นตัวสำคัญอีกตัวนึงเลย ถ้าจัดการไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งจะต้องใส่เส้นพลาสติกให้ถูกวิธี ตัวนี้เป็นตัวที่ทำเอาผมงง และใช้เวลากับมันไปมากๆ แถมเปลืองพื้นที่ สำหรับการวางเครื่องอีกด้วย ผมเลยจัดการปัญหาโดยการหาตัววางเส้นแบบใหม่ ซึ่งเผอิญไปเจอในเว็บ Thingiverse เป็นตัววางเส้นที่มีสปริง สามารหมุนกลับเองได้ เพื่อให้เส้นไม่ออกมากอง เหมือนกับตัวที่ทาง Prusa ให้มา ซึ่งไฟล์ตัวนี้ผมเอามาพิมพ์แล้วลองใช้ดู และมันก็ดีกว่า ผมเลยจัดการพิมพ์มาเปลี่ยนทั้งหมด ส่วนของเก่าก็เอาไปใช้สำหรับตั้งเส้นพลาสติก กับเครื่องอื่นๆ ในร้าน ใครสนใจสามารถ Download ได้ที่ Link นี้นะครับ


ก่อนที่จะพิมพ์งานที่เป็นหลายสี เราก็ต้องเขียนขึ้นมาหรือไม่ก็ไปหา Download กันมาก่อน ซึ่งไฟล์ที่สามารถพิมพ์ได้หลายสี จะเป็นไฟล์โมเดล ที่ถูกตัดหรือแบ่งออกมาเป็นส่วนๆ ซึ่งในแต่ละส่วนจะต้องมี Origin หรือจุดตำแหน่งศูนย์ที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เพราะตอนเอาเข้าโปรแกรม Slic3r Prusa Edition จะต้องลากเข้ามาพร้อมกันเลย เช่น พิมพ์ 5 สี ก็ต้องมีไฟล์ที่ถูกตัดแบ่งมาเป็น 5 ไฟล์ แล้วตอนเอาเข้าโปรแกรม ก็ลากเข้ามาพร้อมกัน 5 ไฟล์เลย ตัวโปรแกรมก็จะรู้ว่า ผู้ใช้ต้องการพิมพ์ โมเดลเป็นสี มันก็จะรวมตำแหน่งของโมเดล มาให้เองแบบอัตโนมัติ

พอได้โมเดล ผู้ใช้ก็แค่ Double Click ที่โมเดล แล้วก็เลือกว่า ส่วนไหน จะพิมพ์กับพลาสติกสีไหน เท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้ว โมเดลจะถูกตัดมากี่ส่วนก็ได้ อาจจะมา 10 ส่วน หรือ 10 ไฟล์ พอเอามารวมกัน ผู้ใช้ก็แค่มาเลือกว่าส่วนไหนพิมพ์กับพลาสติกสีอะไร ซึ่งตรงนี้จะเลือกได้ไม่เกิน 5 สี
สำหรับโปรแกรม Slice ที่ใช้จัดการกับการพิมพ์โมเดลหลายสีนั้น ผู้ใช้ก็แค่เลือกในส่วนของ Printer ให้เป็น Original Prusa i3 MK3 MMU2.0 เท่านั้นเอง พอเลือกเสร็จ โปรแกรม ก็จะเพิ่มในส่วนของพลาสติกที่ใช้ เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 ช่อง จากปกติมีแค่ 1 ช่อง เสร็จแล้ว ก็เลือกความละเอียดที่ต้องการพิมพ์ และก็ดูว่าต้องโมเดลต้องใช้ Support หรือตัวรองรับหรือไม่ ถ้าใช้ ก็แค่ติ๊กเครื่องหมายถูกในช่อง Support และถ้าต้องการเพิ่มเนื้อด้านล่าง เพิ่มการยึดติดของโมเดลกับ ฐานพิมพ์ ก็แค่ติ๊กถูกในช่อง Brim ก่อนที่จะทำการ Slice นั้น ตรงหน้าต่างที่เราวางโมเดล 3 มิติ จะมีก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ข้างๆ โมเดล ซึ่งไอ้เจ้าก้อนนี้ เรียกว่า Purge Tower ซึ่งเป็นก้อนเอาไว้สำหรับให้หัวพิมพ์มาฉีดทิ้ง เพื่อเปลี่ยนสี


ทำความรู้จักับก้อน Purge Tower

Purge Tower เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่พิมพ์หลายสีและมีหัวฉีดเดียว เจ้าก้อนนี้จะทำหน้าที่ในการให้หัวพิมพ์เคลียร์สีหรือล้างสีอยู่ตรงปลายหัว ซึ่งถ้าไม่มีเจ้าก้อนนี้ เวลาพิมพ์งาน สีที่ออกมาจะเป็นสีผสมหรือสีเหลือบ ทำให้งานพิมพ์ออกมาไม่สวย ยกตัวอย่างเช่น หัวพิมพ์กำลังพิมพ์สีแดงอยู่ และต้องการเปลี่ยนเป็นสีขาว ถ้าไม่มีก้อน Purge Tower หัวพิมพ์ก็จะพิมพ์สีแดงที่ติดอยู่ด้านในหัวและผสมกับสีขาวที่ส่งเข้าไปใหม่ ออกมากลายเป็นสีชมพู งานที่พิมพ์ก็จะมีส่วนของสีชมพูไปผสมอยู่ด้วย ก่อนที่จะกลายเป็นสีขาว ซึ่งวิธีการแก้ตรงนี้ก็คือให้หัวพิมพ์มาพิมพ์ก้อน Purge Tower เสียก่อน เพื่อให้สีที่ค้างอยู่ปลายหัวฉีดออกมาให้หมด และกลายเป็นสีที่ต้องการ ก่อนเข้าไปพิมพ์


สำหรับเจ้าก้อน Purge Tower ถือว่าเป็นส่วนที่พิมพ์ทิ้ง และเป็นส่วนที่เปลืองเอามากๆ ผมเคยพิมพ์งาน ที่งานพิมพ์ที่ต้องการนั้น น้ำหนักของเส้นพลาสติกนั้นน้อยกว่า ก้อน Purge Tower ซักอีก เรียกว่า เสียดายมากๆ แต่ก้อนนี้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าให้ใหญ่หรือเล็กได้ แต่ถ้าตั้งค่าไม่ดี ตั้งเล็กเกินไป ก็จะเกิดสีเหลือบขึ้นบนตัวงานได้ง่าย เพราะฉีดทิ้งออกมาไม่พอ สียังไม่เปลี่ยน หัวพิมพ์เข้าไปพิมพ์งานแล้ว สีที่ผมเจอปัญหาของการเกิดสีเหลือบคือ สีขาว เพราะเป็นสีที่ถูกผสมได้ง่าย ดังนั้นถ้าใครใช้ชุดพิมพ์หลายสี ก็ให้หลีกเลี่ยงสีขาว

สำหรับตำแหน่งของ Purge Tower นั้นผู้ใช้สามารถลากและวางในตำแหน่งที่ต้องการได้ เมื่อจัดตำแหน่งโมเดลและก้อน Purge Tower แล้วก็จัดการกดปุ่ม Slice เสร็จแล้วก็เข้าไปเช็คว่า หัวพิมพ์ นั้นพิมพ์งานแบบไหน ในหน้า Layer View ซึ่งตรงนี้ เราจะเห็นโมเดลแสดงออกมาเป็นสี ที่แตกต่างกันตามที่ผู้ใช้กำหนด ในการพิมพ์
พออ่านถึงตรงนี้แล้ว คงรู้กันแล้ว ว่างานพิมพ์หลายสีมันช้า เพราะมันต้องย้ายหัวพิมพ์ไปฉีด Purge Tower ด้วย ซึ่งทำให้ใช้เวลานาน นอกจากนานแล้วยังเสียพลาสติกอีกด้วย ซึ่งถ้าใครรู้สึกเสียดายพลาสติก ตรงนี้มีวิธีลด โดยในโปรแกรม Slicer ของ Prusa สามารถที่ตั้งให้พิมพ์ Purge Tower เป็นรูปชิ้นงานได้ หรือจะให้พิมพ์เป็น Infill หรือโครงสร้างด้านในก็ได้ แต่ยังไงก็ต้องมี Purge Tower อยู่ดี แต่ถ้าเปิดใช้ฟีเจอร์เหล่านี้ ตัว Purge Tower จะเล็กลง


ในส่วนของโปรแกรมที่ใช้ในการ Slice ก็จะมีเท่านี้ ผู้ใช้สามารถบันทึกไฟล์เป็น G-code แล้วไปพิมพ์ได้เลย
ปัญหาที่เจอ สำหรับการใช้งานชุดพิมพ์ 5 สี MMU2.0

ต้องขอบอกก่อนเลยว่า การพิมพ์ครั้งแรกประสบความล้มเหลว เพราะมีปัญหาในเรื่องของการส่งเส้นพลาสติกกลับเข้าไปในหัวฉีด ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของชุดพิมพ์หลายสี ชุดนี้ ซึ่งถ้าใครเคยอ่านรีวิว ชุด MMU รุ่นแรก ปัญหานี้ก็พบเจอบ่อย ซึ่งตรงนี้ผมเอะใจมาก ว่าทำไม รุ่นใหม่ก็ยังเจอปัญหานี้อยู่ ก็ลองไปค้นดูใน Forum ของ Prusa ซึ่งก็มีฝรั่งหลายๆคน เจอปัญหาเดียวกันกับผม แต่ก็ยังดี ที่ชุมชนที่ใช้เครื่อง Prusa นั้นใหญ่มาก หลายๆคนก็เข้ามาให้ Comment และตอบให้ลองแก้ในส่วนของ Filament Setting ในโปรแกรม Slic3r Prusa Edition ดูก่อน
หลังจากการลองไปมาเรื่อยๆ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาคือ เส้นพลาสติกที่ใช้นั้นอาจมีอุณหภูมิและส่วนผสม ที่แตกต่างจากเส้นพลาสติกที่ทาง Prusa ใช้ทดสอบ ซึ่งเส้นที่ผมใช้เป็นเส้นพลาสติกจากประเทศจีน ซึ่งปัญหาที่ผมค้นพบคือ ตอนที่เครื่องทำการดึงเส้นออกจากหัวฉีด จะมีใยเส้นพลาสติกเส้นเล็กและยาวตามออกมาด้วย ซึ่งไอ้ใยพลาสติกตัวนี้ พอมันสะสมเยอะเข้าไปก็จะไปอัดอยู่ตรงชุด F.I.N.D.A ซึ่งเซนเซอร์ตัวนี้ทำหน้าที่ตรวจจับเส้นพลาสติกที่กำลังจะป้อนเข้าไปที่หัวพิมพ์

ใยพลาสติกมันจะไปอัดอยู่ในท่อเทฟลอนและตรงเซนเซอร์ ทำให้เซนเซอร์ทำงานผิดพลาด รวมถึงทำให้เส้นพลาติกที่จะโหลดเข้าไปใหม่ ไม่สามารถเข้าไปในท่อได้ เพราะใยพลาสติกไปอัดอยู่ตามขอบท่อ
ปัญหานี้ผมแก้ไข โดยการตั้งค่า Setting ใหม่ในส่วนของ Filament Setting ของโปรแกรม Slic3r Prusa Edtion ซึ่งค่าที่ผมแก้จะอยู่ในส่วนของ Ramming และความเร็วในการดึงเส้นตอน Unload
Ramming คือวิธีการที่เครื่องพิมพ์จะค่อยๆ ดันและดึงเส้นพลาสติก ก่อนที่จะ Unload หรือดึงเส้นออกมาจากเครื่องพิมพ์ เพื่อจะเปลี่ยนไปใช้เส้นต่อไป ค่า Ramming ที่ผมได้มา สามารถช่วยให้ปลายเส้นพลาสติกมีขนาดไม่ใหญ่ และใยเส้นพลาสติก ไม่ยาว ช่วยลดปัญหาเส้นพลาสติก ติดในท่อตอน Unload ถ้าใครมีชุดพิมพ์ MMU 2.0 แล้วมีปัญหาเดียวกับผม ลองเอาค่าที่ผมได้ ไปลองใช้ดู เพื่อช่วยได้

หลังจากได้ค่าที่เหมาะสมแล้ว ปัญหาของการพิมพ์ ก็ลดลงไป เรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์แบบ ติดปัญหาแค่อย่างเดียว คือเส้นพลาสติก ที่พันกันเอง ตอน Unload เนื่องจาก ชุดวางเส้นพลาสติก ที่ Prusa แถมมาด้วยนั้น ต้องมีการใส่เส้นพลาสติกที่ถูก เพราะถ้าใส่ผิด เส้นพลาสติกมันจะถูกดึงเข้าไปในเครื่องไม่ได้ ทำให้เครื่องพิมพ์หยุดทำงาน และรอให้ผู้ใช้มาแก้ไข
ปัญหานี้ผมแก้โดยไปโหลดโมเดล ที่ผมกล่าวเอาไว้ด้านบน ซึ่งเป็นโมเดลชุดเส้นพลาสติก ที่สามารถม้วนเส้นกลับมาอยู่ในม้วนได้ ทำให้เส้นพลาสติก ไม่พันกันเอง แถมใช้งานง่ายกว่า ชุดวางที่ Prusa ให้มา รวมไปถึงระยะที่วางเส้น ก็ไม่ต้องใช้มากเหมือนอันแรก
สรุปการใช้งานชุดพิมพ์ 5 สี MMU 2.0
สำหรับชุดพิมพ์นี้หลายๆคน อ่านแล้วอยากจะรุ้ว่า สรุปน่าซื้อมาใช้หรือเปล่า ผมให้คำตอบว่า ถ้าคุณรู้จัการตั้งค่าโปรแกรม Slic3r Prusa Edition แบบลึกซึ้ง และรู้ปัญหาและแก้ไขเครื่องพิมพ์ได้ แบบพอประมาณ ชุดนี้ถือว่าคุ้ม ที่จะลอง เพราะว่าถ้าแก้ปัญหาได้ถูกจุด ตัวเครื่องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมงานพิมพ์ออกมาก็เรียกได้ว่า Amazing
สำหรับคนที่ไม่อยากยุ่งยาก มาตั้งค่าต่างๆ และมีเครื่องพิมพ์ 3D Printer รุ่นอื่น ผมก็อยากให้ติดตามและอ่านรีวิวตัวต่อไป เพราะว่ามันเป็นชุดเสริมสำหรับพิมพ์ 4 สี ที่สามารถใส่กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่นไหนก็ได้ เรียกว่า Pallete 2 ตัวนี้เกริ่น คราวๆว่าใช้งานง่ายกว่า พิมพ์งานออกมาเสถียรกว่า เพราะใช้หลักการต่อเส้นพลาสติก ไม่ต้องมารอ ให้เครื่องเปลี่ยนเส้นไป มา

ยังไม่จบ ตอนนี้ทาง Prusa ได้เปิดชุด Upgrade ใหม่ สำหรับชุด MMU2.0 เป็นชุดแก้ไขใส่ส่วนของชุดหัวฉีดทั้งหมด เรียกได้ว่า Redesign ใหม่ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ คือชุดเซนเซอร์จับเส้นพลาสติก นั้นทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้การ Reload เส้นพลาสติกมีปัญหา ซึ่งการ Upgrade ชุดนี้ ทาง Pursa ได้ทำการเทสมาแล้ว กว่า 2 เดือน และปัญหาเรื่องการ Load และ Unload เส้นก็ลดน้อยลง งานพิมพ์สำเร็จมากขึ้น


อีกอันที่ Upgrade ก็คือชุดวางเส้นพลาสติก ที่มีการใช้ตัวเสริม เพื่อจัดระเบียบเส้นพลาสติก ซึ่งอันนี้ ส่วนตัวผมชอบมาก เพราะทำให้เส้นพลาสติก ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่พันกันเอง สำหร้บชุด Upgarde อันนี้ ทาง Prusa เริ่มทยอยจัดส่งให้ลูกค้า และเรียกชุดพิมพ์ 5 สีของตัวเองใหม่ เป็น MMU 2.0S
สำหรับใครที่มีเครื่อง Prusa รุ่น MK3S แล้วอยากจะใส่ชุดเสริมนี้เพิ่ม สามารถซื่อได้กับทางร้านในราคา 18,900 บาท ซึ่งราคานี้จะรวมประกอบ / ติดตั้งและ จูนเครื่องเพื่อให้เกิดปัญหาตอนพิมพ์น้อยที่สุด สนใจสั่งซื้อ ก็สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 081-9148727