รีวิว Form Wash และ Form Cure อุปกรณ์เสริม (ต้องมี) สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 3
หางห่ายจากการเขียนรีวิวไปนาน ซึ่งจริงๆแล้วมีอุปกรณ์และ 3D Printer ที่อยากจะเขียนรีวิว วันนี้มีเวลาว่าง ก็เลยเขียนซักหน่อย เพราะอุปกรณ์ 2 ชิ้นนี้ เป็น 2 ชิ้นที่ผมอยากได้ตั้งแต่ เขาเริ่มเปิดตัว เพราะมันจะทำให้การทำงานและการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นง่ายขึ้นและสะอาดขึ้น สำหรับรีวิวนี้เหมาะสำหรับคนที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 2 หรือ 3D Printer ระบบ SLA ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการล้างทำความสะอาดชิ้นงาน รวมไปถึงการอบชิ้นงานให้แข็ง ให้ได้คุณสมบัติเรซิ่นตามที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าใครเพิ่งเข้ามาอ่าน และยังไม่รู้ ว่าเครื่องเป็นแบบไหน หน้าตาอย่างไร รบกวนเข้าไปที่ Link นี้เพื่ออ่านก่อน หรือจะเข้าไปอ่านรีวิวเครื่อง Form 2 ได้ที่ Link นี้ สำหรับใครที่คิดว่าเครื่อง Form 2 เก่าแล้ว อยากได้เครื่อง Form 3 แต่ยังไม่รู้รายละเอียดเท่าไหร่ ก็เข้าไปอ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับเครื่อง Form 3 ได้ที่ Link นี้
Highlight ของบทความนี้
- แกะกล่อง Form Wash และ Form Cure
- ทดลอง Form Wash ชุดล้างชิ้นงานที่ออกแบบมาได้ดีอย่างเหลือเชื่อ แถมใช้งานได้ดีมากกว่าที่คิด
- อบชิ้นงานให้แข็งตัว ด้วยเครื่อง Form Cure เครื่องที่มีฮีทเตอร์ลมร้อนและ หลอด UV ในตัวเดียวกัน
- อุปกรณ์เสริม 2 ตัวนี้ จำเป็นต้องซื้อ 2 ตัว หรือซื้อตัวเดียวก็พอ

สำหรับเจ้าเครื่อง Form Wash และ Form Cure 2 ตัวนี้ ทาง Formlabs ได้นำออกมาโชว์กันตั้งแต่ต้นปี 2017 หรือปีที่แล้ว และมีแพลนจะขายประมาณกลางปี 2017 แต่เนื่องจากมีปัญหา หรืออะไรไม่ทราบ ทำให้มีการเลื่อนการจำหน่าย ออกไปเรื่อยๆ จนมาเริ่มจัดส่งและขายได้ตอนปลายปี 2017 ซึ่งตัวที่ผมได้มานั้น ถือว่าเป็น ล็อตแรกๆ ในเมืองไทยเลยก็ว่าได้
เจ้าเครื่อง 2 ตัวนี้เป็นเครื่องที่ผมคิดว่าจะมาเติมเต็มให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 2 ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะปัญหาของการใช้งานเครื่องพิมพ์ระบบ SLA นั้น ก็คือ ความเลอะเทอะ ถึงแม้ว่าเครื่อง Form 2 จะเลอะเทอะ น้อยกว่าเคร่ื่อง SLA ยี่ฮ้ออื่นๆแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่ รวมไปถึงปัญหาอีกข้อนั้นคือการแข็งตัวของชิ้นงานที่พิมพ์ โดยเฉพาะเจ้าเรซิ่นแบบ Castable ที่จะมีปัญหาเยอะมากๆ ถ้าแข็งตัวไม่ดีพอ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการหล่อชิ้นงาน ซึ่งทำให้งานหล่อมีตามด หรือหล่อออกมาไม่เต็ม ดังนั้นถ้าผู้ใช้คนไหนมีงานพิมพ์ที่ใช้ เรซิ่นแบบ Castable อยู่ ผมแนะนำให้ซื้อเลย เพราะมันจะช่วยลดปัญหาให้คุณได้แน่นอน
เริ่มแกะกล่อง Form Wash
เครื่อง Form Wash และ Form Cure มาในกล่องสีน้ำตาล ด้านหน้าเป็นลายเส้นรูปตัวเครื่อง โดยผมได้เริ่มแกะกล่องเจ้าเครื่อง Form Wash ก่อน ซึ่งตอนยกกล่องเครื่อง From Wash นั้นบอกเลยว่า “โคตรหนัก” พอเปิดกล่องออกมา ก็จะเจอกับแผ่นการใช้งาน รวมถึงอุปกรณ์เช่น คีมตัด,ชแลงสำหรับงัดงานออกจากฐาน,เกรียง, แหนบ และอันสุดท้ายที่เป็นสีขาว ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้ เลยเปิดแผ่นพับดู เขาเรียกว่า Hydro Meter เอาไว้สำหรับวัดความหนาแน่นของ IPA หรือ แอลกฮอล์ที่ใช้ล้างเรซิ่น ว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนหรือยัง


หลังจากยกเอาเครื่องมือต่างๆ ออกมา ก็จะเห็นตัวเครื่องสีดำ ด้านบนมีสกรีนคำว่า Formlab อยู่ พอยกเครื่องออกมา ก็มีพลาสติกป้องกันรอยหุ้มอีกที ตัวเครื่องทำจากโลหะและพลาสติกฉีดขึ้นรูปสีดำด้าน ซึ่งดูแล้วเรียบง่ายแต่ดูหรูหรา น่าใช้งาน สามารถวางใน Office ได้สบาย
หน้าเครื่อง Form Wash จะมีหน้าจอ OLED สำหรับแสดงผล และมีปุ่ม 1 ปุ่ม ซึ่งกดและหมุนได้ เอาไว้สำหรับเลือกและตั้งค่าต่างๆ ในส่วนของหน้าจอนั้น ไม่ใช่ Touch Screen ต้อมใช้ปุ่มในการสั่งงาน ซึ่งหน้าจอนั้นก็สวยงามตามสไตล์ของเครื่อง Formlabs การใช้งานก็ไม่ยาก คือหมุนตั้งเวลาที่ต้องการจะล้าง แล้วก็กดสั่งงาน
พอเปิดฝาด้านบนออก จะเห็น ชุดบีบสำหรับดูดน้ำ เอาไว้สำหรับดูด IPA มาใส่ถัง ไม่ต้องยกเทให้เกิดอันตราย

รอบๆเครื่องของเครื่อง From Wash นั้นจะเป็นฝาเปิดได้ 2 ด้าน เอาไว้สำหรับใส่เครื่องมือ ที่แถมมาให้ด้านบน ทำให้ดูเป็นระเบียบ เรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งการออกแบบตรงนี้ผมชอบมากเลย เพราะผมมีปัญหากับเครื่องมือ ที่พอเวลาอยากใช้ จะหาไม่ค่อยเจอ ซึ่งฝาเปิดในแต่ละด้าน จะมีการสกรีนรูปเครื่องมือ และท่าทางในการวาง เรียกได้ว่า ใส่ใจทุกรายละเอียด
ในส่วนของการวางชิ้นงานที่จะล้าง นั้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ เอาฐานพิมพ์พร้อมกับชิ้นงาน มาวางในเครื่องล้างเลย หรือว่าจะแกะชิ้นงานออกจากฐานพิมพ์แล้วเอาออกมาวางในถังตะแกรงก็ได้ หรือจะใช้ 2 อย่างพร้อมกันก็ได้ ซึ่งตัวถังตะแกรงสามารถถอดออกมาได้ ถ้าไม่อยากใช้


เริ่มทดลองใช้เครื่อง Form Wash
ก่อนที่จะเริ่มใช้เครื่อง ก็ต้องใส่น้ำยาล้างเรซิ่นก่อน ซึ่งก็คือ IPA หรือ Isopropyl Alcohol หลายคนถามว่า ซื้อที่ไหน ผมบอกเลยละกัน ซื่อที่ร้านฮงอวด ลองค้นหาดูละกันครับ ซื้อที่ก็ หนึ่งปี๊ปใหญ่ ใช้ได้หลายเดือนเลย
สำหรับเครื่อง Form Wash ถังใส่มันสามารถยกและแยกออกมาจากตัวเครื่องได้ ซึ่งอันนี้มันคือความสะดวกมาก เพราะไม่ต้องยกทั้งเครื่องมาเพื่อเติม IPA เวลาใส่ก็แค่เอาปั๊มแบบมือบีบ ที่แถมมากับเครื่อง ดูดน้ำยาล้างเข้ามา ซึ่งง่ายมากๆ ไม่ต้องยกถังมาเท เสี่ยงต่อการกระเด็น แถมกลิ่นแรงอีกด้วย ซึ่งปริมาณ IPA ที่ใส่ลงในถังทาง Formlabs แนะนำให้อยู่ที่ประมาณ 7.5- 8.6 ลิตร ซึ่งจะมีเส้นบอกระดับน้ำอยู่ตรงถัง


ด้านล่างของถังนั้นจะมีใบพัดคล้ายกับรูป กังหัน ซึ่งมี 3 ใบ ในแต่ละใบจะมีแม่เหล็กกลมติดอยู่ ซึ่งแม่เหล็กจะเป็นตัวพา ทำให้ใบพัดหมุน เกิดเป็นกระแสน้ำวน ที่คอยพัดเอาเรซิ่นที่ติดหรือเคลือบอยู่ที่ตัวงานหลุดออกมา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า การใช้งานระยะยาว อาจจะต้องมีการถอดมาทำความสะอาด แต่ยังไม่รู้ว่าจะถอดออกมาได้หรือเปล่า
ใส่เสร็จยกเข้ามาไว้ที่เดิม แล้วก็เสียบปลั๊ก ซึ่งเครื่องก็ติดเลย ตรงนี้เป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเกี่ยวกับเครื่องของทาง Formlabs ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 2 พอเสียบปลั๊กก็ติดเลยเหมือนกัน ไม่มีสวิตช์ ผมนึกไม่ออกว่าทำไมเขาไม่ใส่สวิตช์ปิด-เปิดมาให้ อยากจะปิดเครื่องต้องดึงปลั๊กออกอย่างเดียว แต่ยังดี ที่เครื่องมีโหมด Sleep ซึ่งหน้าจอจะดับ ถ้าเกิดไม่ใช้งาน


ทดลองล้างชิ้นงาน โดยการล้างครั้งนี้ ผมจะไม่เอางานออกจากฐานพิมพ์ ซึ่งการล้าง ก็เพียงแค่เอาฐานพิมพ์วางลงบนชั้นวาง เสร็จแล้วก็ ตั้งเวลา ครั้งนี้ผมลองตั้งแค่ 20 นาที แล้วกดปุ่ม เพื่อเริ่มการล้าง
หลักการทำงานคือ ตัวแขวนจะชิ้นงานจะค่อนๆลดระดับลง เหมือนกับการลงลิฟท์ แล้วฝาเครื่องก็จะปิดเองโดยอัตโนมัติ ชิ้นงานจะจมลงไปใน IPA ตัวใบพัด ก็จะเริ่มหมุน ทำให้เกิดกระแสน้ำวน ซึ่งผมดูแล้ว มันแรงมาก เห็นน้ำกระเพื่อมตามขอบถังได้ชัดเจน ซึ่งผ่านไปประมาณ 2 นาที ใบพัดเริ่มหยุด แล้วหมุนไปอีกทาง ครั้งนี้ มันเหมือนกับเป็นการผลัก รู้สึกได้ว่า น้ำที่อยู่ด้านล้าง ถูกดันขึ้นไปทางด้านบนแทน ต่างกับเมื่อกี้ ที่น้ำด้านบนถูกดูดลงมาด้านล่าง
การสังเกตุครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นการทำให้ตัว IPA สามารถใช้งานได้แบบทั่วทั้งถัง ไม่เหมือนกับการปล่อยให้ IPA อยู่นิ่งๆ แล้วล้าง ทาง Formlabs ได้บอกไว้ว่า การล้างชิ้นงานจากเครื่อง Form Wash นั้น สามารถล้างงานได้ประมาณ 70-80 ครั้ง เมื่อครบแล้ว ถึงค่อยเปลี่ยน IPA หรือว่าจะใช้ Hydro meter ที่แถมมา วัดค่าความเข้มข้นของ IPA ก็ได้

เมื่อเวลาครบ 20 นาที ตัวเครื่องก็ทำการยกฐานขึ้นมา ฝาเครื่องก็จะเปิดออก ซึ่งตรงนี้ผมสังเกตุเห็นว่า ตัวถังที่ใส่ IPA นั้น มันมีฝาอีกชั้น ที่เป็นบานพับ ซึ่งฝาจะปิด ในกรณีที่ฐานพิมพ์นั้นถูกยกขึ้นมา ตรงนี้ผมคิดว่า เอาไว้ป้องกันไม่ให้ IPA ระเหยออกมา แล้วก็กันกลิ่นของ IPA ที่ออกมาด้วย เรียกว่าออกแบบให้คนใช้ ใช้งานได้อย่างปลอดภัยที่สุด
สำหรับชิ้นงานที่ผ่านการล้างจากเครื่อง Form Wash นั้น ผมบอกเลย มีความแตกต่างมาก เมื่อก่อนล้างแบบแค่จุ่มลงในถัง IPA ซึ่งมี 2 ถัง แช่งานถังละ 10 นาที งานที่ล้างเสร็จ จะยังมีคราบน้ำยาติดที่ตัวงานอยู่ คือจับชิ้นงานแล้วรู้เลย คือมันจะเหนียวๆ ซึ่งต่างกับการล้างจากเครื่อง Form Wash เพราะมันไม่มีคราบเหนียวติดที่ตัวงานเลย แห้งสนิทมาก เอามือลูบ มันออกลื่นๆด้วยซ้ำ เรียกว่าเห็นข้อแตกต่างชัดเจน

มาต่อกันกับแกะกล่อง Form Cure
หลังจากทดลองใช้ Form Wash เสร็จ ก็มาต่อกับการแกะกล่อง Form Cure เปิดกล่องออกมาก็จะเจอกับแผ่นพับ แนะนำการใช้งานเครื่องและส่วนประกอบต่างๆของเครื่อง สำหรับเจ้าเครื่อง Form Cure นั้นไม่มีอุปกรณ์เสริมมาเหมือนกับเครื่องล้าง Form Wash มีแต่ตะแกรงกลมๆ หนึ่งอัน ที่มีอยู่ในกล่อง ซึ่งตะแกรงอันนี้เอาไว้สำหรับใส่ในเครื่อง เพื่อวางชิ้นงาน
สำหรับเครื่องตัวนี้ มันเบากว่าเครื่องล้างมาก แถมดูดำกว่า วัสดุที่ใช้จะเหมือนกับเครื่อง From Wash คือมีโลหะและพลาสติกผสมกัน ซึ่งวางคู่กันแล้วดูลงตัวมากๆ


ในส่วนด้านหลังเครื่องจะมีรูปแบบเดียวกันกับเครี่อง Form Wash คือมีรูสำหรับเสียบหม้อแปลงไฟ แล้วก็ พอร์ต USB Type B สำหรับ Upgrade เฟริม์แวร์ เหมือนกับเครื่อง Form Wash
ด้านหน้าเครื่องจะมีหน้าจอ OLED และปุ่มเหมือนกันกับเครื่อง Form Wash ซึ่งจะมีหน้าที่ในการปรับตั้งค่าต่างๆ แล้วถึงสั่งงานเครื่อง ส่วนใครมองหาสวิตช์ ปิด-เปิดเครื่องอยู่นั้น บอกเลยไม่ต้องมองหา เพราะไม่มี จะปิดเครื่องดึงปลั๊กอย่างเดียว
ฝาด้านหน้าเครื่องเป็นพลาสติกสีดำแบบโปร่งแสง ซึ่งจะเปิดแบบการยกฝาขึ้น เมื่อเปิดมาด้านใน จะเห็นว่ามีการเคลือบด้านในให้เป็นกระจกสะท้อน เพื่อให้แสง UV ที่ส่องออกมานั้น กระจายไปได้รอบๆ หลอด UV LED ย่านความถึ่แสง 405 nm ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านข้าง และตั้งฉากอยู่กับตัวเครื่อง มีทั้งหมด 13 หลอด ส่วนด้านบนจะเป็นหลอด LED สีขาว
ภายในเครื่องมีช่องสำหรับให้ลมเป่าออกมา ลมที่ออกมานั้นสามารถตั้งอุณหภูมิได้ โดยที่อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่่ 80 องศา


ทดลองใช้งานเครื่อง Form Cure
สำหรับการใช้งาน เครื่องอบ UV Form Cure ก็งาน ไม่มีอะไรมาก แค่ตั้งเวลาที่ต้องการ รวมถึงอุณหภูมิ ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้ สามารถเข้าไปเช็คได้ว่า เรซิ่นที่ใช้พิมพ์นั้น ควรจะอบกันที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ใช้เวลานานกี่นาที สามารถเข้าไปดูได้ที่ Link นี้ หรือ Click ที่ภาพ ก็ได้
งานที่ผมลองอบเป็นงานเรซิ่นสีเทา แบบ Standard เป็นเรซิ่นเวอร์ชั่น 3 ซึ่งทาง Formlabs แนะนำให้ใช้เวลาในการอบ 30 นาที ที่อุณหภูมิ 60 องศา
ซึ่งผมก็ตั้งค่าเครื่ืองตามที่ทาง Formlabs กำหนด แล้วก็เปิดฝา เอางานวาง ผมลองอบงานหลายๆชิ้นพร้อมกัน ซึ่งตะแกรงที่ให้มา ก็สามารถวางงานได้เยอะ พอสมควร แต่ผมมีความคิดว่า อาจจะพิมพ์โมเดล คล้ายกับที่วางขวดสี มีประมาณ 2 ชัั้น เพื่อที่จะได้วางงานได้เยอะขึ้น จะได้ประหยัดเวลา และค่าไฟ เอาไว้ทำแบบเสร็จ จะมาแจกนะครับ


พอวางงานเสร็จ ก็กดปุ่ม Start เครื่องก็เริ่มทำงาน ฐานวางชิ้นงานเริ่มหมุน แต่มีข้อสังเกตุที่ผมเห็นคือ หลอดไฟ UV LED นั้นไม่ทำงาน มีแต่เสียงลมและหน้าจอที่กำลังบอกอุณหภูมิที่กำลังขึ้นไปที่ 60 พออุณหภูมิถึง หลอดไฟ UV LED ก็ติด ซึ่งตรงนี้บอกให้รู้เลยว่า หลอดไฟ UV จะทำงานก็ต่อเมื่ออุณหภูมิ ถึงค่าที่กำหนดแล้ว สำหรับใครที่ซื้อเครื่องไปแต่อยากทดสอบว่า หลอดไฟ UV ทำงานหรือไม่ ก็แค่ตั้งค่าให้ Heater Off เท่านั้นเอง

งานที่ได้หลังจากการอบผ่านเครื่อง Form Cure นั้น ผมบอกเลยว่า มองไม่ออก ว่ามันแตกต่าง หรือดีกว่า การตากแดด หรืออบด้วยเครื่องแบบ DIY ที่ทำขึ้นเอง เพราะว่าชิ้นงานมันออกมาเหมือนๆกัน สีก็ไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ เรียกว่า หาข้อแตกต่างยาก ซึ่งทำให้ผมต้องลองอบอีกครั้งกับเรซิ่นที่เป็นตัวอื่นที่ไม่ใช่ เรซิ่นแบบ Standard
ผมได้ลองอีกครั้งกับ Tough Resin เวอร์ชั่น 4 ซึ่งเป็นเรซิ่นสำหรับงานที่ต้องการความหยืดหยุ่นเหมือนพลาสติก ABS มีความแข็งและเหนียว ซึ่งเรซิ่นตัวนี้ใช้เวลาอบ 60 นาที ที่อุณหภูมิ 60 องศา หลังจากอบออกมา ผมมองเห็นถึงความแตกต่างได้ คือชิ้นงานนั้นมีความแข็งขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ส่วนสีนั้น ไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่
สำหรับใครที่ซื่้อเครื่อง Form Cure ไป แล้วไม่รู้ว่าต้องตั้งค่าอย่างไร สามารถคลิ๊กเข้าไป Link นี้ได้เลย เป็น Link ที่ทาง Formlabs ทำขึ้นมา สำหรับการตั้งค่าเครื่อง Form Cure ให้เหมาะสมกับเรซิ่นชนิดต่างๆ การใช้งานแค่เลือกเรซิ่น และก็เวอร์ชั่นของเรซิ่นเท่านั้น ก็จะแสดงค่าที่ต้องใช้สำหรับการอบ

บทสรุปสำหรับการใช้งานเครื่อง Form Wash และ Form Cure

สำหรับการใช้งานทั้ง 2 เครื่อง ส่วนตัวผมประทับใจกับเจ้าเครื่อง Form Wash มาก เพราะมันทำให้พื้นที่การทำงานผมสะอาดขึ้น ไม่มีคราบเหนียวมาติดที่โต๊ะ หรือสิ่งของที่สัมผัสกับมัน การใช้งานก็ง่าย แถมกันกลิ่นของ IPA ให้ด้วย อันนี้ประทับใจมาก ส่วน Form Cure ผมว่ามันน่าจะเหมาะกับคนที่ใช้เรซิ่นประเภท Engineer เรซิ่นจำพวก Tough, Durable, High Temp, และ Flex เรซิ่น ซึ่งการอบโดยใช้ความร้อนและเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ได้คุณสมบัติของเรซิ่นตามที่ทาง Formlabs ได้ออกแบบไว้

อีกตัวที่เหมาะมากๆ สำหรับใช้กับเครื่อง Form Cure คือ Castable เรซิ่น ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะช่วยลดปัญหาการหล่องานไปได้เยอะมากๆ เพราะ Form Cure จะช่วยทำให้ เรซิ่นแบบ Castable นั้นแข็งตัวและแห้งถึงด้านใน ทำให้ลดปัญหาในการหล่อ ใครมีปัญหาเรื่องการหล่อ ลองเอาชิ้นงานมาให้เราอบได้นะครับ
ใครอ่านถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่าจำเป็นต้องซื้อทั้ง 2 ตัวไหม ผมบอกเลยไม่จำเป็น ในความคิดผม ผมว่าใครใช้ Standard เรซิ่นเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เรซิ่นแบบ Engineer หรือ Dental ให้ซื้อแค่ Form Wash อย่างเดียวก็พอ เพราะมันจะทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น ไม่ต้องมานั่งเช็ด คราบเหนียว แถมงานที่ออกมา ก็เรียกได้ว่าแตกต่างจากการล้างแบบจุ่มอยู่กับที่ ส่วนใครใช้ เรซิ่นแบบ Engineer และ Dental บ่อยๆ หรือใช้เป็นหลักในการพิมพ์ ผมแนะนำให้ซื้อทั้งคู่ เพราะมันจะทำให้งานที่พิมพ์ออกมามีคุณภาพที่ดีและแข็งแรง ตามที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้
สำหรับใครอ่านรีวิวนี้จบแล้วเริ่มอยากมาดูการทำงานของเครื่อง ก็สามารถมาดูได้ที่ บริษัท สยาม เรปแรป จำกัด ส่วนเรื่องราคานั้น ตอนนี้ Form Cure ราคาขายอยู่ที่ 28,110 บาท ส่วน Form Wash อยู่ที่ 20,180 บาท ใครสนใจก็ติดต่อได้ที่เบอร์ 089-8160651