อยากเก่ง เครื่องพิมพ์ 3D Printer ต้องรู้จัก G-Code
ผู้ใช้หลายๆคนที่เคยใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer เคยสงสัยไหมว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้นมันทำงานอย่างไร มันรู้ได้อย่างไรว่าต้องวิ่งไปพิมพ์ตรงนี้ หรือรู้ว่าตอนไหนต้องหยุดจ่ายเส้นพลาสติก ตอนไหนต้องเปลี่ยนไปพิมพ์ตรงจุดอื่น ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายๆคนไม่เคยรู้ รู้อย่างเดียวว่าเข้าโปรแกรม Slicer กด Slice แล้วก็ Save งานใส่ SD card แล้วก็ไปพิมพ์เลย หลายๆคนไม่เคยเปิดดูว่า เจ้าไฟล์ที่เป็นนามสกุล .gcode ที่ Save มาจาก Slicer นั้นมันหน้าตาเป็นอย่างไร หรือบ้างคนก็อาจไม่รู้ว่า ไฟล์ตัวนี้สามารถใช้โปรแกรม Notepad เปิดได้ บางคนเปิดมาได้ แต่อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะเห็นแต่ตัวเลขอะไรก็ไม่รู้ เยอะแยะไปหมด แถมมีจุดทศนิยม ตั้งหลายหลัก ซึ่งในบทความนี้ ผมจะมาอธิบายว่า
- เจ้าไฟล์ตัวนี้มันทำหน้าที่อะไร
- ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้มัน
- รู้แล้วจะได้อะไร
เรียกว่าถ้าอ่านกันจบ คุณจะสามารถสั่งงานเจ้าเครื่องปริ้น 3D ให้ทำงานได้อย่างใจนึกกันเลยทีเดียว
G-Code คืออะไร
G-Code ย่อมาจาก Geometric Code เป็นภาษาสำหรับการสั่งงานเครื่องจักรให้เคลื่อนที่ไปตามตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้คู่กับเครื่อง CNC (CNC คือเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Computer Numeric Control) ตัวเครื่องพิมพ์ 3D Printer ก็ถือว่าเป็นเครื่องจักร ซึ่งหัวพิมพ์จะทำการเคลื่อนที่ตามคำสั่ง G-Code สำหรับใครยังไม่เคยเห็นหน้าตาว่าไอ้เจ้า G-code ด้านใน File มันเป็นอย่างไร ก็ให้ใช้โปรแกรม Notepad ในการเปิดไฟล์ดู

ทำไมใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer ต้องรู้ G-Code
สำหรับคนเคยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เคยเจอไหมเวลาพิมพ์งานอยู่แล้วไฟดับ แล้วงานเสีย รู้สึกเสียดายเวลากับเส้นพลาสติก ซึ่งถ้าคนที่รู้ G-Code เขาจะไม่กลัวเลย เพราะเขาสามารถที่จะตัดและต่อ Code เพื่อมาพิมพ์ต่อได้เลย นอกจากจะนั้นถ้าเรารู้ G-Code แล้ว เราก็สามารถที่จะสั่งให้เครื่องพิมพ์ทำงานตามใจเราได้เลย อยากให้หยุดพิมพ์ตอนไหนก็ได้ หรือว่าก่อนจะพิมพ์ให้มันวิ่งไปฉีดเส้นลงตรงจุดที่เราต้องการ ใครยังไม่เคยเห็นหน้าตา G-Code หรือเพิ่งจะเริ่มใช้งาน 3D Printer สามารถโหลดไฟล์นี้ไปเปิดกับ Notepad ได้
สำหรับไฟล์ G-code นั้นถ้าเปิดมาแล้ว บางคนเห็นแล้วอาจจะงงเป็นไก่ตาแตก หรือดูแล้วไม่รู้เรื่อง ก็อย่าเพิ่งตกใจไป ลองตั้งสมาธิ แล้วดูดีๆ ก็จะเห็นว่ามันเป็นแค่พิกัด X Y Z และ E ซึ่งตัวเลขที่ตามหลังค่า X Y และ Z ก็คือพิกัดที่จะสั่งให้หัวพิมพ์วิ่งไปตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ ส่วน E คือ ตัวเลขที่สั่งให้หัวฉีดทำการฉีดพลาสติกออกมา ซึ่งตัวอักษร E ย่อมาจาก Extruder หรือหัวฉีดนั่นเอง ส่วนถ้าใครสังเกตุไปก็อาจจะเห็นว่ามีตัวอักษร F อยู่ด้วย ซึ่งตัวเลขที่ตามหลังค่านี้ ก็คือความเร็วในการพิมพ์ ที่เรียกว่า Feed Rate
วิธีการอ่าน G-Code
สำหรับวิธีการอ่าน G-Code นั้นให้อ่านไปที่ละบรรทัด ซึ่งถ้าจบบรรทัดก็คือ จบคำสั่งแล้วขึ้นบรรทัดใหม่ ซึ่งแต่ละบรรทัด ก็จะมี ตัวอักษรภาษอังกฤษอยู่ด้านหน้าตัวเลขเสมอ ซึ่งตัวที่จะเห็นบ่อยที่สุดก็คือ G0 และ G1 ความหมาย G0 คือ คำสั่งให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่อย่างเร็ว ซึ่งตรงนี้ จะใช้ในตอนที่ไม่ได้พิมพ์ หรือตอนที่หัวพิมพ์เปลี่ยนจุดพิมพ์ สำหรับ G1 นั้นเป็นคำสั่งให้หัวพิมพ์ฉีดพลาสติกเพื่อพิมพ์งาน ซึ่งความเร็วในตอนที่หัวพิมพ์กำลังพิมพ์งานนั้นจะช้ากว่า คำสั่ง G0
ใครอ่านถึงตรงนี้ แล้วยังไม่ปิด แปลว่าคุณมีความสนใจเกี่ยวกับ Programming ซึ่งถ้าอ่านต่อไป ผมรับประกันเลยว่า คุณจะสามารถสั่งเครื่องพิมพ์ 3 มิติของคุณให้ทำงานได้อย่างที่ใจต้องการเลย และอาจจะไม่ใช่แค่ 3D printer ที่คุณสามารถที่จะสั่งงานได้ แต่อาจรวมไปถึงเครื่อง CNC หรือเครื่องตัดเลเซอร์ด้วยก็ได้
นอกจากตัวอักษร G แล้วก็ยังมีตัวอักษรอื่นๆ นำหน้าได้เช่น T,M,P,S และอีกหลายๆตัว ลองดูตารางด้านล่างที่ผมยกตัวอย่างมา n ตัวเล็กด้านหลังคือ ตัวเลขเพื่อระบุคำสั่งหรือค่าตัวแปรที่ต้องการ
- Gnnn = เป็น Code มาตรฐานสากล ใช้สำหรับการสั่งให้เคลื่อนที่
- Xnnn = ค่าพิกัดในแนวแกน X
- Ynnn = ค่าพิกัดในแนวแกน Y
- Znnn = ค่าพิกัดในแนวแกน Z
- Ennn = เป็นตัวบอกระยะให้ตัวดันเส้นพลาสติก ดันเส้นลงมาตามค่าที่กำหนดไว้
- Fnnn = เป็นอีก Code ที่สำคัญ เพราะเป็นตัวระบุความเร็วในการพิมพ์งานให้ช้าหรือเร็ว
- Tnnn = เป็นคำสั่งสำหรับเลือกหัวฉีด แต่ถ้าเป็นเครื่องกัดหรือเครื่องกลึง CNC จะเป็นคำสั่งในการเลือกมีดกัด
- Mnnn = เป็น Code ที่ทาง Reprap กำหนดขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานสำหรับการสั่งงานเครื่องพิมพ์ 3D Printer โดยเฉพาะ เช่น เปิด-ปิดพัดลมเป่าชิ้นงาน
- Nnnn = เป็นตัวบอกเลขที่บรรทัด เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกใช้ฟังค์ชั่น
- Snnn = ค่าที่ตามหลัง Code ตัวนี้ จะเป็นค่าที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เช่น เวลา หรืออุณหภูมิ

การอ่าน G – Code นั้นให้ลองดูภาพด้านบน ซึ่งลำกัดการวางโค้ด จะขึ้นต้นด้วยคำสั่ง G ก่อนเสมอ (ไฮไลท์สีส้ม) แล้วถึงตามด้วยค่าพิกัด X,Y,Z หรือ E (ไฮไลท์สีน้ำเงินกับเขียว) ถ้ามีพิกัด 2 ตัวในบรรทัดเดียวกัน หมายถึงให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ไปพร้อมกันทั้ง 2 แกน ซึ่งก็คือการเดินเอียงหรือเดินเฉียงนั่นเอง ถ้ามี 3 พิกัด ก็หมายถึงให้เคลื่อนที่พร้อมกันทั้ง 3 แกน ซึ่งตัวอย่างด้านบนที่เขียนว่า G1 X-11.848 Y-7.736 E0.0051 หมายถึงให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่พร้อมกันทั้ง 2 แกนรวมไปถึงให้ด้นเส้นพลาสติกลงมาด้วยในขณะที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ หลังจากพิกัดในการเคลื่อนที่ ก็จะเป็นคำสั่ง F ที่หมายถึงความเร็วในการเคลื่อนที่ (ไฮไลท์สีเหลือง) ซึ่งการใส่ความเร็วนั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ทุกบรรทัด ให้ใส่บรรทัดที่จะเริ่มใช้ความเร็วนั้น บรรทัดต่อๆไป ก็จะเอาความเร็วนั้นมาใช้ต่อ ถ้ามีการเปลี่ยนความเร็วก็ให้ใส่ความเร็วใหม่ ในบรรทัดที่ต้องการเปลี่ยน
G-Code ที่สำคัญสำหรับการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3D Printer
สำหรับ Code ที่สำคัญสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer นั้นผมจะเอามาเฉพาะในส่วนที่สำคัญและจำเป็นจริงๆกับการใช้งาน รวมถึง Standard Code ที่จำเป้นต้องรู้ แต่ถ้าใครอ่านแล้วอยากหาความรู้หรือความหมายของ Code บางตัว ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ RepRap GCode Wiki
- G0 หรือ Rapid Movement เป็นคำสั่งที่ให้หัวพิมพ์เดินด้วยความเร็วสูงสุดที่เครื่องกำหนดมาใน Firmware ซึ่งถ้าเห็น G0 ก็หมายความว่า หัวพิมพ์จะไม่ทำการฉีดพลาสติก แต่จะทำการเคลื่อนหัวพิมพ์ไปยังจุดอื่น หรือจุดที่จะพิมพ์ต่อไป
- G1 หรือ Control Movement สำหรับ Code ตัวนี้ คือการสั่งให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ โดยที่ผู้ใช้สามารถกำหนดความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ โดยใส่ ค่า F แล้วตามด้วยความเร็วที่ต้องการ โดยที่ F จะต้องอยู่ด้านหลังพิกัด X Y Z ซึ่ง Code G1 นั้นจะใช้ในช่วงตอนที่หัวพิมพ์กำลังพิมพ์งาน หรือกำลังฉีดพลาสติก
- G17/G18/G19 เป็นคำสั่งสำหรับการ Set plane หรือระนาบในการฉีดงาน ซึ่งเครื่องพิมพ์ 3 มิติส่วนใหญ่ ระนาบที่อยู่ด้านล่างคือระนาบ X-Y ซึ่งก็คือคำสั่ง G17 ถ้าเป็น G18 ระนาบพื้นจะเป็น Z-X ส่่วน G19 จะเป็น Y-Z สำหรับค่ามาตรฐานของ 3D Printer ก็คือ G17 ซึ่งผู้ใช้จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
- G20/G21 อันนี้ถือว่าเป็น Code ทีสำคัญที่สุดอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าถ้าใส่ผิด หัวพิมพ์อาจจะเดินชนเลยก็ได้ เพราะ Code ตัวนี้เป็นตัวกำหนดหน่วยในการเดินให้กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ซึ่ง G20 ก็คือหน่วยนิ้ว แต่ถ้า G21 จะเป็นหน่วย มิล ค่าปกติที่ใช้กับเครื่องปริ้น 3 มิติก็คือ G21 หรือหน่วยมิล
- G28 เป็นคำสั่งให้หัวพิมพ์กลับเข้าสู่ตำแหน่งเริ่มต้นหรือ Home ซึ่งคำสั่งนี้ หัวพิมพ์จะวิ่งไปชนกับ Limit Switch ซึ่งสวิตช์ตัวนี้เป็นตัวกำหนดว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดที่หัวพิมพ์จะวิ่งไปได้ เคยสังเกตุกันไหมว่า พอพิมพ์งานเสร็จหัวพิมพ์จะวิ่งกลับไปที่จุดเริ่มต้นเสมอทุกครั้ง เพราะว่าใน G-Code ตอนท้ายสุด จะมีคำสั่ง G28 นี้เสมอ
- G90 เป็นตัวกำหนดให้การเคลื่อนที่เป็นจุดสมบูรณ์ ตรงนี้อาจจะ งง งง หน่อย Code ตัวนี้ หมายถึง ให้จุดที่หัวพิมพ์ชนกับ Limit Switch เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งก็คือจุดที่มีค่าเป็น 0 ซึ่งถ้า อยากจะสั่งให้หัวพิมพ์เดินไป 5 มิลในแนวแกน X จากจุดเริ่มต้น ก็ให้ใส่ G90 X5 ถ้าอยากให้เดินไป 10 มิลจากจุดเริ่มต้นก็ต้องใส่ G90 X10 หัวพิมพ์จะเคลื่อนที่ต่อไปอีก 5 มิล ไปยังจุดที่แกน X มีระยะห่างจากจุดที่หัวพิมพ์ชนกับ Limit Switch 10 มิล
- G91 คำสั่งในการเคลื่อนที่แบบสัมพันธ์ คำสั่งนี้จะต่างจากคำสั่ง G90 เพราะจะไม่ใช้จุดที่หัวพิมพ์ชนกับ Limit Switch เป็นจุดเริ่มต้น แต่จะใช้จุดที่หัวพิมพ์อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นแทน ยกตัวอย่างเช่น G91 X5 หมายถึงให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ในแกน X ออกไป 5 มิล ณ ตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งข้อดีของการใช้ G91 ก็คือ เราสามารถที่จะสั่งให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ตำแหน่งว่าหัวพิมพ์อยู่ห่างจาก Limit Switch เท่าไหร่ เราก็สามารถสั่งให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าหัวพิมพ์จะชนกับชิ้นงาน เช่น พิมพ์งานเสร็จ ให้หัวพิมพ์ยกหัวห่างออกจากตัวชิ้นงานไปทางขวา 5 มิล ก่อนทำการกลับเข้าสู่ตำแหน่งเริ่มต้นหรือ Home
นอกจาก G-Code แล้วก็ยังมี M-Code ที่ใช้สำหรับเฉพาะเครื่องพิมพ์ 3D Printer ซึ่งตัว M ย่อมาจาก Macro ใครเคยใช้ Excel ก็อาจจะรู้ว่ามันคืออะไร สำหรับ 3D Printer นั้นมันเป็นชุดคำสั่งที่ทาง RepRap เป็นคนกำหนดขึ้นมา เพื่อเอาไปใช้กับ เครื่องปริ้น 3 มิติ ซึ่งตัว M-Code ของเครื่องพิมพ์ 3D นั้นจะไม่เหมือนกับเครื่อง CNC เพราะรูปแบบการใช้งานแตกต่างกัน เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติจะมีพัดลมเพื่อใช้เป่าให้พลาสติกเย็น แต่เครื่องจักรอย่าง CNC Machining หรือเครื่องกลึงคอมพิวเตอร์นั้นไม่มีพัดลม หรือว่าจะเป็นการเปิดฮีทเตอร์ให้ความร้อนกับหัวฉีดและฐาน ก็จะใช้ M-Code ที่ถูกเขียนมาเฉพาะสำหรับ 3D Printer เท่านั้น ในการสั่งงาน
M-Code ที่สำคัญและใช้กันบ่อยๆในเครื่องพิมพ์ 3D Printer
- M104 / M109 เป็นคำสั่งในการเปิดฮีทเตอร์ใหักับหัวฉีด ซึ่งการใช้คำสั่งนี้จะต้องมีค่าอุณหภูมิที่ต้องการตามหลัง M code ตัวนี้ เช่น M104 S190 หมายความว่า ให้เปิดฮีทเตอร์หัวฉีดให้มีอุณหภูมิที่ 190 องศาเซลเซียส ตัวอักษร S คือค่าตัวแปรที่ต้องการ สำหรับข้อแตกต่างระหว่าง M104 กับ M109 ก็คือ การรอ หมายความว่า ถ้าเรียกใช้คำสั่ง M109 S190 คือการเปิดฮีทเตอร์ให้อุณหภูมิถึงค่าที่กำหนด ก่อนที่จะทำคำสั่งต่อไป แต่ถ้าเรียก M104 S190 จะหมายถึง ให้เปิดอุณหภูมิที่ฮีทเตอร์ แล้วไปทำคำสั่งอื่นต่อได้เลย โดยไม่ต้องรอให้อุณหภูมิถึงค่าที่ตั้งไว้ สำหรับการปิดฮีทเตอร์ ก็ง่ายมาก แค่ใส่ตัวเลขหลัง S ให้เป็น 0 ก็หมายถึงให้ปิดฮีทเตอร์
- M140 / M190 หลังจากเปิดฮีทเตอร์หัวฉีดได้แล้ว เรามาลองเปิดฮีทเตอร์ที่ฐานกันบ้าง ซึ่งคำสั่งนี้จะใช้ได้เฉพาะกับ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่มีฐานทำความร้อนเท่านั้น หลักการก็จะเหมือนกับการเปิดฮีทเตอร์ที่หัวฉีด กล่าวคือ ต้องมีค่าที่ต้องการตามหลังด้วย เช่น M140 S60 หรือ M190 S100 เป็นต้น สำหรับข้อแตกต่างระหว่าง M140 กับ M190 ก็คือ การรอ เหมือนกับการฮีทเตอร์ด้านบน M190 ต้องรอให้อุณหภูมิถึงก่อนค่อยทำคำสั่งต่อไป ส่วน M140 นั้นไม่ต้องรอ สามารถทำคำสั่งต่อไปได้เลย
- M106 เป็นชุดคำสั่งสำหรับการเปิดพัดลมที่ใช้เป่าชิ้นงาน ซึ่งคำสั่งนี้ต้องตาม S และค่าที่ต้องการ ซึ่งค่าที่ใช้สำหรับพัดลมนั้น จะใส่ได้ตั้งแต่ 0 จนถึง 255 ซึ่งค่าตัวนี้คือค่า PWM สำหรับพัดลม แปลง่ายๆ ถ้าใส่ตัวเลขเป็น 0 คือปิดพัดลม ถ้าใส่เป็น 255 คือเปิดพัดลมเต็มแรงที่ 100% นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น M106 S127 หมายความว่าให้เปิดพัดลมให้มีความแรงที่ 50%
- M107 เปิดพัดลมได้ก็ต้องปิดได้เหมือนกัน สำหรับการปิดพัดลมทำได้ 2 วิธีคือ ใช้คำสั่ง M106 S0 ก็เป็นการปิดพัดลมเป่าชิ้นงาน ถ้าขี้เกียจเขียนยาวก็ใช้ M107 ตัวเดียวก็ได้
- M84 สำหรับ M Code ตัวนี้เป็นคำสั่งให้หยุดจ่ายกระแสไฟไปที่มอเตอร์ ซึ่งจะใช้เวลาพิมพ์งานเสร็จแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มอเตอร์ร้อน คำสั่งนี้จะแนะนำให้ใช้กับเครื่องจำพวก Cartesian ไม่ควรใช้กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ประเภท Delta เพราะว่ามันจะทำให้หัวพิมพ์ตกใส่งาน เวลาพิมพ์งานเสร็จ ซึ่งจะทำให้ชิ้นงานพิมพ์เสีย เพราะหัวพิมพ์มันยังร้อนอยู่
สำหรับการเขียน G-Code นั้น ทางผู้เขียนสามารถใส่ Comment หรือรายละเอียดเกี่ยวกับ Code ที่เขียนไว้ให้คนอื่นที่มาอ่านสามารถทำความเข้าใจกับ Code นั้นได้ โดยที่รายละเอียด หรือ Comment นั้นต้องอยู่หลังเครื่องหมาย ; นี้เสมอ
การใช้งาน G-Code กับเครื่องพิมพ์ 3D printer
โครงสร้าง G-Code สำหรับ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่อง CNC จะมีส่วนที่เหมือนกันคือ
- หัวโค้ด (Starting G-Code)
- ส่วนของการพิมพ์ หรือการเคลื่อนที่ (Printing G-Code)
- ท้ายโค้ด (Ending G-Code)
ส่วนที่ผู้ใช้อย่างเราจะเป็นคนกำหนดก็คือในส่วนของ หัวโค้ด กับ ท้ายโค้ด เพราะเป็นส่วนที่เราสามารถสั่งให้เครื่องทำก่อนที่จะพิมพ์งาน เช่น วิ่งไปทางซ้ายมุมเครื่อง แล้วฉีดเส้นพลาสติกออกมาประมาณ 10 มิล แล้วค่อยวิ่งเข้าไปพิมพ์งาน หรือในกรณึที่พิมพ์งานเสร็จแล้วอยากให้เครื่องทำอะไร เช่น พิมพ์เสร็จแล้ว อาจจะให้ฮีทเตอร์ปิดการทำงานทั้งหัวฉีดและฐาน แล้วเปิดพัดลมเป่างานทิ้งไว้ซัก 3 นาที เพื่อเป่าให้งานเย็น แล้วค่อยขยับหัวพิมพ์กลับไปยังตำแหน่งเริ่มต้นหรือ Home


สำหรับการแก้ไขในส่วนของการพิมพ์ หรือ Printing G-code นั้น ส่วนใหญ่จะทำในกรณีที่ต้องการพิมพ์งานต่อ เนื่องจากไฟดับ ซึ่งวิธีการดูแบบง่ายๆ เลย คือวัดชิ้นงานในจุดที่ต้องการจะต่อ แล้วให้เปิด ไฟล์ G-code ในโปรแกรม Notepad (บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Notepad เปิด G-Code ได้) แล้วใช้คำสั่ง Find แล้วพิมพ์ ค่า Z ในจุดที่ต้องการต่อ เมื่อได้แล้ว ก็ลบโค้ดที่อยู่ด้านบนออก แล้วให้ทำการพิมพ์ หัวโค๊ด เข้าไปแทนที่ โดยต้องมีการตั้งค่าอุณหภูมิ รวมถึงโค๊ด G90 ไว้ด้วย ถึงจะทำให้หัวพิมพ์สามารถลงมาพิมพ์ต่อได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ตำแหน่งเดิม แต่ก็พอช่วยได้บ้าง
การแก้ G-Code ในโปรแกรม Slicer
สำหรับการแก้ไข หรือเพิ่มเติม G-Code ในโปรแกรม Slicer นั้นอาจจะต่างกันไป ถ้าใช้โปรแกรม Cura ที่เป็นเวอร์ชั่น 15 นั้น ให้เลือกไปที่แถบสุดท้ายที่เรียกว่า Start/End G-Code ซึ่งจะมีหัวข้อให้เลือกในส่วนของ Start และ Eng G-Code ที่อยู่กันคนละแถว จะแก้หรือเพิ่มในส่วนไหน ก็ให้เลือกตรงนั้น สำหรับ โปรแกรม Simplify3D นั้น ให้ Double Click ที่ Process แล้วเลือก แถบ Script ซึ่งในแถบนี้ จะมีให้เลือกว่าจะแก้หรือ G-Code ในส่วนไหน เช่น หัวโค้ด หรือว่าจะเป็นตอนที่กำลังเปลี่ยนเลเยอร์ ก็สามารถกำหนด G-Code แทรกเข้าไปได้


สำหรับบทความนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคน ทั้งกับคนที่เริ่มหรือเคยได้ลองใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer กัน ถ้ามีใครสงสัยหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัยใน Code บางตัว ก็สามารถที่จะถามผมได้ใน Facebook ของ สยามเรปแรป สำหรับใครที่อ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ก็อย่าลืมแชร์บทความนี้นะครับ สำหรับบทความหน้าผมจะมารีวิว เกี่ยวกับเส้นยาง ซึ่งเป็นเส้นพลาสติกที่พิมพ์ยาก ตัวนึงสำหรับ เครื่องปริ้น 3 มิติ ใครที่มีแพลนหรือกำลังจะเริ่มพิมพ์เส้นยาง ก็อดใจกันหน่อย กำลังเรียบเรียงบทความที่จะเขียนอยู่