รีวิว BCN3D Sigma เครื่องพิมพ์ 3D Printer 2 หัวฉีดที่ดีทีสุดในปี 2016
บทความนี้มีการอัพเดทให้ทันตามกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้เครื่องรุ่นนี้ ได้เลิกผลิตและเปลี่ยนรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว ทางร้านไม่ได้นำเครื่องรุ่นนี้เข้ามาจำหน่ายแล้ว แต่มีเครื่องรุ่นอื่น ที่มีเทคโนโลยีเดียวกันนี้มาจำหน่ายแทน ซึ่งหลักการในการพิมพ์ ก็จะเหมือนกับเครื่องรุ่นนี้ ถ้าผู้อ่านอยากรู้ว่าเครื่องพิมพ์ 2 หัวฉีด ที่ควรจะซื้อ ต้องมีหน้าตา หรือหัวฉีดแบบไหน ก็สามารถอ่านบทความนี้ต่อไปได้ แต่ถ้าต้องการดูรีวิวเครื่อง 2 หัวฉีด ที่ทันสมัยและล้ำหน้ากว่าเครื่องรุ่นนี้ ก็สามารถกด Link ตรงนี้เพื่อเข้าไปอ่านเครื่องรุ่นอื่นๆได้เลย
ก่อนจะเริ่มทำการรีวิว ผมขอเล่าให้ฟังถึงที่มา ว่าทำไมผมถึงเอาเจ้า 3D Printer BCN3D Sigma มาจำหน่าย ทั้งๆที่มีเครื่องพิมพ์แบบ 2 หัวฉีดตั้งหลายรุ่นและยี่ฮ้อ แถมราคาก็ถูกกว่าเจ้าตัวนี้ สาเหตุเดียวที่ผมเอาเข้ามาจำหน่าย เพราะระบบเครื่องพิมพ์ตัวนี้ มันดูแล้ว Make Sense ที่สุด พูดง่ายๆคือ ถ้าทุกคนได้เห็นตัวนี้มันพิมพ์งานจะร้อง “อ๋อ” ในทันที เพราะมันดูเข้าใจง่าย และเป็นการแก้ปัญหางานพิมพ์ 2 หัวที่ถูกต้องที่สุด สำหรับคนที่ไม่เคยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนเคยใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer มาก่อนจะเข้าใจเลย ยิ่งถ้าเคยใช้เครื่องที่มี 2 หัวฉีดมาก่อน อาจจะบอกในใจว่า “ไม่น่ารีบซื้อเลย ซื้อตัวนี้มาก็จบ”
ประสบการณ์ที่ผมเห็นคนที่ซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบ 2 หัวฉีดมานั้น ส่วนใหญ่คิดว่า มันน่าจะใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก พิมพ์ออกมาน่าจะสวยกว่าหัวฉีดอันเดียว เพราะอีกหัวสามารถเอามาพิมพ์พลาสติกที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเอาไปพิมพ์เป็น Support หรือตัวรองรับ ก็เลยซื้อแบบ 2 หัวฉีดมา เพื่อเงินอีกประมาณ 8-9000 บาท แต่เดี๋ยวก่อน ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ผมเห็นคนซื้อส่วนใหญ่พอได้พิมพ์ 2 หัวพร้อมกัน นั่งกุมขมับ หน้าดำคร่ำเครียดหาวิธีเซ็ทให้มันพิมพ์ได้ พอพิมพ์ไปได้ซักพัก หัวพิมพ์ชนงาน งานเสีย ผมว่าประมาณ 80 เปอร์เซนต์ ถอดเอาหัวฉีดที่ 2 ออก หรือไม่ก็ไม่ใช้มันเลย ซึ่งตรงนี้้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ปัญหาของเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบ 2 หัวฉีด ที่หัวฉีดอยู่ติดกันและนั่งบนรางขับเคลื่อนเดียวกัน
- หัวพิมพ์อีกหัวชนงานที่พิมพ์อยู่ทำให้งานหลุดหรือเคลื่อนตอนพิมพ์
- เส้นพลาสติกจากอีกหัวพิมพ์ เปื้อนชิ้นงานที่กำลังพิมพ์
- พลาสติกที่พิมพ์ ไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นช่อง หรือไม่ก็ทับกันมากเกินไป

ซึ่งปัญหาด้านบนที่กล่าวมา ถ้าจะให้เครื่องมันพิมพ์ได้ ต้องมีการ Calibrate หรือปรับตั้งหัวฉีดให้อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เครื่องมือกับความอดทนในการปรับแต่ง ส่วนเรื่องเส้นพลาสติกที่เปื้อนชิ้นงาน ตรงนี้ก็ต้องไปปรับที่โปรแกรม Slicer ที่ใช้สร้างโค๊ดให้เครื่องพิมพ์ ในส่วนนี้ ก็ต้องใช้หลักการ Trial and Error หรือที่เรียกว่า “มั่วจนกว่าจะหาค่าได้” ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนเส้นพลาสติก ก็ต้องมาหาใหม่อีก ส่วนปัญหาเรื่อง เส้นพลาสติกพิมพ์แล้วเกิดช่องว่าง หรือทับกันมากเกินไป ตอนที่พิมพ์แบบสลับสี อันนี้ก็ต้องเข้าไปหาค่า Offset หรือระยะห่างของหัวฉีดทั้ง 2 หัว แล้วไปแก้ใน Firmware ของเครื่องพิมพ์ ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนหรือถอดหัวฉีด ก็ต้องทำตรงนี้ใหม่
ปัญหาที่ผมพูดไป เป็นในส่วนที่ผมได้พูดคุยกับลูกค้า และส่วนใหญ่ก็เจอปัญหาอย่างที่ผมบอก ทำให้หลายๆคนเลิกใช้อีกหัว หรือถอดหัวฉีดที่ 2 ออกเลย ซึ่งจริงๆแล้วถ้าสามารถใช้หัวพิมพ์ทั้ง 2 หัวได้ จะทำให้งานพิมพ์นั้นมีคุณภาพมากขึ้น หรือว่าพิมพ์ได้เร็วขึ้นด้วย หลายๆคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงพิมพ์ได้เร็วขึ้น เดี๋ยวจะมาอธิบายให้ฟัง แต่ตอนนี้ขอพูดเกี่ยวกับการพิมพ์ Support หรือตัวรองรับก่อน ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่หลายๆคน เลือกใช้เครื่องพิมพ์แบบ 2 หัวฉีด
การพิมพ์ Support หรือตัวรองรับ
เวลาพิมพ์งาน 3 มิติ ส่วนใหญ่ถ้าโมเดลทีความซับซ้อน ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยง Support หรือตัวรองรับ ซึ่งตรงนี้ ถ้าคนที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่มีหัวฉีดเดียว เวลาพิมพ์งาน ตัว Support หรือตัวรองรับ ก็จะเป็นพลาสติกตัวเดียวกับที่ใช้พิมพ์งาน ซึ่งเวลาพิมพ์เสร็จและแกะตัวรองรับออก จะแกะยาก ยิ่งถ้าเป็นพลาสติก PLA ยิ่งแกะยาก และงานตรงไหนที่โดน Support ค้ำ ตรงนั้นจะไม่สวย ซึ่งถ้าเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติระดับอุตสาหกรรมนั้น เขาจะใช้เส้นพลาสติกแบบพิเศษ ที่สามารถละลายในน้ำหรือสารเคมีได้ ทำให้เครื่องพิมพ์ที่มี 2 หัวฉีดเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยที่หัวฉีดแรก ฉีดโมเดลชิ้นงานจริง ส่วนหัวฉีดที่สองเอาไว้ฉีดตัวรองรับ ที่พิมพ์จากพลาสติกที่ละลายน้ำได้ ทำให้งานที่พิมพ์ออกมา มีคุณภาพและสวยงามมากกว่าเครื่องปริ้น 3 มิติที่มีหัวฉีดเดียว

2 หัวดีกว่า หัวเดียวเพราะพิมพ์งานได้เร็วขึ้น
ตรงนี้หลายๆคนอาจจะไม่เชื่อเพราะว่า การพิมพ์งานที่มี 2 หัวนั้น อาจจะต้องมีการสลับหัวฉีด แถมอาจจะต้องรอให้อีกหัวฉีด อีกอันเย็นก่อนแล้วถึงจะเข้ามาพิมพ์ สำหรับตรงนี้ผมไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าผู้ใช้ลองเปลี่ยนขนาดรูหัวฉีด โดยให้หัวฉีดแรกใช้หัวฉีดแบบมาตรฐานที่มีรู 0.4 มิล และอีกหัวให้ใช้หัวฉีดที่มีรูขนาด 0.6 หรือ 0.8 มิล เวลาใช้งาน ก้ให้หัวพิมพ์ที่มีรู 0.4 พิมพ์ผนังของชิ้นงาน ส่วนหัวพิมพ์ที่มีขนาด 0.6 หรือ 0.8 มิล ให้พิมพ์ โครงสร้างด้านในหรือ Infill โดยให้พิมพ์ทุก 2 เลเยอร์ หมายความว่า เวลาพิมพ์หัวพิมพ์ที่ 1 จะพิมพ์ผนังขึ้นมาก่อน 2 ชั้นแล้วหัวพิมพ์ที่มีรูใหญ่ถึงจะพิมพ์ Infill 1 ชั้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้ประหยัดเวลาในการพิมพ์ Infill ซึ่งเป็นส่วนที่เสียเวลามาก ส่วนความแข็งแรงไม่ต้องห่วง เพราะพลาสติกที่ออกมาจากรูมีขนาดเส้นที่ใหญ่ แต่เดี๋ยวก่อน การที่จะพิมพ์ลักษณะนี้ได้ต้องพึ่งโปรแกรม Slicer ที่ชื่อว่า Simplify3D ด้วยนะครับ ซึ่งโปรแกรม Slicer ตัวอื่น จะไม่มีฟังค์ชั่นแบบนี้
แกะกล่อง 3D Printer BCN3D SIGMA
เครื่องพิมพ์ BCN3D SIGMA ที่ผมได้มาเป็นกล่องแบบเก่ามีสีน้ำตาล กล่องใหม่เป็นสีดำ สวยงาม เปิดกล่องมาก็จะเจอ ตัวอย่างงานที่พิมพ์จากเจ้าเครื่องตัวนี้ ซึ่งเห็นงานตอนแรกแล้วอึ้ง เพราะว่างานที่พิมพ์ออกมา 2 สี นั้นสวยมาก ไม่มีส่วนที่สี 2 สี นั้นเปื้อนกันเลย ยิ่งลายจุดเล็กๆ นั้นที่ตัวโมเดล ก็ไม่มีสีเปื้อน ซึ่งถ้าเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่หัวพิมพ์อยู่ติดกัน จะพิมพ์ในส่วนเล็กๆ แบบนี้ไม่ได้เลย ต่อจากโมเดล ก็จะเป็นกล่องเครื่องมือ และคู่มือ ที่มากับเครื่อง เหมือนกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติของ Zortrax แต่ของที่ Zortrax ให้มานั้นดูดีกว่า และครบกว่า ตัวเครื่องจะมาพร้อมกับพลาสติก PLA 2 ม้วน ซึ่งมีขนาด 2.85 มิล ขอบอกก่อนนะครับ เครื่องรุ่นนี้ใช้เส้น 2.85 มิล เท่านั้นนะครับ เหมือนกับเครื่องปริ้น Ultimaker แต่ถ้าใครอยากจะเปลี่ยนเป็น 1.75 มิล ก็ทำได้ แต่ต้องไปแก้ Firmware แล้วเปลี่ยนชุดขับเส้นพลาสติกใหม่ ที่ผมบอกว่าแก้ได้ เพราะเครื่องตัวนี้เป็นแบบ Opensource ใช้ Firmware ของ Marlin ซึ่งถ้าใครเคยสร้างเครื่องปริ้น 3 มิติเป็น ก็อาจจะสามารถปรับแต่งค่าได้ ส่วนตัวเครื่อง BCN3D Sigma ก็จะอยู่ด้านล่าง ตอนแรกนึกว่าเครื่องจะหนัก แต่ก็ไม่ได้หนักเท่าไหร่ คนเดียวก็ยกได้ พอยกออกมา จะเห็นสายสีขาวที่ติดกับหัวฉีด งอและพับอยู่ ซึ่งตรงนี้ จำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มากับเครื่อง และท่อ ยึดติดกับสายนี้อีกที เพื่อไม่ให้สายมันพับ



มาลองเปิดเครื่อง
หลังจากยกออกมาจากกล่อง ก็สำรวจคู่มือ การติดตั้งรวมถึงการใส่ท่อและยึดติดกับสายแพสีขาว ซึ่งจะมีตัวยึดที่ใช้คล้องสายเขากับท่อ เพื่อให้สายโค้งตามท่อ ตรงนี้สำคัญมากนะครับ ถ้าใครซื้อเครื่องไป ก็ควจใส่ใจรายละเอียดตรงนี้ เพราะถ้าสายมันพับ สายไฟด้านในอาจจะขาด ทำให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่และหัวฉีดไม่ทำงาน ต่อไปก็เสียบปลั๊กเปิดเครื่อง ครั้งแรกที่เปิดเครื่อง สิ่งแรกที่สังเกตุได้คือเสียง เครื่องตัวนี้ผมบอกเลย “เสียงดังมาก” ซึ่งต้นตอของเสียงมาจากพัดลม แต่ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะชินกับเสียงไปเอง สำหรับเครื่อง BCN3D Sigma 3D Printer ตัวนี้มาพร้อมกับหน้าจอ Touch Screen ที่ใช้ในการควบคุมเครื่อง ซึ่งกดได้ทันใจ ไม่มีอาการสะดุด กดปุ๊บมาปั๊ป ส่วนคำสั่งที่ใช้ควบคุมเครื่องนั้น ก็จะเป็นรูปไอคอนที่สื่อความหมายได้อย่างดี คนที่ไม่เคยใช้เครื่อง 3D Printer มาก่อน ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ตอนที่ผมได้เครื่องมานั้น ตัวเครื่องยังเป็น Firmware เวอร์ชั่นเก่าอยู่ ซึ่งตอนนี้เป็น Version ใหม่แล้ว มีการ Update ในส่วนของหน้าจอ Touchscren ด้วย ซึ่ง Firmware ตัวใหม่ หน้าตาในส่วนควบคุมก็เปลี่ยนใหม่ สวยงามกว่าเดิม ไอคอนตัวใหญ่ขึ้น และก็ตัดคำสั่งควบคุมที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงการเลือกไฟล์พิมพ์งานก็ง่ายขึ้น
สำหรับการใส่เส้นพลาสติกนั้น เครื่อง BCN3D Sigma ถูกออกแบบมาให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายในเครื่องด้วย ซึ่งเส้นพลาสติกนั้นจะถูกวางเอาไว้ในเครื่อง ทำให้ประหยัดพื้นที่ ซึ่งในส่วนที่วางเส้น Filament นั้นทำจากพลาสติกที่น่าจะใช้การขึ้นรูปแบบ Vacuum Forming ตอนแรกที่ผมเห็นผมนึกว่าเป็นอลูมิเนียมพ่นสี แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ น่าจะเป็นพลาสติก ABS
เริ่มใช้เครื่อง
ตอนที่ผมทำรีวิวนั้น Firmware ที่มากับเครื่องยังเป็น Version เก่าอยู่ ซึ่งตอนนี้มี Version ใหม่ออกมาแล้ว ซึ่งจะทำการ Update ในส่วนของ Interface หน้าจอ Touch Screen ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ก่อนจะเริ่มพิมพ์ก็ต้องมีการ Calibrate เครื่องซะก่อน ซึ่งตอนแรกผมเปิดดูใน Youtube ที่เป็นช่องของทาง BCN3D ทำขึ้นมา เพื่ออธิบายขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่แกะกล่อง จนถึงการ Calibrate ซึงตัววิดีโอก็ทำออกได้ดี เข้าใจง่าย สำหรับการ Calibrate เครื่องพิมพ์ 3D Printer BCN3D Sigma นั้น ขอตะโกนบอกเลยว่า “โคตรง่าย” ไม่เคยเจอเครื่องพิมพ์ฺ 3 มิติ เครื่องไหน Calibrate ได้ง่ายเท่าเครื่องนี้เลย ขนาดเป็นเครื่อง 2 หัวฉีด ที่ทำงานแยกกันด้วย ซึ่งตอนแรกนนึกว่าจะ Calibrate ยาก แต่ที่ไหนได้ ทาง BCN3D ทำขั้นตอนการ Calibrate ที่ง่ายมาก ซึ่งการอธิบายอาจจะใช้เวลาในการเขียน ผมว่าดูวิดีโอที่ทาง BCN3D ทำน่าจะเร็วกว่า ใครดูเสร็จอาจจะตะโกนแบบผมออกมาก็ได้ว่า “แ_่งโคตรง่าย” ซึ่งการ Calibrate เครื่องวิธีนี่ผมว่ามันเป็นอะไรที่ Make Sense ถูกต้องที่สุด
การ Calibrate ของเครื่องปริ้น 3 มิติ BCN3D Sigma นั้น จะมีการฉีดเส้นพลาสติกในแนวแกน x ออกมา 10 เส้น ทั้ง หัวฉีดซ้ายและหัวฉีดขวา จากนั้น ผู็ใช้ก็แค่สังเกตุว่า เส้นที่ฉีดออกมาอันไหนตรงกันมากที่สุด แล้วก็เลือก ซึ่งจะทำแบบนี้กับแกน Y ด้วย เมื่อเลือกเสร็จ เครื่องก็จะเก็บค่าอันนี้เอาไว้ ซึ่งตรงนี้ทำให้งานพิมพ์ 2 สีพิมพ์กันชิดพอดีไม่เกยกัน ถ้าเป็นเครื่องพิมพ์3 มิติรุ่นอื่นๆ นั้น จะต้องเข้าไปปรับแต่งค่าใน Firmware ซึ่งกว่าจะหาได้ก็ต้องใช้เวลา สำหรับการ Calibrate แกน Z นั้น ก็จะใช้ Limit Swich ที่ติดกับหัวฉีดในแต่ละหัว ทำการวัด โดยที่เราต้องใช้กระดาษสอดเข้าไประหว่างหัวฉีดกับฐานพิมพ์ก่อน แล้วค่อยขยับหัวฉีด จนกระทั่งมีหัวฉีดชนกระดาษ แต่ยังสามารถดึงกระดาษออกได้ เมื่อได้แล้ว เครื่องก็จะทำการฉีดเส้นพลาสติกออกมา 5 เส้นแล้วก็ให้เลือกว่าอันไหนฉีดออกมาแล้วติดกับฐานดีที่สุด แล้วก็เลือก เมื่อเลือกเสร็จเครื่องก็จะทำการเก็บค่า แล้วก็ไปทำอีกหัวฉีด ขั้นตอนก็เหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ทำให้ระยะระหว่างหัวฉีดกับฐานทั้ง 2 หัวนั้นเท่ากัน ถืงแม้ว่าหัวฉีดจะไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เพราะตัวเลขที่เก็บนั้น เครื่องพิมพ์จะเอาไปใช้และชดเชยในแต่ละหัวเองโดยอัตโนมัติ เวลาเครื่อง Calibrate จะทำแกน Z ก่อนแล้วค่อยทำแกน X กับแกน Y
ทดลองพิมพ์
เมื่อ Calibrate เสร็จแล้ว ความตื่นเต้นก็เริ่มต้น เพราะจะได้ลองของดูว่า เครื่องมันดีจริงหรือเปล่า ผมยังไม่ได้ทำโปรแกรม แต่ใช้ไฟล์ที่มากับเครื่องที่ Save เอาไว้ใน SD Card ในการพิมพ์ ซึ่งจะมีหลายไฟล์มากๆ ก่อนพิมพ์ก็จัดเอาเส้นใส่ไปที่เครื่องก่อน ซึ่งเส้นที่ใช้เป็นขนาด 2.85 มิล แบรนด์ InnoFill ของยุโรป เป็นสีขาวและดำ เส้นที่แถมมากับเครื่องผมว่ามันน่าจะเก็บไว้นาน เลยเปราะไปหน่อย กดนิดเดียวก็หัก แต่ไม่เป็นไรได้ฟรีมา ก็ใช้ละกัน สำหรับการใส่เส้นนั้น ที่ตัวเครือง BCN3D Sigma ก็จะมีคำสั่งสำหรับการ Load เส้นพลาสติก ใส่ง่าย พอเส้นออกทั้ง 2 หัว ก็ทดลองพิมพ์งาน 2 สี ที่เป็นตัว ตุ๊กแก เหมือนกับที่ให้มาในกล่อง แต่อันนี้เล็กกว่า งานที่พิมพ์ออกมาครั้งแรก ถือว่าโอเค มีเส้นใยติดที่ตัวงาน รวมถึงมีสีเปรอะตัวงานด้วย แต่ไม่มาก อาจเป็นเพราะว่างานมีขนาดเล็ก ซึ่งตรงนี้่อาจต้องไปแก้ที่โปรแกรม Slicer งานชิ้่นต่อไปที่พิมพ์ก็เป็นงานที่มากับ SD Card แต่เป็นการพิมพ์ที่มีความละเอียด 50 ไมครอนโดยใช้หัวฉีดเดียว โมเดลเป็นตัวหมากรุก รูปหอคอยที่มีเกลียวอยู่ด้าน อันนี้พิมพ์เสร็จ บอกเลยงานเนี๊ยบมาก รายละเอียดที่เป็นเกลียวขึ้นครบ ไม่ย้วย


สำหรับงานชิ้นต่อไปลองพิมพ์โดยใช้โปรแกรม Cura ที่ทาง BCN3D ได้ทำการ Modify สำหรับใช้กับเครื่อง Sigma ซึ่งเอา Profile ที่ทาง BCN3D ให้มาลองเอามาใช้เลย ไม่ได้ปรับแต่งค่าอะไรเลย ใช้หัวฉีดเดียว พิมพ์พลาสติก ABS งานออกมาสวย
งานชิ้นต่อไป ลองทำโค๊ดจากโปรแกรม Simplify3D ซึ่งมี Profile เตรียมไว้แล้วสำหรับเครื่องตัวนี้ ครั้งนี้ลอง 2 หัวฉีดดูบ้าง โดยพิมพ์ขวดดู งานออกมาโอเค แต่มีใยพลาสติกด้านในเยอะมาก สงสัย Profile ที่ให้มาไม่ได้ Update เท่าไหร่

โปรแกรม Simplify3D เกิดมาคู่กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer 2 หัวฉีด
ผมขอนอกเรื่องนิดนึงนะครับ ตัวโปรแกรม Simplify3D นั้น เหมาะมากๆกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่มี 2 หัวฉีด เพราะในโปรแกรมมีโหมด Wizard หรือโหมดที่ทำให้งานพิมพ์ 2 สี เป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องตั้งค่าอะไรมาก นอกจากนั้นตัวโปรแกรม Simplify3D ยังมีฟังค์ชั่น ที่ช่วยป้องกันไม่ให้สีเปื้อนชิ้นงานด้วย เรียกว่า Ooze Shield ที่จะเป็นการสร้างกำแพงรอบตัวชิ้นงาน ซึ่งกำแพงตัวนี้จะเสียสละยอมให้สีมาเปื้อนตัวมันเอง ใครนึกไม่ออกลองดูวิดีโอ จะเห็นกรอบรอบชิ้นงาน และถ้าใครมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบ 2 หัวฉีดอยู่แล้ว ลองมาใช้โปรแกรม Simplify3D ดู งาน 2 สีจะออกมาดีกว่าเดิม
คราวนี้มาลองใช้ Simplify3D พิมพ์งานหัวเดียวดูบ้าง งานที่พิมพ์เป็นที่วาง Headphone รูป Batman มีหลายชิ้น ใครอยากได้ลองไปโหลดได้ที่ Myminifactory พิมพ์เสร็จแล้วเอามาประกอบกัน ข้อดีของเครื่องพิมพ์ 3D Printer BCN3D Sigma นั้นอีกอย่างก็คือพื้นที่พิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถพิมพ์งานได้ถึง 210 x 297 x 210 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้สามารถโมเดลตัวนี้พิมพ์ได้ โดยไม่ต้องตัดต่อเลย อีกข้อดีของเครื่องพิมพ์ตัวนี้ พิมพ์งานได้เต็มพื้นที่ ถึงจะพิมพ์ 2 หัวฉีดพร้อมกัน พื้นที่พิมพ์ก็ไม่ได้ลดลง อันนี้หลายคนอาจสงสัย ถ้าเป็นเครื่องปริ้น 3 มิติ ที่มี หัวฉีดที่ติดกัน ไปไหนไปด้วยกัน จะทำให้พื้นที่พิมพ์นั้นลดลงไป เพราะจะต้องเสียพื้นที่ให้กับระยะห่างของหัวฉีดแต่ละหัว พูดง่ายก็คือ เสียพื้นที่ด้านข้าง ซ้ายและขวา เพราะหัวฉีดที่อยู่ด้านซ้ายจะไม่สามารถวิ่งได้สุดเครื่องเพราะติดหัวฉีดที่อยู่ด้านขวา แต่สำหรับเครื่องพิมพ์ SIGMA นั้นปัญหานี้ตัดไปเลย เพราะแต่ละหัวทำงานอย่างอิสระ และไม่ได้ติดกัน ทำให้ได้พื้นที่พิมพ์ที่ใหญ่ ผมคิดว่าน่าจะใหญ่สุดในตลาดสองหัวฉีดตอนนี้ ในราคาระดับนี้นะครับ


สรุปการใช้งาน
หลังจากได้ลองเล่นและใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer BCN3D Sigma มาซักระยะหนึ่ง ถือว่าเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ 2 หัวฉีดที่ดีที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้ เรียกว่า ถ้าใครเห็นการทำงานของเครื่อง จะรู้เลยว่า คนคิดและผลิตเครื่องนั้น ทำเครื่องออกมาได้ Make Sense หรือว่าถูกต้องที่สุดของเครื่องที่มี 2 หัวฉีด ส่วนเรื่องคุณภาพงานพิมพ์นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า แต่ถ้าเอาเจ้า BCN3D Sigma มาใช้คู่กับโปรแกรม Simplify3D แล้ว จะเป็นการจับคู่ที่ลงตัวมาก เพราะจะสามาถใช้ฟังค์ชั่นของ 2 หัวฉีดได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเอาพิมพ์ Support หรือตัวรองรับ หรือจะเปลี่ยนรูหัวฉีดให้แตกต่างกัน เพื่อให้พิมพ์งานได้เร็วขึ้น หรือกรณึที่อีกหัวต้น ก็ใช้อีกหัวทดแทนไปก่อน ระหว่างซ่อมหรือรออะไหล่
ข้อดี
- หัวฉีดทำงานแยกอิสระจากกัน ทำให้หัวพิมพ์วิ่งได้เร็วขึ้น เส้นพลาสติกไม่เลอะที่งาน
- พื้นที่พิมพ์งานใหญ่และไม่เสียพื้นที่พิมพ์งาน ถึงแม้จะพิมพ์พร้อมกัน 2 หัว
- หัวฉีดเป็นแบบ Full Metal สามารถพิมพ์พลาสติกได้หลากหลายชนิด
- หน้าจอ Touch Screen ใช้งานง่าย
- เครื่องเป็นแบบ Opensource สามารถปรับแต่ง Firmware ได้
- ที่วางม้วนพลาสติก Filament อยู่ด้านในเครื่อง ทำให้ประหยัดพื้นที่วางเครื่อง
- ระบบ Calibration ที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก
ข้อเสีย
- มีเสียงพัดลมดังขณะพิมพ์
- เส้นพลาสติกที่ใช้มีขนาด 2.85 มิล ซึ่งมีสีให้เลือกน้อย ส่วนใหญ่มีแต่สี ขาว ดำ เทา
ตอนที่กำลังเขียนรีวิว ก็ได้รับข่าวมาว่า เจ้าเครื่อง BCN3D SIGMA รุ่นนี้ได้รับรางวัล WORKHORSE ของปี 2017 จาก 3D HUBS มาด้วย ซึ่งเป็นรางวัลของเครื่องที่เรียกแบบชาวบ้านว่า “ถึกและทน” ก็ว่าได้ คือทำงานเหมือนม้า ไม่มีหยุด ถือว่าเป็นเครื่องที่เอาไว้ใช้ทำงานหาเงิน และก็คุ้มค่ากับเงินที่จะต้องจ่ายไปทุกบาททุกสตางค์
รายละเอียดเครื่องพิมพ์ 3 มิติ BCN3D SIGMA

สำหรับใครที่สนใจอยากจะมาดูหรือชมเครื่อง สามารถเข้ามาดูได้ที่ บริษัท สยามเรปแรป จำกัด มาร้านเรามาง่าย เพราะอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่ ทางออก 1 หรือติดต่อได้ที่เบอร์ 089-8160651 หรือจะมาดูการทำงาน เพื่อจะเอาไปพัฒนาหรือลองทำ ก็เชิญเลยครับ เขามาสอบถามแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันได้เลยครับ ร้านเปิดวันจันทร์ – เสาร์ ตั้งแต่ 10:00-18:30 ครับ แต่วันเสาร์ปิด 17:30 ครับ