รีวิว Einscan Pro เครื่อง 3D Scanner ที่ทุกคนตามหา
มีหลายๆคนเคยถามผมว่า ถ้าเรามีชิ้นงานอยากจะพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer แต่ไม่มีไฟล์โมเดล 3 มิติ จะสามารถพิมพ์ได้ไหม ผมตอบว่าได้ แต่ต้องใช้ 3D Scanner เป็นตัว Copy งาน สำหรับการรีวิวครั้งนี้ ผมจะทำการรีวิวเครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติของ Einscan รุ่น Pro ซึ่ง 3D Scanner ตัวนี้เป็นของบริษัท Shining ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศจีน ที่ผลิต 3D Scanner มาตั้งนานแล้ว และเคยเป็นผู้ผลิตเครื่อง 3D สแกนเนอร์แบบ OEM ให้กับบริษัทในยุโรป ดังนั้นจึงหายห่วงเรื่องคุณภาพ ก่อนที่ผมจะเขียนรีวิวในครั้งนี้ ผมได้ทำการทดสอบและใช้เครื่องตัวนี้มาได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณพี่บัญชา เจ้าของเพจ 3D Printer Thailand ที่กรุณาให้ผมยืมเจ้าเครื่อง 3D Scanner ตัวนี้มาทดสอบก่อน เพราะตัวที่ผมสั่งไปยังมาไม่ถึง
เปิดกล่อง Einscan Pro 3D Scanner
สำหรับสแกนเนอร์ 3 มิติรุ่นนี้ถูกแพ็คมาอย่างเรียบร้อยในกล่องเล็กๆ ซึ่งในกล่องก็จะประกอบไปด้วย
- ชุด Calibrate เครื่อง Sacnner 3 มิติ
- สติกเกอร์สะท้อนแสง เอาไว้แปะที่งานที่ต้องการสแกน
- USB Thumb Drive ที่มีโปรแกรมและไฟล์สำหรับการลงทะเบียนเครื่องเพื่อใช้โปรแกรม
- เครื่อง Scanner 3 มิติ Einscan Pro
- สาย USB สำหรับต่อเข้าเครื่องกับตัว Scanner
- Adapater สำหรับจ่ายไฟให้กับ Einscan Pro
- แผ่นพับสำหรับการติดตั้งเครื่องและโปรแกรม

เริ่มใช้งาน 3D Scanner Einscan Pro
สำหรับการใช้งานนั้น ก็ง่ายมาก เริ่มต่อสแกนเนอร์ตามแผ่นพับ แล้วก็ต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้นั้น เป็นคอมพิวเตอร์ Notebook ของ Dell รุ่น M3800 เป็น Notebook แบบ Workstation ที่ใช้การ์ดจอ Quadro ขอบอกนอกไว้หน่อย ใครอยากจะเล่น Scanner ตัวนี้ ต้องมีคอมแรงๆหน่อยนะครับ ไม่อย่างนั้นเวลาสแกนจะยากมากๆ เพราะมันจะกระตุกตลอดเวลา
สำหรับ Spec ที่ผมจะแนะนำสำหรับ 3D Scanner ตัวนี้คือต้องใช้การด์จอ Nvidia รุ่น GTX660 เป็นอย่างต่ำ สำหรับการ์ดจอค่าย Radeon ของ AMD นั้นดูเหมือนจะไม่ Support ใช้ไม่ได้นะครับ เพราะผมเคยลงกับเครื่องลูกค้าแล้วไม่ผ่าน เปิดโปรแกรมได้ แต่สแกนไม่ได้ ส่วนเรื่องของ RAM ขั้นต่ำก็ 8GB เพราะเวลา Scan นั้นโปรแกรมจะทำการเก็บ Cache ข้อมูลไว้ที่ Ram ก่อนซึ่งงาน Scan ยิ่งละเอียดและยิ่งมีขนาดใหญ่ Ram ก็ต้องใช้เยอะ สำหรับ Harddisk ผมแนะนำเป็น SSD นะครับ เพราะ File ที่ได้จากการ Scan นั้นใหญ่มาก เวลา Save แต่ละครั้งใช้เวลานาน ขนาดเครื่องที่ผมใช้เป็น SSD แบบต่อลง Board ยังใช้เวลา Save งานนานมาก ถ้าเป็น Harddisk แบบจานหมุนนี่ ไม่ต้องพูดถึงเลย รอเป็นชั่วโมงแน่ๆ
สำหรับใครอยากใช้งานขี้เกียจจัด Spec ก็สามารถไปดู Notebook ที่ผมได้เลือกไว้ด้านล่างของรีวิวนี้ อีกอย่างที่ผมเจอปัญหาก็คือ ผมลองลงโปรแกรมกับเครื่องที่เป็น PC แบบตั้งโต๊ะที่เป็น Workstation ของ HP รุ่น Z620 ที่ใช้การ์จอ Quadro 2000 กับมีปัญหากับโปรแกรม Einscan เปิดโปรแกรม Scan ได้ แต่เวลาจะให้โปรแกรมปิดผิวเพื่อแปลงเป็น STL หรือ OBJ นั้นทำไม่ได้ โปรแกรมค้าง ลองหลายครั้งเลยให้พี่บัญชาลอง Mail ไปถามทางผู้ผลิตดู ปรากฎว่าทางโน้นตอบกลับมาว่า โปรแกรมนี้ถูกทดสอบบนการ์ดจอ Nvidia GTX เป็นหลัก ไม่ได้ทดสอบบน Quadro เพราะทางผู้ผลิตต้องการเน้นขายให้กับผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์แบบ Workstation แต่ผมก็แปลกใจว่าทำไม Notebook Dell ของผมใช้ได้ทั้งๆที่เป็น Quadro เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ผมว่าน่าจะเป็นที่ Driver มากกว่า แต่ผมก็ยังไม่ได้ลอง Update Driver ดู ถ้าได้ผลอย่างไรจะมาบอก ตอนนี้ก็ใช้ต่อกับ Notebook ไปก่อน เพราะสะดวกและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย เอาไปสแกนนอกสถานที่ก็ได้


สำหรับการติดตั้งโปรแกรมนั้นก็ไม่ยาก ให้ใช้โปรแกรมที่มากับ USB Thumb Drive หรือจะไปโหลดที่ Website ที่อยู่ในแผ่นพับก็ได้ พอเริ่มติดตั้ง โปรแกรมจะให้ต่อ Scanner เข้ากับ Notebook เพื่อทำการดึง Serial ของตัวสแกนเนอร์ และทำการลงทะเบียนเพื่อติดตั้งโปรแกรม ผมบอกก่อนนะครับ จะลงโปรแกรมต้องต่อ Internet ด้วยนะครับ ถ้าไม่ต่อต้องเลือกไฟล์ที่มากับ USB ไม่อย่างนั้นโปรแกรมจะลงไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งที่ผมเจอและคิดว่ามีปัญหาคือ ถ้าจะใช้โปรแกรม จะต้องทำการต่อ Scanner ทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นจะเปิด File ที่ Scan ไม่ได้ ไฟล์ที่ Scan หมายถึง File ที่ยังไม่ได้แปลงเป็น STL หรือ OBJ ไฟล์นะครับ แต่เป็น File ดิบที่เก็บข้อมูลงานสแกนเอาไว้ เป็น File ที่สามารถนำไปสแกนต่อ หรือทำการลบในส่วนที่เราไม่ต้องการ ซึ่งถ้าอยากจะดู File นี้จำเป็นต้องเอา 3D Scanner มาต่อทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นจะเปิด File ไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นข้อเสีย ที่ผมอยากให้ปรับปรุง

เริ่มสแกน
ก่อนจะเริ่มการสแกน เรามาดู Spec และโหมดการทำงานของเจ้า 3D Scanner รุ่น Einscan Pro เสียก่อน สำหรับเจ้าเครื่องสแกนตัวนี้ สามารถสแกนได้ 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่
- Handheld Rapid Scan (สแกนแบบเร็ว โดยใช้การถือสแกนเนอร์ เดินไปรอบตัวโมเดล เหมาะกับงานสแกนรูปปั้นและคน)
- Handheld HD Scan (สแกนแบบละเอียด โดยใช้การถือสแกนเนอร์เดินไปรอบตัวโมเดลและต้องติดสติกเกอร์สะท้อนแสงลงบนตัวโมเดล เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูง มีขนาดใหญ่ และมีพืนที่ผิวที่คล้ายกัน เช่น รูปองค์พระหรือกันชนรถ)
- Auto Scan (สแกนแบบละเอียด โดยวาง 3D Scanner บนขาตั้งกล้อง ซึ่งในโหมดนี้แบ่งออกเป็นโหมดย่อย คือ สแกนแบบ Auto ที่ต้องใช้ฐานหมุน กับอีกโหมดคือ Free Scan ที่ไม่ต้องใช้ฐานหมุน สำหรับโหมด Auto ที่ใช้ฐานหมุนนั้น ลูกค้าต้องซื้อตัวฐานหมุนเพิ่ม ซึ่งผมบอกเลยว่าไม่จำเป็น เดี่ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไม ไม่จำเป็น สำหรับโหมด Auto Scan นั้นจะให้รายละเอียดงานได้ดีที่สุด ความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด)
บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคำถามในใจว่า ขนาดชิ้นงานที่สแกนนั้นได้เล็กสุด และใหญ่สุดเท่าไหร่ ผมขอตอบขนาดใหญ่สุดก่อนละกัน ทาง Shining ผู้ผลิต Einscan บอกว่าสแกนได้ใหญ่สุดถึง 4 เมตร แต่บอกไว้นิดนึง ถ้าจะสแกนงานที่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ Spec แบบเทพนิดนึง เพราะ File งานที่ Scan จะใหญ่มาก สำหรับขนาดที่เล็กที่สุด ทาง Shining ระบุมาว่าอยู่ที่ 3 เซนติเมตร สำหรับใครที่คิดว่าจะเอาไปสแกนเหรียญพระ บอกเลยว่าหมดสิทธิ์นะครับ เพราะมันเล็กและรายละเอียดเยอะ อาจจะได้แค่รูปร่าง แต่รายละเอียดจะไม่เห็น สำหรับงานที่ผมสแกนจากเครื่อง Einscan Pro นั้นเป็นที่ครอบฟัน ซึ่งอันนี้สแกนได้ และสามารถเก็บรายละเอียดได้ในระดับที่น่าพอใจเลย


สำหรับการทดสอบเครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ Einscan Pro ผมได้ทดสอบการสแกนทั้งงานใหญ่และเล็ก ซึ่งมีทั้งงานพระ,งานฟันและงาน Part ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงการสแกนงานนอกสถานที่ ที่ต้องมุดเข้าไปสแกนใต้ท้องรถเพื่อสแกนเอาขนาดของชิ้นส่วนเพื่อเอาไปขึ้นแบบโมเดล 3 มิติ ขอบอกเลยว่า เจ้า Einscan Pro สามารถทำได้หมด เรียกว่าคล่องตัวมาก สำหรับโหมดการสแกนของเครื่องจะมีมาให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่จะสแกน
โหมดแรก Handheld Rapid Scan
สำหรับโหมดนี้เหมาะสำหรับงานสแกนแบบเร็วๆ ที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก มีค่าความคลาดเคลื่อนเยอะที่สุด แต่ก็สแกนง่ายที่สุด เวลาใช้โหมดนี้สแกน ตัวเครื่องสแกนจะยิงภาพออกมา ซึ่งภาพที่ยิงออกมาก็จะกระพริบแบบเร็วๆ สำหรับโมเดลที่ผมได้ลองนั้นเป็นหมวกกันน็อค อันนี้ถือเป็นโมเดลแรกที่ได้ลองกับเครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ Einscan Pro ตอนที่สแกนครั้งแรกนั้นยังจับจุดไม่ถูก และตั้งค่าคอมพิวเตอร์ไม่ถูก ทำให้ใช้เวลาในการสแกนงานตัวนี้นานมาก ทำให้รู้สึกแปลกใจว่าทำไม่มันช้า นั่งนึกตั้งนานก็เดาว่าน่าจะเป็นที่ การ์ดจอ เพราะ Notebook ที่ใช้นั้น จะตั้งให้ใช้การ์ดจอแบบ On Board เพื่อประหยัดพลังงาน ผมก็เลยลองเข้าไปแก้ Config ให้โปรแกรมของ Einscan Pro รันบน การ์ดจอ Quadro แทน แล้วลองสแกนอีกครั้ง คราวนี้ลื่นเลย ไม่มีสะดุด แถมสแกนง่ายมาก ใช้มือจับโมเดลให้พลิกไปพลิกมาได้เลย


โหมดสอง Handheld HD Scan
สำหรับโหมดนี้นั้น จำเป็นต้องติดสติกเกอร์สะท้อนแสงที่เป็นจุดที่แถมมา เข้ากับโมเดลที่จะทำการสแกน สำหรับโหมดนี้ ผมบอกเลยว่า ยิ่งติดเยอะ ยิ่งสแกนง่าย สำหรับงานสแกนของโหมดนี้ ตัวเครื่อง Einscan Pro จะทำการยิงแนวเส้นออกมาแทนภาพ ซึ่งงานที่สแกนออกมานั้น เรียบเนียนและคมมาก สำหรับตัวอย่างที่ผมได้ลองสแกนนั้นจะเป็นอะไหล่รถยนต์ ที่ลูกค้าผมต้องการเอาไปทำ Reverse Enginess ตอนแรกติดสติกเกอร์น้อยไป ทำให้เวลาสแกนแล้วหลุดบ่อยมาก และเวลาสแกนต้องลากมือช้าๆ ทำให้เมื่อยมือมากๆ ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะหนักแค่ 700 กรัม แต่ถ้าถือนานๆก็เมื่อยเหมือนกันนะครับ

เลยเอาใหม่ ครั้งนี้ติดสติกเกอร์เพิ่ม พอติดเสร็จ แล้วลองใหม่ คราวนี้ลากมือแบบเร็วๆได้เลย สแกนยังไงก็ไม่หลุด เลยทำให้รู้ว่า อย่าไปงกกับการติดสติกเกอร์ ติดไปเถอะ ชีวิตจะง่ายขึ้น พอเริ่มรู้หลัก คราวนี้ก็ลองสแกนพระทั้งองค์ ใช้เวลาติดสติกเกอร์ประมาณ 1 ชั่วโมง และใช้เวลาสแกนอีกประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึงเสร็จ ผมที่ได้เป็นที่น่าพอใจมาก ขอบอกนิดนึงนะครับ การสแกนงานใหญ่นั้น ต้องแน่ใจมาคอมต้องแรงและเร็วนะครับ เพราะเวลาโปรแกรมมันทำการปิดผิวงานหรือ Save งานนั้นใช้เวลานานมาก องค์พระที่สแกนนั้นใช้เวลาปิดผิวนานกว่าครึ่งชั่วโมง ขนาดคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้เป็น Notebook Workstation แถม Harddisk เป็น SSD ยังช้าเลย ดังนั้นใครที่คิดจะซื้อสแกนรุ่นนี้ ก็ให้เตรียมเงินเพื่อในเรื่องของคอมพิวเตอร์ด้วยนะครับ


โหมดสุดท้ายที่ผมได้ลองคือ โหมด Free Scan
ซึ่งอยู่ในหัวข้อ Automatic Scan ซึ่งโหมดนี้ให้งานสแกนที่ละเอียดที่สุด ซึ่งโหมดนี้ต้องวางสแกนเนอร์ให้อยู่กับที่ ห้ามให้สแกนเนอร์ขยับเด็ดขาด ซึ่งการสแกนในโหมดนี้จะเหมือนกับรุ่น Einscan-S ที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่ของ Einscan-Pro จะละเอียดกว่า สำหรับสแกนเนอร์ตัวนี้ที่ผมได้มานั้น มันมาแค่ตัว Scanner ตัวขาจับและขาตั้งกล้องไม่ได้มาด้วย เพราะทาง Shining ผู้ผลิตนั้นต้องการให้ผู้ใช้ซื้อเป็น Option เพิ่ม ซึ่งราคาก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 35000 – 40000 บาท สำหรับ Option ที่สามารถซื้อมาติดเพิ่มกับตัว Einscan Pro ได้คือ Automatic Scan และ Color Module ในส่วนของ Automatic Scan นั้นจะมีขาตั้งกล้อง และฐานหมุนมาให้ เหมาะสำหรับงานสแกนที่มีขนาดไม่ใหญ่ ส่วนตัว Color Module นั้นสำหรับงานสแกนที่ต้องการสีของโมเดลมาด้วย ซึ่งตรงนี้จะเหมาะกับงานสแกนคน
สำหรับการสแกนในโหมด Free Scan ผมยังไม่มีขาตั้งกล้อง ก็เลยให้น้องบอยออกแบบตัวยึดสแกนเนอร์โดยใช้ เครื่องพิมพ์ 3D Printer พิมพ์ขึ้นมา แล้วเอามาใส่กับสแกนเนอร์และขาตั้งกล้องดู เพื่อลองสแกนในโหมด Free Scan สำหรับงานที่ได้ลองนั้นเป็น ฝากระปุกออมสินของลูกค้า ซึ่งชิ้นงานนั้นมีด้านนอกและด้านใน ส่วนการสแกนนั้นก็ง่ายมาก และเร็วด้วย ซึ่งการสแกนในโหมด Free Scan นั้น เราต้องหมุนงานไปเรื่อยจนกว่าจะเก็บชิ้นงานได้ทั้งตัว เวลาหมุนก็หมุนที่ละนิด ตัวโปรแกรมจะทำการคำนวนและทำการรวมผิวงานให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งง่ายมากๆ โดยส่วนตัวที่ได้สแกนโหมดนี้ ทำให้รู้เลยว่าไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื่อ Option Automatic Scan เพิ่ม เพราะมันสแกนง่ายมาก ถึงมากที่สุด

สำหรับชิ้นงานที่ได้ลองอีกตัวคือ ที่ครอบฟัน ที่มีขนาดความกว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ลูกค้าต้องการสแกนให้เห็นร่องฟันที่ถูกกดเป็นรูปอยู่ในตัวครอบฟัน สำหรับงานนี้ลูกค้าต้องการโมเดล เพื่อไปทำงานนำเสนอแบบ 3 มิติ และต้องการความเหมือนจริง เลยต้องใช้การสแกน 3 มิติ เข้ามาช่วย ชิ้นงานที่ได้มานั้นเป็นชิ้นงานใส ซึ่งจะสแกนไม่ได้ จำเป็นต้องมีการพ่นสี หรือรองพื้นลงไปก่อน แต่ลูกค้าบอกว่า พ่นได้แต่ต้องล้างได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้สเปรย์ที่พ่นสำหรับการสแกนงาน 3 มิติ ซึ่งหาที่ซื้อยากมาก แต่ไม่เป็นไร ผมได้คำแนะนำจากลูกค้าท่านหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า ลองใช้ สเปรย์พ่นรักแร้ของผู้หญิง ยี่ฮ้อ Nivea ซึ่งเวลาพ่นมันจะเป็นแป้งออกมา ซึ่งก็ใช้ได้ ทำให้รู้ว่า นอกจากสเปรย์ฉีดผม ที่สามารถใชักับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ได้แล้ว ยังมีสเปรน์พ่นรักแร้ ที่สามารถใช้กับเครื่อง 3D Scanner ได้อีกด้วย สำหรับงานสแกนนั้น ออกมาดูดีมากๆ เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน เรียกได้ว่าคมที่สุดในทุกโหมดของการสแกน



สรุปการใช้งาน
สำหรับสแกนเนอร์ตัวนี้ คุณภาพของงานที่ได้นั้นถือว่าสมราคา งานที่ได้มานั้นสามารถนำไปทำต่อหรือไปพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาแต่งไฟล์งานมากนัก เพราะโปรแกรมที่มากับตัวสแกนเนอร์นั้นฉลาดพอตัว ในเรื่องของการปิดผิวชิ้นงาน สำหรับใครที่ไม่ต้องการให้โปรแกรมปิดผิวชิ้นงาน ตัวโปรแกรมก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้าเป็นตัว Einscan-S รุ่นที่ออกมาก่อน จะไม่สามารถทำได้ สำหรับการใช้งานนั้น ส่วนตัวผมว่าใช้งานง่าย การ Calibrate ตัวเครื่องนั้นก็ไม่ยาก มีภาพและคำแนะนำแสดงทุกขั้นตอนสำหรับการ Calibrate ตัวเครื่อง
สำหรับโหมดการสแกนที่มีให้เลือกนั้น ถือว่าทำมาได้ดี เรียกได้ว่า เครื่องเดียวสแกนได้เกือบทุกอย่าง แค่เลือกโหมดการสแกนให้เหมาะสมกับชิ้นงานที่ต้องการสแกน สำหรับที่คิดจะเอาไปสแกนงานเหรียญ หรืองานพระเล็กๆ ขอบอกตรงนี้เลยว่า ไม่เหมาะเพราะตัวสแกนเนอร์นั้นมันมีระยะชัดของมัน มันก็เหมือนกับตาคนครับ ถ้าเอางานเข้ามาใกล้ตามากๆ ภาพมันก็ไม่ชัด ถ้าเอาออกไปไกลมาก ก็จะไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆ ซึ่งทำให้สแกนเนอร์ตัวนี้ไม่เหมาะกับการสแกนงานเล็กๆ สำหรับใครที่คิดว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องถือสแกนเนอร์ให้ห่างจากตัวโมเดลแค่ไหน ถึงเรียกว่าพอดี ตรงนี้ทาง Shining ทำโปรแกรมออกมาได้ดี เพราะด้านข้างของโปรแกรมจะแสดงผลเป็นแถบสี ถ้าถือสแกนเนอร์ใกล้ไป มันก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง ถ้าไกลไปเป็นสีน้ำเงิน ระยะที่พอดีจะเป็นสีเขียว ถ้าไม่มองที่โปรแกรม ก็สามารถสังเกตุที่ตัวเครื่อง Einscan Pro ก็ได้ เพราะจะมีหลอดไฟแสดงผล ด้านบนเครื่อง


สแกนเนอร์ 3 มิติ Einscan Pro เหมาะกับใคร
Einscan Pro รุ่นนี้ผมว่าเหมาะกับบริษัท SME ขนาดเล็กและกลาง ที่จำเป็นต้องสแกนงานเพื่อวัดขนาดของชิ้นงานที่ผลิต เพราะตัว Scanner นั้นมีโหมดการสแกนทีครอบคลุม สามารถสแกนชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี หรือจะเอาไปใช้ในการสแกนงานนอกสถานที่ เช่นสแกนชิ้นส่วนรถที่ไม่สามารถถอดออกมาจากตัวรถได้ เป็นต้น สำหรับใครที่คิดว่าจะเอาไปสแกนคนนั้น ผมบอกเลยว่า ไม่เหมาะนะครับ เพราะถ้าจะสแกนคน คนที่เป็นแบบต้องยืนนิ่งๆ และอาจจะต้องหลับตาด้วย เพราะแสงที่ถูกฉายจากสแกนเนอร์นั้นแรงมาก ขนาดหลับตาก็ยังเห็นแสงที่ฉายออกมา อีกอย่างหนึ่งคือผมที่เป็นสีดำนั้น สแกนยากมากๆ บางทีก็สแกนไม่ติด ซึ่งผมคิดว่าถ้าอยากสแกนคนจริงๆ อาจจะต้องซื้อ Option Color Module มาติดเพิ่ม เพื่อที่จะสแกนได้ง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่ได้มีโอกาศลองดู เลยบอกยังไม่ได้ ว่าจะโอเคหรือเปล่า ถ้าซื้อมาติดเพิ่ม
สำหรับใครที่คิดว่าจะเอาไปทำ Reverse Engineer นั้นขอบอกไว้ก่อนว่า ตัวโปรแกรมที่ให้มานั้น เอาไว้สำหรับสแกนอย่างเดียว ไม่สามารถทำ Reverse หรือปูผิวทับงานสแกนได้ จำเป็นต้องพึ่งโปรแกรมจำพวก Geomagic ถึงจะทำได้ หรือถ้าใครมีฝีมือหน่อย ก็อาจใช้ UG หรือ Solidwork ในการทำ Reverse แต่บอกไว้ก่อนนะครับ ว่าไม่ง่าย การทำ Reverse Engineer นั้นต้องใช้ ความสามาถและจินตนาการ ควบคู่กันนะครับ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ต้องมีการฝึกฝน และมีความรู้ทางด้านวิศวกรรมด้วยนะครับ สำหรับ Geomagic นั้นเห็นเขาบอกว่าราคาแพงกว่าสแกนเนอร์อีกครับ คร่าวๆ ก็ประมาณ 600,000 – 800,000 บาท จริงๆ แล้วมีหลายโปรแกรม แต่ตัว Geomagic เขาบอกว่าใช้งานง่ายสุด
ข้อดี
- ใช้งานง่าย มีโหมดให้เลือกสแกนหลายโหมด
- ตัวเครื่องมีขนาดกระทัดรัด ใช้งานสะดวก น้ำหนักเหมาะมือแต่ถ้าถือนานๆก็เมื่อยอยู่เหมือนกัน
- โปรแกรมที่ให้มาฉลาดพอตัว สามารถปิดผิวงานได้ดี
- มีโหมดให้เลือกว่า จะปิดผิว หรือไม่ปิดผิวงานก็ได้
ข้อเสีย
- ต้องใช้คอมพิวเตอร์สเปคสูงพอตัว
- จะเปิดโปรแกรม ต้องต่อสแกนเนอร์เข้ากับคอมพิวเตอร์ทุกครั้ง
- Option ที่อยากได้ ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่ม ซึ่งราคาก็แพงเอาเรื่อง
- โปรแกรมที่ให้มาไม่สามารถที่จะทำ Reverse Engineer ได้ ต้องไปพึงโปรแกรมจำพวก Geomagic
สำหรับใครที่สนใจ เครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ Einscan Pro สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สยามเรปแรป จำกัด เราเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่นะครับ หรือใครอยากมาทดลองสแกนก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้นะครับ ส่วนใครที่มีงานสแกน แต่ไม่อยากซื้อเครื่อง ก็สามารถติดต่อน้องบอย เจ้าของเพจ the Fast 3D Print ได้ น้องเขารับสแกนอยู่ รับสแกนนอกสถานที่ด้วยนะครับ