รีวิวเส้นพลาสติก Bronzefill และ Copperfill จากค่าย ColorFabb สำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer
ก่อนจะทำการรีวิวเส้นพลาสติก ColorFabb (คัลเลอร์-แฟ็ป) ผมขอแนะนำบริษัท ColorFabb ซะหน่อย ColorFabb เป็นบริษัทที่ผลิตเส้นพลาสติก สำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศ เนเธอร์แลนด์ เส้นพลาสติก ColorFabb นั้นเป็นที่นิยมอย่างมากในฝั่งประเทศยุโรป ซึ่งเส้นของ ColorFabb นั้นจะมีสีสันที่สดใสและสวยงาม รวมถึงพลาสติกที่ ColorFabb ใช้ผลิตเส้นนั้นก็ไม่ใช่ PLA แต่เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมของ PLA และพลาสติกตัวอื่นๆที่ทาง ColorFabb ได้ทำการคิดค้นและร่วมมือกับ บริษัท Eastman ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของยุโรป ซึ่งตรงนี้ืทำให้เส้นพลาสติก ColorFabb นั้นเป็นเส้นที่พิมพ์ง่ายและมีสีสันสวยงาม แต่ก็ทำให้ราคาของเส้นนั้นสูงไปด้วยเมื่อเทียบกับเส้นยี่ฮ้ออื่นๆ นอกจากสีสันที่สวยงามแล้ว ขนาดของเส้นนั้นก็ได้มาตรฐาน เรียกได้ว่า ถ้าเอาเครื่องมือมาวัดขนาดเส้นทั้งม้วน ก็แถบจะไม่หนีจากขนาดมาตรฐานเลย ซึ่งทาง ColorFabb นั้นได้การันตีว่าเส้นที่ผลิตมานั้นจะมีขนาด บวกลบไม่เกิน 0.05 มิล ซึ่งทาง ColorFabb นั้นก็จำหน่ายเส้นพลาสติกทั้ง 2 ขนาดได้แก่ 1.75 มิลและ 2.85 มิล

ColorFabb นั้นถือว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่เปิดตัวเส้นพลาสติกแบบ Compostie อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกเลยก็ว่าได้ สำหรับเส้น Compostie นั้นคืออะไร บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก ผมจะอธิบายให้ฟังว่า เส้นพลาสติกแบบ Composite นั้นคือเส้นที่มีส่วนผสมของวัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวเส้นพลาสติก ยกตัวอย่าง ถ้าเอาคอร์บอนผสมลงในเส้น ก็จะทำให้เส้นพลาสติกที่พิมพ์ออกมานั้นมีความสามารถในการสื่อไฟฟ้า แต่ถ้าเอาคาร์บอนไฟเบอร์ผสมเข้าไปในเส้นพลาสติก งานที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3D Printer โดยใช้เส้นแบบนี้ ก็จะมีความเบาและแข็งแรงกว่า ถ้าเทียบกับเส้นพลาสติกแบบปกติ ที่ตั้งค่าการพิมพ์เหมือนกัน สำหรับ ColorFabb นั้นเป็นบริษัทแรกๆ ที่เอาโลหะเข้าไปผสมในเส้น ซึ่งโลหะตัวแรกที่ทาง ColorFabb ใส่เข้าไปในเส้นพลาสติกก็คือ ทองสัมฤิทธิ์ หรือ Bronze (ทองแดง + ดีบุก) ทาง ColorFabb เรียกเส้นชนิดนี้ว่า BronzeFill งานที่พิมพ์จากเส้น BronzeFill นั้นจะสามารถขัดให้ขึ้นเงาได้ แถมน้ำหนักของงานที่พิมพ์ออกมานั้น จะมีมากกว่าเส้นพลาสติกแบบปกติ ถ้าใครได้ลองจับหรือถือเส้นพลาสติกแบบนี้ จะรู้สึกถึงน้ำหนักของชิ้นงานที่มีมากกว่าปกติ
ColorFabb นั้นถือว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่เปิดตัวเส้นพลาสติกแบบ Compostie อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกเลยก็ว่าได้ สำหรับเส้น Compostie นั้นคืออะไร บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก ผมจะอธิบายให้ฟังว่า เส้นพลาสติกแบบ Composite นั้นคือเส้นที่มีส่วนผสมของวัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวเส้นพลาสติก ยกตัวอย่าง ถ้าเอาคอร์บอนผสมลงในเส้น ก็จะทำให้เส้นพลาสติกที่พิมพ์ออกมานั้นมีความสามารถในการสื่อไฟฟ้า แต่ถ้าเอาคาร์บอนไฟเบอร์ผสมเข้าไปในเส้นพลาสติก งานที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3D Printer โดยใช้เส้นแบบนี้ ก็จะมีความเบาและแข็งแรงกว่า ถ้าเทียบกับเส้นพลาสติกแบบปกติ ที่ตั้งค่าการพิมพ์เหมือนกัน สำหรับ ColorFabb นั้นเป็นบริษัทแรกๆ ที่เอาโลหะเข้าไปผสมในเส้น ซึ่งโลหะตัวแรกที่ทาง ColorFabb ใส่เข้าไปในเส้นพลาสติกก็คือ ทองสัมฤิทธิ์ หรือ Bronze (ทองแดง + ดีบุก) ทาง ColorFabb เรียกเส้นชนิดนี้ว่า BronzeFill งานที่พิมพ์จากเส้น BronzeFill นั้นจะสามารถขัดให้ขึ้นเงาได้ แถมน้ำหนักของงานที่พิมพ์ออกมานั้น จะมีมากกว่าเส้นพลาสติกแบบปกติ ถ้าใครได้ลองจับหรือถือเส้นพลาสติกแบบนี้ จะรู้สึกถึงน้ำหนักของชิ้นงานที่มีมากกว่าปกติ

สำหรับเส้นพลาสติกแบบ Composite ที่ทาง ColorFabb ได้ทำขึ้นมานั้นจะอยู่ในกลุ่ม Special ซึ่งจะประกอบไปด้วย BronzFill, CopperFill, BrassFill, WoodFill, BambooFill, CorkFill, GrowFill, XT-CF20 และตัวสุดท้ายที่กำลังจะปล่อยออกมาขายคือ SteelFil ซึ่งวันนี้ผมจะมารีวิวเส้น BronzeFill และ Copperfill รวมถึงการใช้งานและการตั้งค่าสำหรับพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer

สำหรับไฟล์งานที่ผมได้ทดลองพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer นั้นเป็น โมเดลส่วนหัวของ Ironman ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชิ้น สามารถไป Download ได้ที่นี่ ส่วนเครื่องพิมพ์ 3D Printer ผมใช้เครื่องยอดนิยมจากทางฝั่งยุโรป ก็คือ Ultimaker 2+ ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่เดียวกันกับเส้นพลาสติก ColorFabb ผมขอบอกไว้ก่อนนะครับ ขนาดเส้นที่ผมใช้นั้นเป็นขนาด 2.85 มิล ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานที่ใช้ในบ้านเรา แต่เป็นขนาดที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ของ Ultimaker
เปิดกล่องเส้นพลาสติก ColorFabb
สำหรับเส้นพลาสติก BronzeFill และ CopperFill นั้นจะถูกบรรจุอยู่ในพลาสติกที่ถูกดูดอากาศ เพื่อป้องกันเส้นชื้น ตอนแรกเปิดกล่องออกมา ตกใจมาก เพราะเส้นมันน้อยมาก เหมือนถูกเอาเปรียบ พอนึกขึ้นได้ว่าเป็นเส้น 2.85 มิล และมีส่วนผสมของโลหะอยู่ก็เลยพอเข้าใจได้ เพราะเมื่อแกะเส้นออกมาจากถุงแล้วลองถือดู รู้สึกเลยว่ามันหนักมาก หนักกว่าเส้นพลาสติกแบบปกติทั่วๆไป 10 เท่า ผมเคยใช้เส้นของจีน ที่เป็นเส้นที่มีส่วนผสมของ Bronze เหมือนกัน แต่บอกเลยว่า เส้นจากจีนนั้นดูด้อยและไร้ค่าไปเลย เพราะว่ามันไม่หนักเหมือนเส้นพลาสติกของ ColorFabb ในปริมาณที่เท่ากัน แถมเส้นจากจีน ขัดยังไงก็ไม่ขึ้นเงาเหมือนเส้นพลาสติก Bronzefill และ CopperFill ของ ColorFabb

การตั้งค่าสำหรับพิมพ์งาน
สำหรับค่าเริ่มต้นที่ใช้พิมพ์งานนั้น ผมเอามาจากทาง website ของ ColorFabb มาก่อน โดยตั้งค่าตามให้ตรงกับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่ใช้ ซึ่งจะมีแค่ Ultimaker กับ Makerbot สำหรับอุณหภูมิที่ใช้นั้น ผมได้ทำการทดลองพิมพ์งานขึ้นมา 1 ชิ้นเป็นรูปทรงสี่เหลื่ยม ความสูงประมาณ 50 มิลลิเมตร โดยที่ผมใช้โปรแกรม Simplify3D ในการทำโค๊ด โดยแบ่งเป็น Process มีทั้งหมด 5 Process โดยที่แต่ละ Process นั้นจะมีอุณหภูมิที่ต่างกัน ในทุกๆ 10 มิลลิเมตร โดยเริ่มต้นที่ 195,200,205,210 และ 215 เมื่อพิมพ์เสร็จ ก็ลองมาดูว่าตรงไหนพิมพ์สวยที่สุด ซึ่งตรงนี้ผมแปลกใจมาก เส้นพลาสติก ColorFabb ทั้ง BronzeFill และ CopperFill นั้นใช้อุณหภูมิต่ำมาก ประมาณ 195 – 200 องศา ซึ่งตรงนี้เหมือนกับอุณหภูมิที่ใช้เส้นพลาสติก PLA เลย (สำหรับเครื่องรุ่นอื่นอาจจะไม่ใช่ค่านี้นะครับ ต้องลองทดลองเอง เพราะหัวฉีดแต่ละเครื่องไม่เหมือนกัน ทาง ColorFabb แนะนำให้พิมพ์ในช่วงอุณหภูมิ 195 – 220 องศา)

สำหรับการตั้งค่าในส่วนของ Retraction หรือการดึงเส้นกลับเข้าไปในหัวฉีดก่อนย้ายจุดพิมพ์นั้น ผมตั้งตามที่ทาง ColorFabb แนะนำเลยสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ของ Ultimaker 2+ ซึ่งการตั้งค่าตรงนี้ผมเจอปัญหา พิมพ์ไปแล้วหัวตัน เส้นไม่ยอมออก ทำให้ผมต้องใช้เวลานั่งหาข้อมูลว่าทำไม จนเจอสาเหตุที่ทำให้เส้นไม่ออก เวลาพิมพ์งาน
สาเหตุนั้นมาจากตัวโลหะที่ผสมในเส้นนั้น มีการอมและคายความร้อนได้เร็วกว่าเส้นพลาสติกแบบทั่วๆไป ทำให้เวลา Retraction หรือดีงเส้นกลับเข้าไปในหัวฉีดนั้นมีปัญหา ยิ่งตั้งค่าดึงกลับเข้าไปยาว ยิ่งเจอปัญหา เพราะพลาสติกที่ถูกดึงกลับเข้าไปในหัวนั้นจะเย็นตัวเร็วมาก จนแข็งติดกับผนังในส่วนของหัวฉีด ทำให้เวลาดันเส้นลงมาเพื่อพิมพ์ มอเตอร์ขับเส้นก็จะดันไม่ลง เพราะเส้นแข็งไปแล้ว ทำให้พิมพ์ไม่ออก เกิดอาการหัวตัน ซึ่งตรงนี้นั้นผมได้ลองเปลี่ยนระยะดึงให้สั้นที่สุด ปัญหาน้อยลง แต่ก็ยังเจอปัญหาหัวตัน ทำให้ผมต้องยกเลิก ไม่ใช้ฟังค์ชั่น Retraction ผลที่ตามมาคือ งานที่พิมพ์นั้น มีเส้นใยพาดไปมาระหว่างตัวงาน แต่ผมบอกนิดนึงว่า มันไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเมื่อพิมพ์เสร็จ เส้นใยที่พาดไปมานั้น สามารถดึงออกได้ง่ายมากๆ แถมไม่ทื้งรอยบนชิ้นงานด้วย สาเหตุที่ทำให้เส้นใยนั้นไม่ติดกับตัวงาน ก็เพราะมันเย็นตัวเร็วมาก

สำหรับพัดลมที่ใช้เป่างานนั้น ตอนแรกผมตั้งเอาไว้เหมือนกับพิมพ์พลาสติก PLA เลย คือเลเยอร์ที่ 2 เปิดเต็มแรงที่ 100% ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมเจอปัญหาหัวตันเหมือนกัน เพราะพัดลมที่เป่านั้นเปิดแรงไป ทำให้ลมที่ออกมานั้นตีขึ้นไปที่หัวฉีด ทำให้เส้นนั้นเย็นเร็วจนออกมาไม่ได้ หัวตัน ทางแก้ของผมก็คือ เปิดพัดลมเหลือแค่ 20% โดยที่เปิดตอนพิมพ์เลเยอร์ที่ 2 เหมือนเดิม ผลออกมาคือ พิมพ์ได้ไม่เจอปัญหาหัวตันเลย

ในส่วนของฐานทำความร้อนด้านล่าง ผมตั้งตามที่ทาง ColorFabb แนะนำก็คือ 50 – 65 องศา แต่ผมใช้แค่ 60 องศา เพราะทดลองดูแล้ว ถ้าร้อนมากมันจะลามขึ้นไปด้านบนชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงานเย็นตัวช้า พิมพ์แล้วงานจะเสียรูปง่าย เพราะพัดลมที่เปิดเป่างานให้เย็นนั้น ก็ไม่ได้เปิดแรงด้วย


สำหรับความละเอียดที่ผมใช้พิมพ์นั้นอยู่ที่ 0.2 มิล ซึ่งเมื่อตอนพิมพ์นั้นผมลองนั่งสังเกตุดู จะเห็นว่างานที่พิมพ์นั้นจะดูละเอียดมาก เพราะตัวพลาสติกมันเชื่อมเข้าหากันได้ดีมาก ดูเหมือนกับหลอมเป็นเนื้อเดียวกันเลย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นเพราะ โลหะที่ผสมนั้นมีการอมความร้อนอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ชั้นที่พิมพ์ลงมาต่อเชื่อมนั้น เชื่อมกันได้สนิทดี ถึงแม้เลเยอร์ที่พิมพ์นั้นจะห่างก็ตาม ซึ่งตรงนี้ผมมั่นใจได้เลยว่า ถ้าพิมพ์ที่ 0.25 หรือ 0.3 งานก็ยังเชื่อมติดกันได้ดี แถมยังดูเนียนอีกด้วย เอาไว้ผมลองพิมพ์แล้วเอามารูปมาให้ดูกัน ส่วนในเรื่องของความเร็วในการพิมพ์นั้น ผมใช้อยู่ที่ 40 mm/sec

การขัดแต่งผิวงาน
เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ก็จัดการในส่วนของ Support ขอบอกหน่อยว่าแกะง่ายมากๆ เพราะมันไม่ติดกันแน่น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ ก็สามารถใช้มือดึงออกมาได้เลย สำหรับการต่อชิ้นงานให้ติดกัน ผมใช้น้ำยาเชื่อมอะคิลิคมาทา ด้วยเอาเศษพลาสติกที่พิมพ์เป็น Support มาเป็นตัวเชื่อมชิ้นงาน ซึ่งต้องนี้ได้ Trick มาจากน้องคุ้ม นักศึกษาฝึกงานที่ร้าน อันนี้ต้องให้เครดิตน้องเขาหน่อย สำหรับการขัดแต่งผิวชิ้นงานให้ขึ้นเงานั้นผมจะอธิบายเป็นขั้นตอนดังนี้

- ลงกระดาษทรายเบอร์ 800 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานที่สุด เพราะต้องขัดจนกว่ารอยเส้นจะหมดไป จริงๆแล้วทาง ColorFabb แนะนำให้ใช้การไล่เบอร์กระดาษทรายที่ใช้ขัด โดยให้เริ่มที่เบอร์หยาบ 220 – 240 ก่อน แต่ผมไม่มีมีแต่เบอร์ 800 ก็เลยอาจใช้เวลาขัดนานหน่อย แต่ก็โอเค ขัดไม่ยาก ข้อควรระวังสำหรับการใช้กระดาษขัด คือ อย่าไปขัดซ้ำที่เดิมบ่อยๆ เพราะจะทำให้ชิ้นงานร้อนและเสียรูปได้และขาดความคม ผมแนะนำให้ใช้น้ำช่วยตอนขัด เพื่อลดความร้อน เพราะการขัดกับเส้นพลาสติกโลหะแบบนี้ ชิ้นงานจะร้อนและอมความร้อนได้เร็วและนานกว่า พลาสติกแบบธรรมดา
- ใช้ฝอยขัดหม้อ ช่วยในการขัดให้ขึ้นเงา หลังจากขัดกระดาษทรายเสร็จ ก็ตามด้วยฝอยขัดหม้อ ผมใช้ ฝอยขัดหม้อ 3M ที่นิ่มหน่อย ค่อย ๆ ถู ไปเรื่อยจนชิ้นงานเงาขึ้นมา อยากให้ตรงไหนเงามาก ก็ขัดตรงนั้นเยอะหน่อย ในขั้นตอนนี้ให้ขัดจนกว่าจะพอใจ
- ใช้น้ำยาขัดเงา เช่น Brasso หรือ Wenol ตอนแรกผมใช้ Brasso ขัด ซึ่งก็เงาแต่ไม่มาก สู้ Wenol ไม่ได้ ส่วนวิธีการนั้น ก็ใช้ผ้านุ่มๆแบบไม่มีขน เช่น ผ้าเช็ดแว่นตา เทน้ำยาลงผ้า แล้วก็ขัดไปเรื่อยๆ จนงานขึ้นเงาและมัน ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ ขอเตือนไว้หน่อย ขั้นตอนนี้หาผ้ามาปิดจมูกด้วย เพราะน้ำยาทั้ง 2 ตัว กลิ่นแรงมาก ขัดไปเรื่อยๆ อาจจะเมาได้

สรุปการใช้เส้นพลาสติก ColorFabb BronzeFill และ CopperFill
พลาสติกทั้ง 2 ตัว ผมใช้การตั้งค่าที่เหมือนกัน ซึ่งผลลัพท์งานพิมพ์ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก สำหรับส่วนตัวผมแล้ว ผมว่ามันพิมพ์ไม่ยากเลย ถ้ารู้จุดของมัน พิมพ์ง่ายมาก ส่วนเรื่องของชิ้นงานที่ได้มาหลังจากขัดแต่งแล้ว ผมว่ามันสวยมาก สามารถเอาไปตั้งโชว์ได้เลย เรียกได้ว่า ดูไม่ออกเลยว่าพิมพ์ขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์ 3D Printer สำหรับบางคนอาจคิด เอาไปพิมพ์ชิ้นส่วนโลหะทดแทนได้ไหม อันนี้ขอตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะว่ามันเปราะมาก หล่นแตกได้เลย แถมเรื่องของความร้อนที่ ร้อนเร็วแต่เย็นช้า อาจทำให้เกิดการเสียรูปได้ ถ้าเอาไปใช้งานจริง ผมว่าเส้นพลาสติก BronzeFill และ CopperFill นั้นเหมาะกับงานจำพวกรูปปั้น ประติมากรรม มากกว่า หรือทำเป็นถ้วยรางวัล
ส่วนในเรื่องของการพิมพ์นั้น ผมสรุปการตั้งค่ามาได้ดังนี้
- ใช้อุณหภูมิพิมพ์ประมาณ 195 – 200 องศา
- อุณหภูมิที่ฐาน 60 องศา
- ความเร็วในการพิมพ์ 40 mm/sec
- เปิดพัดลมเป่างาน 20%
- ปิดฟังค์ชั่น Retraction
สำหรับใครที่สนใจอยากลองเส้นพลาสติกของ ColorFabb ก็สามารถที่จะสั่งซื้อได้กับทาง สยาม เรปแรป ตอนนี้เราเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอยู่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสั่งซื่อได้ที่นี่ครับ ตอนนี้มีโปรโมชั่นอยู่ ราคาพิเศษ มีทั้งขนาด 1.75 และ 2.85 มิล สำหรับครั้งหน้าจะมารีวิว เส้นพลาสติก ColorFabb XT-CF20 ซึ่งเป็นเส้นที่ผสมคาร์บอนไฟเบอร์