รีวิวเรซิ่นแบบหล่อได้สำหรับงานจิวเวลรี่ จาก 3D Printer Form 2 และ Form 3
บทความนี้ได้มีการอัพเดทเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสินค้า ซึ่งตอนนี้ทาง Formlabs ได้มีการออกเรซิ่นสำหรับงานหล่อจิวเวลรี่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ตัวได้แก่ Castable Wax 20 (สีม่วง) และ Castable Wax 40 (สีฟ้า) ซึ่งเรซิ่นทั้ง 2 ตัวจะมีส่วนผสมของเทียนมากขึ้น ทำให้การขยายตัวตอนเผาเอาเทียนออกลดลง ช่วยลดปัญหาเรื่องปูนแตกร้าวได้ รวมไปถึงการเผาไหม้ที่ดีขึ้น ไม่ทิ้งคราบเขม่าภายในปูน
ตามที่สัญญากันไว้ว่า จะมาทำรีวิวน้ำยาหล่อได้ของเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 ซึ่งถ้าใครเพิ่งเข้ามาและยังไม่ได้อ่านรีวิวเครื่อง Form 2 ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่ ส่วนใครอ่านแล้ว ก็มาต่อกันเลย จริงๆ แล้ว เรซิ่นที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ของ Formlabs นั้นมีหลายตัว เช่น Standard จะเป็นเรซิ่นแบบมาตรฐานที่ใช้ทั่วไป จะมีสีให้เลือก 4 สี ได้แก่ ใส,ดำ,เทาและขาว ซึ่งราคาเรซิ่นของตัว Standard ก็จะถูกที่สุด ตัวต่อไปเป็น Tough เรซิ่น ซึ่งเป็นเรซิ่นแบบแข็งและเหนียว สามารถนำมาพิมพ์เป็นสิ่งของที่ต้องใช้งานจริงๆ เช่น เฟือง หรือกล่อง เป็นต้น ซึ่งสีของตัว Tough เรซิ่น จะออกเป็นสีเขียวอมฟ้า ส่วนอีกตัวจะเป็นเรซิ่นแบบหยืดหยุ่นได้ งานที่พิมพ์ออกมาจะมีลักษณะคล้ายยาง สามารถคืนรูปได้ เมื่อโดนบีบหรือทับ ซึ่งเรซิ่นตัวนี้ ทางผมก็จะทำการรีวิวในครั้งหน้า รอติดตามด้วยละกัน
สุดท้าย มาถึงตัวพระเอกของเรา ซึ่งเป็นเรซิ่นที่หล่อได้ นิยมมากสำหรับวงการจิวเวลรี่ ซึ่งตัวนี้จะมีสีเป็นสีน้ำเงิน หยืดหยุ่นได้ ขอบอกว่าเรซิ่นตัวนี้แพงที่สุด ในเรซิ่นทั้งหมดของ Formlabs ราคาลิตรละหมื่นกว่าๆ เข้าใจว่ามันแพงตามวงการที่ใช้มันอยู่ อุตสาหกรรมจิวเวลรี่เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เพราะใช้วัตถุดิบที่มีค่า มันก็เลยพาทำให้ของที่ต้องใช้ในวงการนี้แพงไปด้วย หลายๆคนอาจไม่ทราบ จริงๆแล้วประเทศไทย 3D Printer นั้นถูกใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมจิวเวลรี่หรือเครื่องประดับ ผมเคยอยู่วงการนี้มาก่อน บอกได้เลยราคาเครื่องนั้นเกินล้านขึ้นทุกตัว ในสมัยที่ 3D Printer ยังไม่แพร่หลาย และมียี่ฮ้อเดียวที่นิยมเป็นอย่างมากในเมืองไทย ก็คือ Envisiontec
นอกเรื่องไปเยอะขอกลับมาต่อของเรื่องเรซิ่นหล่อได้ สำหรับการใช้งานเรซิ่นแบบหล่อได้กับเครื่อง Form 2 นั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเท่าไหร่ เพราะโปรแกรม Preform นั้นทำมาให้เรียบร้อย ก็แค่เลือกชนิดและรุ่นของเรซิ่น เสร็จแล้วก็เลือกความละเอียดที่ต้องการพิมพ์ จากนั้นก็เอาโมเดลเข้ามา กดสั่งพิมพ์เป็นอันจบ นั่งรออย่างเดียว อยากย้ำว่าเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 นั้นใช้งานง่ายมากๆ ลืมบอกไป สำหรับการสร้างตัวรองรับนั้น ผมใช้โปรแกรม MeshMixer ในการช่วยสร้างตัวรองรับ เพราะถ้าให้โปรแกรม Preform สร้าง มันจะสร้างเยอะเกินไป รวมถึงฐานรองงานที่ผมว่ามันไม่จำเป็นมากเท่าไหร่ เพราะถ้ามันพิมพ์ฐานด้วย ก็จะเปลืองน้ำยาไปเปล่าๆ ซึ่งจริงๆก็ไม่มีอะไรหรอกครับ น้ำยามันแพง เลยอยากจะหาทางประหยัดน้ำยา ก็เลยสร้างเอง จริงๆแล้วก็ไม่ยากนะครับ ใครอยากลองใช้โปรแกรม MeshMixer ก็ลองไปโหลดกันดูครับ ฟรีด้วย แล้วเดี๋ยวผมจะทำเป็นวิดีโอมาสอน การสร้าง Support หรือตัวรองรับสำหรับงาน จิวเวลรี่



มาต่อกันครับ สำหรับน้ำยาตัวนี้ทาง Formlabs เขาได้ทำขั้นตอนและวิธีการหล่อเป็นคู่มือให้เราอ่านเลย ลองไปโหลดมาอ่านได้ที่นี่ ข้อสำคัญคือการอบงานด้วยแสง UV นั้นทาง Formlabs แนะนำว่าอย่างน้อยต้อง 120 นาทีขึ้นไป แต่ถ้างานหนามาก อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น ซึ่งตัวอบ UV ที่ผมใช้นั้น จะเป็นเครื่องอบเล็บราคาประมาณ 1000 กว่าบาท และใช้เวลาอบประมาณ 4 ชั่วโมง

นอกจากเรื่องการอบแสง UV แล้ว ทาง Formlabs ยังแนะนำในส่วนของ Step เตาที่ใช้เผาปูนสำหรับงานหล่อ สำหรับปูนที่ใช้หล่อนั้นทาง Formlabs แนะนำเป็น R&R Plasticast with BANDUST ซึ่งหายากในเมืองไทย ผมก็เลยลองใช้ปูนที่ขายในเมืองไทยยี่ฮ้อ JPL เป็นเกรดหล่องานเงินแทน สำหรับ Step ในการเผานั้น ผมไม่ได้ตั้งตามที่ Formlabs แนะนำ แต่ใช้ Step เตาแบบเดิมๆที่โรงงานเขาหล่อกัน เพราะผมรู้ว่า ถ้าเปลี่ยน Step ในการเผา นั้นจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับโรงงานที่เขารับหล่อ ก็เลยลองเสี่ยงดู ผลงานที่หล่อ ออกมาก็ใช้ได้ ผิวโอเค ไม่มีตามด ทำให้รู้ว่าเรซิ่นของ Formlabs ตัวนี้สามารถใช้ Step เตาแบบที่นิยมใช้ทั่วๆไปในบ้านเราได้

ผมขอบอกไว้ก่อนนะครับ งานที่ผมทดลองนั้นยังเป็นงานบาง ที่จะหล่อได้ง่ายกว่างานหนา ซึ่งงานหนาผมยังไม่ได้ทดลอง แต่กำลังจะลอง ได้ผลอย่างไรจะมา update กันให้ฟัง สำหรับการติดต้นการหล่อนั้นผมทำทางน้ำเข้า 2 ทาง แล้วเอียงตัวงานให้ชัน ติดชิ้นงาน 4 ชิ้นต่อต้น ซึ่งตรงนี้สำคัญสำหรับงานหล่อต้นแบบที่เป็นเรซิ่น เพราะเรซิ่นจะไม่เหมือนกับเทียนหรือ Wax ที่เผาและละลายง่ายกว่าเรซิ่น ปัญหาส่วนใหญ่ของเรซิ่นก็คือ เผาไม่หมด ทำให้เกิดเขม่าและทำให้ปูนที่ใช้หล่อผุ ทำให้เวลาหล่องานออกมาแล้ว งานเป็นตามดหรือเป็นรู ใช้ไม่ได้ ผมจึงแนะนะว่า ถ้าจะหล่องานที่เป็นเรซิ่นที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3D Printer ก็ไม่ควรที่จะติดงานเรซิ่นกับงานที่เป็นเทียนรวมกัน เพราะอาจจะทำให้งานเสียทั้งต้นได้ สำหรับทางน้ำที่ให้โลหะเข้านั้น ก็ต้องใหญ่หน่อย เพราะว่าจะทำให้เรซิ่นนั้นเผาได้หมด เพราะทางเข้าใหญ่ อากาศสามารถเข้าไปเผาให้เรซิ่นหมดได้ง่าย รวมถึงให้โลหะที่ใช้หล่อสามารถไหลเข้าไปได้สะดวก


สรุปการใช้งานเรซิ่นแบบหล่อได้ของเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2
- สามารถหล่อได้จริงๆ แถมผิวที่หล่องานออกมาก็ดูดีทีเดียว สำหรับงานบาง ส่วนงานหนาต้องลองดูกันอีกที
- ใช้ Step เตาในการหล่อแบบทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเหมือนที่ทาง Formlabs แนะนำ
- ปูนที่ใช่หล่อ สามารถใช้ปูนหล่อที่ขายในเมืองไทยได้


ถึงแม้เรซิ่นของ Formlabs ตัวนี้จะแพง แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับของเรซิ่นของ Envisiontec ที่แพงกว่า ตกลิตรละ 20000 กว่าบาทได้ แถมตัวเครื่อง Form 2 ราคาก็แค่ 200,000 บาท ถูกกว่าเครื่อง Envisiontec หลายเท่าตัวอยู่ ทำให้เหมาะสำหรับโรงงานทำจิวเวลรี่เล็กๆ หรือโรงงานที่เพิ่งเริ่มต้น ที่มีทุนไม่หนาเท่าโรงงานใหญ่ๆ เพราะถ้ามีเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 อยู่โรงงานเล็กๆก็สามารถที่จะพิมพ์ชิ้นงานตัวอย่างให้ลูกค้าดูก่อนได้ ในต้นทุนไม่แพง ถือว่าเป็นโอกาสของโรงงานเล็กๆ ที่จะได้เติบโตเป็นโรงงานใหญ่ในอนาคต ส่วนโรงงานใหญ่ ที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติของ Envisiontec อยู่แล้ว ก็อาจจะเอาเจ้าเครื่อง Form 2 ไปเสริมทัพ ให้กับนักออกแบบ และลดต้นทุน เพราะต้นทุนในการพิมพ์และน้ำยาเรซิ่นที่ใช้นั้นถูกกว่า สามารถพิมพ์งานออกมาได้เยอะในครั้งเดียว