รีวิว เครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA เครื่อง FORM 2 จาก Formlabs
ก่อนจะทำการ Review ผมขอบอกประวัติคราวๆ เกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA ซักหน่อย จริงๆแล้วเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกนั้น ก็คือ เครื่องพิมพ์ระบบ SLA ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Mr. Chuck Hull เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว บางคนไม่รู้ นึกว่าเป็นเครื่องพิมพ์ระบบ FDM ที่เราใช้และเห็นกันมากที่สุด แต่จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ ที่เครื่องพิมพ์ระบบ FDM เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเพราะว่า ลิขสิทธิ์หรือ Patent มันหมดก่อน ทำให้เครื่องแบบนี้ออกมาก่อนเลย รวมถึงราคาที่ถูกลง ทำให้เป็นที่รุ้จักกันอย่างแพร่หลาย สำหรับเครื่องพิมพ์ SLA นั้น Patent หรือลิขสิทธิ์เพิ่งหมด ทำให้เครื่องเริ่มเข้าสู่ตลาด แต่ก็ยังไม่เยอะเท่ากับเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ FDM เพราะน้ำยาหรือเรซิ่นที่ใช้ มันยังแพง และการใช้งานเครื่องก็ไม่ง่าย แถมยังเลอะเทอะอีกด้วย ทำให้เครื่องพิมพ์ระบบ SLA ยังไม่ค่อยนิยม แต่ข้อได้เปรียบของ 3D Printer ระบบ SLA ก็คืองานพิมพ์ที่ละเอียด และรายละเอียดที่ขึ้นนั้นดีกว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ระบบ FDM หลายเท่าตัว ส่วนข้อเสียของเครื่องพิมพ์ ระบบ SLA ก็เริ่มถูกแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้สามารถพบได้ในเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 ของบริษัท Formlabs

สำหรับการทำงานของเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA นั้น คือการยิงแสงเลเซอร์หรือฉายภาพขึ้นไปที่ตัววัสดุที่เป็นของเหลวอย่างเรซิ่น เมื่อเรซิ่นโดนแสงที่ยิงผ่านหรือโดนแสงที่ถุกฉาย ก็จะทำปฎิกริยา เปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นของแข็ง ทำให้เกิดเป็นรูปโมเดล 3 มิติ สำหรับเครื่องพิมพ์ Form 2 นั้นเป็นเครื่องพิมพ์รุ่นที่ 3 จากบริษัท Formlab ซึงเป็นบริษัท Hardware Startup ในอเมริกา ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนได้แก่ Maxim Lobovsky, Natan Linder, และ David Cranor ผมเคยดูสารคดีใน Netflix ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชื่อเรื่องว่า “Print the legend” เป็นสารคดีที่น่าสนใจมาก ซึ่งจะเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเจ้าเทคโนโลยี เครื่องพิมพ์ 3D Printer รวมถึง เจ้า Makerbot เครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบ Desktop ที่โด่งดังมากที่สุด ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องมือสุดวิเศษอย่าง 3D Printer นอกจากนั้นยังเล่าถึงบริษัท Formlabs ที่ทำ เครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ SLA ในราคาที่คนทั่วไป สามารถหาซื้อได้ ซึ่งมีการเปรียบเทียบว่า เครื่องพิมพ์ 3D Printer จาก Formlabs จะเป็นเครื่องที่โด่งดังเหมือนกับ เครื่องพิมพ์ Makerbot ใครสนใจก็ไปหามาดูได้นะครับ เพราะมันอาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่กำลังทำ Hardware Startup
สำหรับ Formlabs นั้นถือว่าเป็นบริษัท Startup ที่เคยได้เงินลงทุนใน Kickstarter มากที่สุด ติดอันดับหนึ่งอยู่หลายปี เพราะว่า เครื่องพิมพ์ที่ทาง Formlabs คิดค้นขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่นักออกแบบต้องการ เพราะสามารถพิมพ์งานได้ละเอียดมากๆ แถมราคาที่เปิดตัวก็ไม่ได้แพงมาก

มาเข้าเรื่องกันต่อ เจ้่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ Form 2 นั้น เป็นรุ่นล่าสุดจากบริษัท Formlab ซึ่งถูกแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก สามารถพิมพ์ได้ใหญ่ขึ้น เลเซอร์กำลัง Watt มากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้เครื่องรุ่นแรกๆ ของ Formlabs นั้น จะมีปัญหาจุกจิกในหลายๆเรื่อง เช่น งานพิมพ์ไม่ยอมติดฐาน เรซิ่นหกละเทอะลงไปบนกระจก รวมถึงฝุ่นที่เกาะกระจก ซึ่งตรงนี้ทำให้งานที่พิมพ์เสียและต้องมานั่งทำใหม่ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของความเลอะเทอะเวลาใช้เครื่อง เวลาเอางานออก ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ได้รับการแก้ไขทั้งหมด สำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 เรียกได้ว่ายกเครื่องใหม่หมด เปลี่ยนจาก รถ Toyota เป็น Lexus กันเลย เพราะมี Option และลูกเล่นเพียบ

แกะกล่องเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2
ตัวเครื่องที่ผมได้มานั้นจะประกอบได้ด้วย 3 ส่วน
- เครื่องพิมพ์ 3D Printer Form2
- ชุด Finishing Kit สำหรับทำความสะอาดงานหลังจากพิมพ์เสร็จ
- น้ำยาเรซิ่นแบบใส
ความประทับใจอันแรกเลยคือเครื่องถูกแพ็คมาอย่างดีรวมถึงกล่องที่มีส่วนของการกันกระแทก เกือบทุกส่วนจะมีพลาสติกพันเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดรอยขณะขนส่ง สำหรับชุด Finishing Kit นั้นบอกได้ว่า ทาง Formlab ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ซึ่งของที่ให้มานั้นโอเคกว่ารุ่นแรกๆ ซึ่งในชุด Finishing Kit นั้นจะประกอบไปด้วย
- ถาดสีดำมีฝาปิดสำหรับวางถังล้าง
- ถัง 2 ใบ สำหรับล้างชิ้นงาน
- แหนบ สำหรับคีบชิ้นงาน
- คีม สำหรับตัด Support หรือตัวรองรับ
- เกียง สำหรับเอางานออกและใช้เกลี่ยน้ำยาในถาดพิมพ์
- ชุดสำหรับวางฐานพิมพ์ สำหรับเอางานออก สามารถวางได้ 2 แบบ เพื่อช่วยในการเอางานออก
- เครื่องมือคล้ายแชลง สำหรับเอางานออกจากฐาน ชิ้นนี้ผมชอบมาก เดี่ยวจะเล่าให้ฟังทีหลังว่ามันดียังไง



ติดตั้งเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2
เมื่อแกะกล่องเสร็จ ก็หาที่ตั้งที่มั่นคงหน่อยแล้วก็วางเครื่อง เปิดฝา แล้วก็เอาถาดใส่น้ำยาที่มากับเครื่องใส่เข้าไป สำหรับเครื่อง Form 2 รุ่นนี้ จะมาพร้อมกับถาดใส่น้ำยารุ่นใหม่ ที่มีตัวปาดน้ำยามาให้ด้วย สำหรับการใส่ครั้งแรกนั้น อาจจะใส่ยากนิดนึง เพราะว่ามันต้องใช้แรง เพื่อดันให้ถาด กับตัวปาดเข้าที่ ซึ่งตอนแรก ผมก็กลัวๆ เลยดันตัวปาดน้ำยาไม่สุด พอจะพิมพ์งานมันก็หลุดออกมา ที่แรกนึกว่า ทาง Formlab ทำมาไม่ดี แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ มันเกิดจากผมเองที่ดันไม่สุด ดังนั้นถ้าใครได้เครื่องไป เวลาใส่ถาดและตัวปาด ต้องใส่ให้สุด ถ้าใส่สุดมันจะมีเสียงดัง “ตึก” เบา แล้วลองขยับถาดและตัวปาดดูว่ามันไม่เคลื่อน ก็เป็นอันใช้ได้

ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ก็ทำการเสียบปลั๊กเปิดเครื่อง รอซักพัก เครื่องก็พร้อมใช้งาน สำหรับ เครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 นั้นมาพร้อมกับหน้าจอ Interface ระดับ Retina ซึ่งสวยงามพร้อมระบบ Touch Screen ซึ่งในส่วนนี้ผมชอบมาก เพราะใช้งานง่าย แล้วก็ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว แต่ก่อนจะใส่น้ำยาเครื่องมันฟ้องว่า พื้นที่ ที่มันตั้งอยู่นั้นไม่ได้ระดับ ก็คือมันเอียง ถ้าเทน้ำยาไป มันก็จะมีฝั่งหนึ่งสูง อีกฝั่งต่ำ ทำให้พิมพ์งานมีปัญหาได้ สำหรับการปรับระดับเครื่องนั้นก็ง่ายแสนง่าย ตัวเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 จะมาพร้อมกับคัวปรับขาเครื่อง เป็นแผ่นพลาสติก สีดำ 2 แผ่น ให้ทำการสอดไปตรงขาที่ต้องการปรับ สำหรับการสอดแผ่น ต้องสอดให้สุดนะครับ ไม่งั้นหมุนให้ตาย ขามันก็ไม่ยก แล้วจะรู้ได้ไงว่าเสียบแผ่นปรับสุดแล้ว อันนี้ก็ใช้หูฟัง เวลาเสียบถ้าสุดมันก็จะมีเสียงดัง “ตึก” เมื่อทำการเสียบแผ่นปรับขาแล้ว ก็ให้ทำการหมุน จนกว่าไอ้ลูกลมๆ มันอยู่ตรงกลาง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน สำหรับบางคนไม่เคยปรับ อาจจะงงๆ หน่อยวา่จะปรับขาไหน ผมที่ Trick โดยให้ลองยกหรือเอียงเครื่องที่ละฝั่ง พอยกแล้วก็จะรู้ว่าต้องปรับที่ขาไหน ส่วนจะหมุนไปทางไหน ก็ให้ดูที่แผ่นปรับก่อนนะครับ เขาจะมีเขียนไว้ว่าหมุนไปทางไหนจะขึ้น ทางไหนจะลง

พอเครื่องได้ระดับแล้ว ก็ถึงเวลาเอาน้ำยามาใส่ สำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 นั้น จะมาพร้อมกับระบบน้ำยาแบบตลับ ซึ่งเรียกได้ว่าสะดวกมาก ทำให้การใช้เครื่องง่ายขึ้น ไม่เลอะเทอะ จะใช้งานก็เพียงใส่ตลับน้ำยาลงไป สำหรับบางคนที่เห็นแบบนี้ อาจจะรู้สึกไม่ชอบ เพราะเหมือนโดนผูกขาดเกินไป ไม่อยากซื้อเครื่องไปใช้ ผมบอกไว้เลยว่า เจ้าเครื่อง Form 2 นั้น ผู้ผลิตและออกแบบยังมีเมตตา ทำให้เครื่องสามารถใช้เรซิ่นยี่ห้ออื่นได้ โดยที่ผู้ใช้สามารถเลือกที่หน้าจอตัวเครื่องให้เป็น “Open Mode” แค่นี้ก็สามารถใช้น้ำยาเรซิ่นยี่ห้ออื่นได้ แต่เดี่ยวก่อน ถ้าเรียกเป็น “Open Mode” เมื่อไร ตัวปาดน้ำยาและฮีทเตอร์อุ่นน้ำยาจะไม่ทำงานนะครับ
สำหรับบางคนอาจสงสัยว่าทำไม่ Form2 รุ่นนี้ถึงมีตัวปาดน้ำยาและก็ตัวอุ่นน้ำยาเรซิ่นในถาด ตัวผมเคยมีประสบการณ์การใช้เครือง SLA ทั้งแบบทำเครื่องเองแล้วก็ใช้เครื่องรุ่นอื่นๆ สำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA นั้น ถ้าเป็นระบบ Bottom up นั้น ถาดใส่น้ำยาจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ซึ่งถาดใส่น้ำยาส่วนใหญ่ที่พื้นถาดจะมีการเคลือบซิลิโคนหรือ PDMS เอาไว้ เพื่อป้องกันงานที่พิมพ์ติดกับถาด ซึ่งถ้างานพิมพ์ติดกับถาดเมื่อไหร่ ความโชคร้ายก็มาเยือน งานที่พิมพ์จะเสีย งานเสียไม่พอมันจะพาลจะทำถาดพิมพ์เสียไปด้วย ข้อดีของตัวปาดน้ำยาก็คือ ปาดเอาเศษออก อีกอย่างก็คือ เปิดพื้นที่ให้ตัวซิลิโคนหรือ PDMS ได้สูดอากาศ สำหรับอันนี้บางคนอาจจะยังไม่รู้ เจ้าตัวซิลิโคน หรือ PDMS นั้นเป็นวัสดุที่สามารถ สะสมออกซิเจน และยอมให้อากาศหรือออกซิเจนผ่านได้ ซึ่งออกซิเจนจะเป็นตัวกันไม่ให้เรซิ่นแข็งตัว ซึ่งตัว PDMS หรือซิลิโคนนั้นจะมีการสร้างเบาะอากาศบางๆ ลองตัวอยู่ ทำให้งานพิมพ์ไม่ติดกับถาด ดังนั้นถ้าตัวซิลิโคนหรือ PDMS นั้นไม่โดนอากาศเลย ก็จะทำให้ตัวมันเสื่อมสภาพ และทำให้งานพิมพ์เสีย ดังนั้นการเข้ามาของตัวปาดน้ำยาที่ทาง Formlab ใส่เข้าไป ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับถาดพิมพ์ ให้ใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิม


นอกจากนั้นเครื่อง Form 2 ยังมีระบบอุ่นน้ำยา ซึ่งจริงๆแล้วบ้านเราอาจไม่จำเป็น เพราะอากาศบ้านเรามี 2 ฤดู คือ ฤดุร้อน กับ ฤดูร้อนร้อน ซึ่งจริงๆแล้ว น้ำยาเรซิ่นนั้น ถ้าเจออากาศที่เย็นมาก ก็จะหนืดขึ้น ทำให้งานที่พิมพ์ขาดง่ายและเสีย เพราะน้ำยาเรซิ่นมันหนืด ดังนั้นทาง Formlab ก็เลยจัด Option ให้กับเครื่องพิมพ์ Form 2 ให้มีระบบอุ่นน้ำยาให้ได้ที่ 30 องศา ถึงจะเริ่มพิมพ์งาน
สำหรับการ Review ครั้งนี้ผมจะใช้น้ำยาเรซิ่นสีใสแบบตลับ ซึ่งเป็นแบบธรรมดาของทาง Formlab ซึ่งวิธีการใส่ก็ง่ายมาก ไม่ต้องทำอะไร เพียงเสียบตลับเข้าไปที่หลังเครื่อง เปิดวาล์วด้านบนของตลับ ก็เป็นอันจบ บางคนเอาไปใส่แล้ว น้ำยายังไม่ไหลออกมา ก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะเขาออกแบบมาให้เป็นอย่างนี้ จะพิมพ์งานเมื่อไร เดี๋ยวเครื่องพิมพ์มันก็จะสั่งให้น้ำยาไหลออกมาเติมในถาดเอง เติมอย่างเดียวไม่พอ มันรู้ด้วยว่าต้องเติมแค่ไหนถึงจะพอ เรียกได้ว่าอัตโนมัติแบบสุดๆ ซึ่งเมื่อพิมพ์ไปเรื่อยๆ น้ำยาเริ่มพร่อง มันก็จะเติมน้ำยาให้เองโดยอัตโนมัติ แต่เนื่องจากผมเป็นคนช่างสงสัยใคร่รู้ อยากรู้ว่ามันรู้ได้ไง ว่าน้ำยามันเติมไปเท่าไหร่แล้ว อีกอย่างจะควบคุมการเปิดปิดของน้ำยาในตลับเรซิ่นได้อย่างไร ผมก็ได้เริ่มปฎิบัติการ แกะและแงะ จริงๆแล้วก็ไม่ได้แงะอะไรหรอกครับ แค่พลิกตลับขึ้นมาดู สิ่งที่เห็นก็จะเป็นลูกยางครอบอยู่ แต่ไม่เห็นรูที่จะให้เรซิ่นไหลออก ก็เลยงงว่า มันไหลออกมาได้อย่างไร ก็เลยลองบีบลูกยางดู ถึงบางอ้อเลย เมื่อบีบลูกยาง มันจะเปลี่ยนรูปแล้วมันก็จะมีช่องให้เห็น ซึ่งไอ้ช่องนี้เป็นช่องให้น้ำยามันไหล เมื่อปล่อย ลูกยางก็กลับคืนสภาพเดิม เมื่อเห็นแบบนี้เลยคิดว่ามันต้องกลไลในเครื่องอะไรซักอย่าง ที่คอยกดให้ลูกยางมันเปลี่ยนรูป ซึ่งก็เป็นจริงตามที่ผมคิด คือถ้าใครมีเครื่องก็ลองส่องลงไปตรงที่ใส่ตลับน้ำยา มันจะมีกลไกคล้ายๆเดือย ที่ผมคิดว่าขับเคลื่อนด้วย Servo มอเตอร์ คอยทำหน้าที่กดให้ ลูกยางมันเปลี่ยนรูปเวลาที่จะต้องเติมน้ำยาลงในถาด ซึ่งตรงนี้ผมบอกได้เลยว่าเป็น การคิดที่เรียบง่ายแต่ใช้งานได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องมีการควบคุมอะไรที่ซับซ้อน ก็ทำงานได้ตรงตามที่ต้องการ ส่วนในเรื่องที่มันรู้ว่าจะต้องเติมน้ำยาเท่าไหร่ ถึงจะพอ อันนี้ผมได้ลองค้นดูใน Web ก็เจอว่า ตัวเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 นั้นจะมีเซนเซอร์อยู่ด้านหลัง คอยตรวจสอบระดับของน้ำยาอยู่ ถ้าพร่องเกินที่กำหนด ตัว Servo ก็จะทำงาน โดยกดลูกยางให้เปลี่ยนรูป เพื่อให้น้ำยาไหลลงไปในถาด เมื่อทุกอย่างพร้อม ความตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องพิมพ์ทำงานก็เริ่มขึ้น



เริ่มพิมพ์งานกับเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2
สำหรับการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 2 นั้น จะต้องไป Download โปรแกรม Preform มาก่อนถึงจะใช้งานได้ เมื่อติดตั้งเรียบร้อย เปิดโปรแกรม เสียบ USB ก็เป็นอันพร้อมใช้งาน แต่เดี๋ยวก่อน ผมรู้มาว่า เจ้าเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 นั้น สามารถที่จะสั่งพิมพ์งานผ่านระบบไร้สาย หรือ Wifi ได้ แล้วจะรออะไรอยู่ ผมก็ลองจัดแจง เข้าหน้า Setting ของเครื่อง Form 2 แล้วก็เลือก Wifi ที่ต้องการให้เชื่อมต่อ เป็นอันเสร็จ แล้วก็ลองดึง USB ออก ปิดและเปิดโปรแกรม Preform อีกครั้ง คราวนี้ ตัวโปรแกรมก็เห็นเครื่อง Form 2 ที่ต่อ Wifi ซึ่งสามารถจะส่งงานพิมพ์แบบไร้สายได้เลย ชิวิตสะดวกสบายขึ้นเยอะ แต่ก่อนใช้โปรแกรม Preform นั้น ตัวโปรแกรมมันตรวจสอบและรู้ว่า Firmware ที่ใช้ในเครื่อง Form 2 นั้นไม่ใช้ Version ล่าสุด มันก็เลยฟ้องให้ทำการ Update เฟิรม์แวร์ก่อน ซึ่งก็ง่ายมาก กดปุ่มไม่กี่ที่ Firmware ก็กถูก Download แล้วส่งไปที่เครื่อง Form 2 เพื่อทำการ Update สำหรับ เครื่องที่ผมได้มานั้น เป็น Firmware Version แรกๆ ที่ยังไม่มีโหมดใช้เรซิ่นยี่ฮ้ออื่น แต่พอ Update แล้วก็มีโหมดนี้ให้เลือก รวมถึง Interface ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม สำหรับใครที่ Firmware ยังไม่ได้ Update เวลาใช้โปรแกรม Preform ส่งไฟล์ ตัวเครื่องมันจะไม่ยอมนะครับ เพราะมันรู้ว่า Firmware กับโปรแกรม Preform ที่ใช้มันไม่ Match หรือตรงกัน ดังนั้นใครเจอปัญหานี้ ก็ลอง Update โปรแกรม Preform ก่อน

สำหรับการใช้โปรแกรม Preform นั้นก็ง่ายแสนง่าย ผมว่ามันง่ายกว่า Z-Suite ของเครื่องพิมพ์ 3D Printer ของ Zortrax อีก เมื่อก่อนผมว่า Z-Suite นั้นใช้งานง่ายแล้วนะ Preform ใช้งานง่ายกว่าอีก เมื่อเปิดโปรแกรมขึ้นมา อย่างแรกที่ทำก็คือเลือกรุ่นเครื่องพิมพ์ที่ใช้ ต่อไปก็เลือกชนิดของ เรซิ่นที่ใช้ เลือกรุ่นของเรซิ่น สุดท้ายก็เลือกความละเอียดที่จะพิมพ์ ยิ่งละเอียดยิ่งใช้เวลาพิมพ์นาน

เมื่อได้ค่าที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปก็แค่เลือกโมเดลที่จะพิมพ์ อันนี้ ผมยกตัวอย่างเป็นงาน เหยือปลา ซึ่งพิมพ์ที่ 0.1 หรือ 100 ไมครอน ผมจะใช้ปุ่ม One Click Print ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปุ่มมหัศจรรย์ เพราะมันจะคำนวนโมเดล จัดวางท่าทาง และก็ใส่ตัวรองรับ หรือ Support ให้อัตโนมัติ พร้อมทั้งย้ายจุดพิมพ์งานให้ด้วย ลองไปดูวิดีโอการทำงานของปุ่ม One Click Print กัน ตั้งแต่ผมได้เครื่องมา ผมยังไม่เคยต้องสร้าง Support เองเลย ซักครั้ง โปรแกรม Preform มันทำให้หมด แถมพิมพ์ออกมาก็ถือว่าโอเคเลย

เวลาจะพิมพ์งานก็แค่กดปุ่ม Send to printer ตัวโปรแกรมก็จะทำการสร้างไฟล์และโยนไฟล์เข้าเครื่อง Form 2 ผ่าน Wifi เมื่อทำการ Upload ไฟล์เสร็จก้ไปที่น่าเครื่องและกดปุ่ม Print เป็นอันจบในส่วนของผู้ใช้ นอกนั้นเครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 จัดการให้หมด สำหรับใครที่ต้องการรู้เวลาพิมพ์งานเท่าไหร่ เรซิ่นที่ใช้ไปเท่าไหร่ ก็สามารถดูได้ที่ตัวโปรแกรม Preform หรือจะเข้าไปดูที่เครื่อง Form 2 เลยก็ได้

การล้างงานเมื่อพิมพ์เสร็จ
เมื่อพิมพ์งานเสร็จแล้ว ผมจะใช้เกียงที่ให้มาเครื่องทำการปาดน้ำยาที่อยู่บนฐานพิมพ์ (ยังไม่ต้องเอาฐานพิมพ์ออกนะครับ) เสร็จแล้วก้จะปาดน้ำยาลงไปบนขอบของถาดใส่น้ำยาสีส้ม เพื่อเป็นการเก็บน้ำยา เพราะน้ำยามันแพง เลยต้องเก็บให้หมด เมื่อเห็นว่าไม่มีน้ำยาย้อยลงมาจากฐานพิมพ์แล้ว ก้อค่อยเอาออก หลังจากนั้นก็วางลงบนชุดวางฐานพิมพ์ที่มากับเครื่อง แล้วก้ใช้เครื่องมือที่คล้ายๆ แชลง ทำการงัดไปที่ขอบของงานพิมพ์ สำหรับอันนี้ผมบอกเลยว่า ออกแบบมาได้ดีมากๆ เอางานออกง่าย ไม่เหมือนกับเครื่องแบบอื่นๆ ตรงนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับโปรแกรม Preform ด้วย เพราะตัวเบสหรือฐานที่จะพิมพ์มาพร้อมกับตัวงานนั้น มันจะมีส่วนที่เอียงอยู่ ประมาณ 45-50 องศา เพื่อที่จะได้เอาเจ้าเครื่องมือที่คล้าย แชลง สอดเข้าไปตรงขอบ แล้วกดลง งานก็จะหลุดออกจากฐานพิมพ์อย่างง่ายดาย ไม่ต้องมาทุบมาแคะ เหมือนแบบเก่า อันนี้ต้องขอปรบมือให้กับ รายละเอียดเล็กๆน้อย แต่เป็นส่วนที่่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อก่อนงานพิมพ์เสร็จ แต่เอาออกจากฐานไม่ได้ ต้องใช้แรงในการเอาออก พอใช้แรงมากหน่อย งานหัก งานเสีย พิมพ์ใหม่ เสียอารมณ์ แต่สำหรับ Form 2 นั้นปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด
สำหรับงานที่พิมพ์เสร็จแล้วก็เอาออกมาแล้วก็ใช้เครื่องมือที่มากับเครื่อง Form 2 ในการทำความสะดาด ซึ่งการทำความสะอาดนั้น ทาง Form 2 แนะนำให้ใช้ IPA หรือ Isopropyl alcohol ความเข้มข้นประมาณ 90% หรือมากกว่า โดยให้เทลงไปในถัง ทั้ง 2 ใบ สำหรับระยะเวลาการล้างนั้น ทาง Formlab แนะนำว่าประมาณ 10 นาที ในแต่ละถัง เมื่อล้างเสร็จแล้วก็เอาไปล้างน้ำ และเป่าให้แห้ง จากนั้นก็เอาไปตากแดดแรงๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง เรซิ่นก็จะแข็งขึ้น สามารถที่จะนำไปขัดหรือทำสี สำหรับใครถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ทาง Formlab ก้ได้ทำ คู่มือต่างๆ สำหรับการขัดและล้างงาน ใครอยากรู้เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่นี่




สรุปการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3D printer Form 2
หลังจากได้เครื่องพิมพ์ 3D Printer Form 2 แล้วลองใช้งาน ซึ่งตอนนี้บอกได้ว่าพอใจมาก คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ทุกบาท ทุกสตางค์ ถึงแม้ว่า ราคาเครื่องจะแพงไปหน่อย แต่ทั้งของที่ให้มาเช่นชุด Finishing Kit กับตัวเครื่องที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงได้ดีขึ้น รวมถึงโปรแกรม Preform ที่ใช้งานได้ง่ายมาก แค่นี้ก็คุ้มแล้ว สำหรับคนที่ต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ และรายละเอียดเยอะๆ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Form 2 สามารถทำได้เป็นอย่างดี สำหรับโมเดลที่ผมถ่ายให้ดูนั้น ผมพิมพ์ที่ความละเอียด 0.1 มิล หรือ 100 ไมครอนเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถทำได้ถึง 25 ไมครอน อีกอย่างที่ชอบก็คือ การพิมพ์งานผ่าน Wifi ซึ่งจริงๆ แล้วยังสามารถที่จะ Log In เพือมาดูว่าเครื่องพิมพ์ นั้นทำงานไปถึงไหนแล้ว สามารถตั้งให้ส่งข้อความไปที่มือถือหรือ Email ได้ถ้าพิมพ์งานเสร็จ หรือเรซิ่นหมด ในกรณีที่ต่อเครื่องพิมพ์ เข้ากับ Wifi ที่ต่อ Internet ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะสามารถเตือนให้เรารู้ได้ว่า งานพิมพ์ไปถึงไหนแล้ว อีกอันที่ถือว่าชอบมาก คือ Interface ที่หน้าจอเครื่อง นั้นทำมาเข้าใจง่าย สามารถหยุดพิมพ์งานได้ชั่วคราว นอกจากนั้นยังมีการเก็บข้อมูลด้วยอีกว่า งานที่พิมพ์นั้นสำเร็จหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ผมว่าทาง Formlab เก็บข้อมูลเพื่อดูว่าโมเดลลักษณะนี้ วางท่านี้ แล้วพิมพ์ได้สำเร็จ ก็จะเก็บไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูล และนำไปประมวลผล เพื่อทำการ Update โปรแกรม Preform ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในเรื่องของการวาง Support เพราะเครื่องพิมพ์ 3D Printer ระบบ SLA นั้น การวางตัวรองรับหรือ Support นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อีกเรื่องที่รู้สึกว่าทาง Formlab ทำการบ้านมาได้ดีก็คือ เรื่องของถาดพิมพ์ที่มีระบบปาดเรซิ่นติดมาด้วย ตัวปาดถือว่าเป็นเครื่องมือ ที่หยืดอายุการใช้งานของถาดให้นานขึ้น สำหรับใครที่คิดจะซื้อหรือจะลองทำเครื่องพิมพ์ SLA นั้นก็อย่าลืมเรื่องของตัวปาดเรซิ่นนี้ด้วย ผมว่ามันเป็นอะไรที่จะทำให้งานที่พิมพ์ออกมาสำเร็จแล้วยังช่วยให้ถาดพิมพ์ใช้ได้นานขึ้น




บทสรุป
สำหรับใครที่สนใจ อยากลองมาเยี่ยมหรือมาชมการทำงาน ก็สามารถเข้ามาดูได้ที่ สยามเรปแรป ส่วนราคาของตัวเครื่องนั้นอยู่ที่ตัวเลขกลมๆ 200,000 บาท รวมน้ำยา Standard 1 ลิตรและก็ชุด Finishing Kit
ส่วนครั้งหน้าผมจะมาทำการ Review น้ำยาเรซิ่นแบบหยึดหยุ่น และแบบหล่อได้ของ Formlabs ใครอยากรู้ ก็อย่าลืมติดตามใน Page ของทางบริษัทได้นะครับ ส่วนใครยังไม่ Like หรือ Follow Page ของทาง สยามเรปแรป ก็สามารถเข้าไป Click ได้ที่นี่ครับ